8 ช่องทางความสุข

สร้างสมดุลใจกายด้วย ‘โยคะ’

หากจะเอ่ยถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่ได้รับความนิยม และได้รับความเชื่อมั่นว่าผู้ฝึกจะได้สมาธิจากการฝึกอย่างยิ่งยวด หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ ‘โยคะ’ อยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบว่า ‘โยคะ’ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย 2,500 ปีก่อนพุทธกาล แรกเริ่มเดิมทีเป็นวิถีของพราหมณ์หรือโยคี ที่ใช้ในการฝึกฝนควบคุมจิตให้นิ่งจนเกิดเป็นสมาธิ โยคะในยุคแรกไม่มีท่าทางใดๆ มากที่สุดเป็นแต่เพียงการฝึกสำรวมร่างกายให้เกิดความสมดุลที่สุด เพื่อฝึกให้ลมหายใจหรือปราณเกิดภาวะ ‘นิ่ง’ ที่สุด เข้าสู่การเพ่ง ฌาน หรือสมาธิ

yg4

จนกระทั่งถึงประมาณปี พ.ศ.2400 ประเทศอินเดียเริ่มมีการฟื้นฟูหลังถูกอังกฤษปกครอง กษัตริย์อินเดียในขณะนั้น เกิดความคิดให้ครูโยคะท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ กฤษณะมาจารยา นำเอายิมนาสติกและศิลปะป้องกันตัวแบบอินเดียโบราณ มาปรับประยุกต์ให้เข้ากับโยคะแบบดั้งเดิม จุดประสงค์เพื่อให้โยคะมีประโยชน์เพ่ิมขึ้น นอกจากการพัฒนาจิตแล้ว ยังได้พัฒนาร่างกายให้แข็งแรงด้วย

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โยคะแพร่หลายไปยังประเทศทางตะวันตก พัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นหลักสูตรโยคะท่าสวยๆ ที่เราเห็นกันหลากหลายละลานตา ทั้งตามโรงเรียนสอนโยคะ ฟิตเนส และสถานออกกำลังกายในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโยคะจะพัฒนาไปจนเกิดท่าทางที่ซับซ้อนพิสดารเพียงใด สิ่งที่โดดเด่นที่สุดที่ผู้ฝึกโยคะทุกคนล้วนได้รับตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นสมัยใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากที่สุดก็คือ สมาธิอันจะนำไปสู่การค้นพบสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะพาเราไปถึงหนทางแห่งความสุขที่ยั่งยืน

“ความสุขนั้นมีหลายระดับ มีหลายแง่มุม” ครูกวี คงภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ กล่าวถึงการฝึกโยคะกับการสร้างสุขภาวะทางปัญญา “ในเบื้องต้นเรามักจะอิงความสุขที่คว้าได้ง่าย เป็นรูปธรรม พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอก แต่พอชีวิตเราดำเนินไปเรื่อยๆ ความสุขจากวัตถุภายนอกจะถึงจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่อิ่มตัว ถึงตอนนั้นมนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปหาความสุขที่ละเอียด ประณีตกว่าความสุขแบบเดิม อันนั้นแหละคือความสุขที่เป็นภาวะมาจากภายใน คือความสุขจากความสงบ สมาธิ ซึ่งถ้าเราลองมาฝึกโยคะอาสนะสัก 30นาที เราก็จะเร่ิมค้นพบสิ่งนั้น”

yg3

ถ้าจะเปรียบไปแล้ว มนุษย์เราก็เปรียบได้กับตุ๊กตาล้มลุก เมื่อเผชิญสิ่งใดมากระทบ ก็มีหน้าที่ต้องฟื้นกลับมาลุกขึ้นยืนอย่างสมดุลให้ได้อีกครั้ง ตัวกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดความสมดุลนี้ ในทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะธำรงดุล หรือ Homeostasis ซึ่งนักวิชาการพบว่า การเคลื่อนไหวร่างกายแบบโยคะ จะทำให้กลไกการรักษาภาวะธำรงดุลนี้พัฒนาได้ดีที่สุด

“ถ้าให้เห็นภาพชัดๆ ให้นึกถึงการรักษาอุณหภูมิร่างกายของเรา ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเท่าไร แต่ร่างกายเราใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถรักษาอุณหภูมิกลับมาคงที่ไว้ได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เรียกว่าภาวะธำรงดุล” ครูกวีอธิบาย

ประโยชน์จากการฝึกโยคะที่ช่วยพัฒนาภาวะธำรงดุล ยังส่งผลถึงการดูแลความสมดุลทางอารมณ์ด้วย เมื่อมีสิ่งใดมากระทบอารมณ์ของเรา คนที่ไม่ได้ฝึกโยคะอาจจะมีอารมณ์ที่เหวี่ยงไปมา แต่คนที่ฝึกโยคะอย่างดีแล้ว จะเกิดความนิ่ง รู้เท่าทัน และสามารถคืนกลับมาสู่อารมณ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว

เรายืนยันได้เลยว่าการฝึกโยคะนำไปสู่ความสุขทางปัญญา ตอนที่ฝึกนั้นอาจดูเหมือนทำกับกาย แต่ลมหายใจมันไปด้วย ประสาทไปด้วย มันพาไปทั้งหมด ท่าทางของการฝึกมีการตามรู้ เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แล้วหยุด คอยเข้าไปปรับให้ผู้ฝึกเกิดการเรียนรู้ในเชิงความสมดุล ฝึกจากภาวะทางกายก่อให้เกิดเป็นปัญญา ที่จะนำให้เกิดเป็นสติซึ่งมีค่ามหาศาล

yg6

สำหรับผู้สนใจอยากเริ่มฝึกโยคะ ครูกวีบอกเคล็ดลับว่า การฝึกโยคะขอเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ ความเพียรและ การละวางขอให้ทำทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อมกัน หากเราไม่เพียร ทำสิ่งใดย่อมไม่เกิดผล ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยวางความคาดหวัง เพราะเป้าหมายของโยคะไม่ใช่การทำท่าให้ได้ แต่ขอให้เราฝึกเพื่อให้เข้าใจตัวเอง เห็นธรรมชาติความเป็นไปของกาย อารมณ์ และจิตของตัวเราเอง

“ใครที่สนใจโยคะ มีเปิดสอนโยคะที่ไหนเข้าไปฝึกได้เลย อ่านข้อมูลไปนิดหน่อย ที่เหลือขอให้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เราเชื่อว่าคนจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ขอแค่เพียรและละวาง เชื่อเถอะว่าธรรมชาติในตัวเราจะพาเราไปในภาวะที่ดีที่สุด ไม่ต้องมีความกังวลใดๆ ทุกคนทำได้ เริ่มต้นที่ไหนก็ได้”

ท้ายสุดครูกวีย้ำว่า การฝึกโยคะนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานที่ฝึกใหญ่โต หรืออุปกรณ์เสื้อผ้าที่สวยหรูแต่อย่างใด เมื่อเรียนรู้หลักการเบื้องต้นแล้ว เราสามารถฝึกโยคะที่บ้านได้ด้วยตนเอง ขอให้มีวินัย ฝึกฝนจนเป็นวิถี แล้วเราจะค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายใน เพราะครูที่ดีที่สุดที่จะนำเราไปสู่ความสุขทางปัญญาที่แท้จริง หาใช่ใครไหนอื่น นอกจาก ‘ตัวของเรา’ เท่านั้นเอง

yg1

 

ขอขอบคุณ : สถาบันโยคะวิชาการ, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

** ผู้สนใจอยากเริ่มฝึกโยคะกับสถาบันโยคะวิชาการ สามารถไปร่วมฝึกได้ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี และที่ มศว.ประสานมิตร ทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiyogainstitute.com **

การภาวนา

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save