8 ช่องทางความสุข

ของที่ไม่ได้เป็นแค่ของ

ความสุขจากของขวัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นของชิ้นใหญ่ ราคาแพง แต่มันมีความใส่ใจ ความรัก มีบางอย่างที่พิเศษ แล้วการ์ดจะไม่ได้เป็นแค่การ์ด กระดาษโน้ตไม่ได้เป็นแค่โน้ต ของไม่ได้เป็นแค่ของ

.

“งานคราฟท์” แปลเป็นไทยว่า งานฝีมือ — งานฝีมือ กับ งานทำมือ (hand made) มีบางอย่างที่ใกล้ๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และบทความนี้ก็ไม่ได้เป็นบทความเพื่ออธิบายคำศัพท์ แต่จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักผ่านการสนทนากับนักเรียนที่เรียนจบมาจากโรงเรียนที่สอนวิชานี้

.

ดร.พิธาลัย ผู้พัฒน์ (อาจารย์ส้ม) อาจารย์ประจำภาควิชาสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ที่สนใจงานผ้าทอในชุมชน สนใจที่จะให้เด็กๆ ฝึกการทอผ้า แต่นอกจากเรื่องผ้าแล้ว อาจารย์ส้มสนใจงานที่ทำด้วยมือและงานฝีมือหลายแขนง ชอบทำกับข้าว ถักผ้า ปักผ้า วาดรูป เย็บกระเป๋า ฯลฯ


เริ่มต้นจากวัยเด็ก
อาจารย์ส้มบอกว่า คุณแม่ชอบทำงานฝีมือ เห็นมาตั้งแต่เด็ก ทั้งปักผ้า ปักครอสติช ถักโครเชต์ ทำกับข้าว ฯลฯ พอเห็นแม่ทำก็ทำตามแม่ ตามประสาเด็กทั่วไป พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ทำของให้เพื่อน

.

“ส้มชอบประดิษฐ์ ทำนั่นทำนี่ ช่วงมัธยมมีวิชางานไม้ ขัดไม้ ประกอบกล่อง ก็ชอบมาก พอเรียนปริญญาตรีจึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม — ไม่ได้สนใจสถาปัตย์เชิงโครงสร้าง แต่สนใจการออกแบบ การทำของจุกจิกในชีวิตประจำวัน ตอนที่เรียนมีเรื่องสนุกๆ หลายอย่าง ได้เรียนทอผ้า ทำงานไม้ งานเซรามิก เรียนการออกแบบ ลองทำกราฟฟิค ฯลฯ พบว่าตัวเองชอบทอผ้าและงานไม้ จากนั้นอีกหลายปีต่อมาถึงได้เห็นว่า ส้มสนใจเรื่องความรู้สึกขณะที่ทำ และ ความรู้สึกที่มีต่อของนั้นด้วย”


วัตถุ กับ ความรู้สึก
ส้มทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีเรื่อง หมอนบำบัดความเครียด — เด็กๆ หลายคนมีหมอนเน่า ผ้าห่มเน่าที่เขาติด ไม่งั้นนอนไม่หลับ พวกเราก็เป็นเคยเป็นแบบนั้นใช่ไหม (หัวเราะ) มันเป็นประสบการณ์ส่วนตัว คนอื่นว่ามันเน่าแต่สำหรับเรา สิ่งนี้มันทำให้สบายใจ ผ่อนคลาย — เด็กๆ ชอบเกลือกหน้ากับหมอน ซุกหมอน หรเวลาเครียด บางคนก็จะมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่นเอานิ้วม้วนผม เอานิ้วถูกัน — ส้มลองออกแบบสีและผิวสัมผัสในโปรเจ็ค ‘หมอนบำบัดความเครียด’ ให้หมอนมีความเชื่อมโยงไปกับประสบการณ์ที่ดีๆ ของคน ลองทำให้หมอนมีความตะปุ่มตะป่ำ หรือผิวสัมผัสขรุขระ หรือนุ่ม หรือเรียบ หรือมีปม ออกแบบหมอนให้กลับไปกลับมาเพื่อให้เปลี่ยนอารมณ์ได้หลากหลาย ลองออกแบบให้กลับนอกกลับในได้ ที่สำคัญคือให้ความรู้สึก ‘ไม่รู้เบื่อ’


โปรเจ็คปริญญาโทชื่อ Craft for Craft ชวนให้คนมีประสบการณ์ในการทำงานฝีมือ และโปรเจ็คปริญญาเอก (ประเทศญี่ปุ่น) คือเรื่อง Sensory ของผ้า — พอมองย้อนกลับไป อืม… ส้มคงเป็นคนสนใจเรื่องทำนองนี้จริงๆ ทำด้วยมือ ใช้มือ อยู่กับมือ ความรู้สึกที่ได้ทำ ความรู้สึกขณะสัมผัส ประสบการณ์


อาจารย์ส้มเป็นนักเรียนสวีเดน เล่าเรื่องการสอนงานฝีมือที่นั่นให้ฟังหน่อยสิคะ
ขอเล่าที่มาก่อนนะคะ พอเรียนจบปริญญาตรี ส้มทำงานในร้านที่น่ารักๆ แห่งหนึ่ง ขายของกระจุกกระจิกที่เน้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในสินค้าที่ตัวเองเลือก เช่น ในร้านขายตุ๊กตาที่ตัวเกลี้ยงๆ เปล่าๆ ลูกค้าต้องเลือกหู เลือกตา เลือกปาก แล้วนั่งเย็บติดเอง หรือกระเป๋าก็เป็นกระเป๋าเกลี้ยงๆ แล้วลูกค้าเลือกตัวรีดที่เป็นการ์ตูนไปติดกระเป๋าเอง — เป็นร้านขายของขวัญที่ไม่มีของขวัญสำเร็จรูป ให้ความสำคัญกับการลงมือทำ พี่ที่เป็นเจ้าของร้านพูดถึงโรงเรียนในสวีเดนที่เขาอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน พอจังหวะเหมาะส้มก็เลยไปเรียนที่นี่ค่ะ


โรงเรียน Capellagården มีนักศึกษาประมาณ 8 คน/ปี/สาขา เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่อบอุ่นมาก เป็นโรงเรียนประจำ นักศึกษาต้องอยู่ที่นี่เลย สอนงานทอผ้า งานปั้นหม้อ งานไม้ และการจัดการสวน มีนักเรียนที่มาจากญี่ปุ่นเยอะมาก คนญี่ปุ่นสายคราฟท์ส่วนใหญ่รู้จักโรงเรียนนี้


ส้มชอบทุกอย่างของโรงเรียนเลยค่ะ เลิฟมาก (หัวเราะ) สิ่งหนึ่งที่ชอบมากที่สุดคือ การได้เห็นกระบวนการทั้งหมด เช่น เพื่อนที่เรียนอยู่ในหลักสูตรเรื่องการจัดสวน ในช่วงต้นสอนทฤษฎีการทำสวน แล้วก็มีการลงมือปฏิบัติ แล้วช่วงท้ายๆ ของหลักสูตรเพื่อนๆ ก็ตัดผักจากสวนมาทำกับข้าว แล้วพวกเราก็ได้กินด้วยกัน ซึ่งมันก็ทำให้เพื่อนๆ (อย่างส้ม) ตื่นเต้นไปด้วย “อาหารมื้อนี้มาจากสวนฝีมือเพื่อนเรา” แบบว่า “โหย เจ๋งอ่ะ” — เป็นการเรียนที่เราเห็นกระบวนการ ความต่อเนื่อง เริ่มจากอะไร นำไปสู่อะไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ต่างจากการเรียนเป็นชิ้นๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อ


พอจบจากโรงเรียนแรก ส้มต่อปริญญาโทที่ Gothenburg University ตอนที่เตรียมโปรเจ็คปริญญาโท ส้มอยากทำงานคราฟท์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ คิดนานมาก เริ่มด้วยการจัดเวิร์คช็อปให้เพื่อนที่เรียนด้วยกัน — จัดเป็นฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานงานไม้ ฐานงานครัว ฐานงานผ้า แต่ละฐานมีอุปกรณ์วางไว้ให้ เช่น ฐานงานไม้อาจจะมีไม้ ค้อน เลื่อย ตะปู ฐานงานครัวมีมีด ฟักทอง เขียง ฐานงานผ้าก็มีไหมพรม เข็ม ผ้า ไหม ฯลฯ แล้วจัดเพื่อนเป็นกลุ่มๆ ให้เข้าไปทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำในฐานนั้น พอครบเวลาที่กำหนด ก็ให้เวียนมาฐานอื่น พอเวียนครบทุกฐาน ก็มานั่งคุยกัน (reflection)


สิ่งที่ทุกคนพูดคล้ายๆ กันก็คือ การทำงานที่ต้องใช้มือทำให้รู้สึกถึง “จังหวะ” — เช่น เสียง ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก ของค้อน การเลื่อยไม้ก็เป็นจังหวะ ใช้มีดหั่นผักก็เป็นจังหวะ ใช้เข็มเย็บผ้าก็เป็นจังหวะ และมันเป็นจังหวะซ้ำๆ (repeat) ทำให้เขารู้สึกว่ามีสมาธิ มีความจดจ่อในตอนนั้น —ถ้าเทียบกับคนไทยก็อาจจะคล้ายๆ การดูลมหายใจ เข้า-ออก เข้า-ออก หรือดูท้องพอง-ยุบ พอง-ยุบ จากเวิร์คช็อปนี้ก็เลยกลายเป็นโปรเจ็ค craft for craft โปรเจ็คจบปริญญาโทของส้มที่สวีเดน https://www.youtube.com/watch?v=l9lB5MsZ86A


ทำงานฝีมือเพื่ออยู่กับมือ
ช่วงนั้นส้มรู้จักหลวงปู่* แล้ว ชอบคำสอนเรื่อง ล้างจานเพื่อล้างจาน ฝึกการอยู่ตรงนั้นจริงๆ


สิ่งที่คิดคือชวนให้คนมีประสบการณ์ผ่านการทำงานฝีมือง่ายๆ — ส้มเป็นนักศึกษาไทยก็เลยชวนให้มาช่วยกันทำตุง ซึ่งทุกคนน่าจะทำได้และเป็นสัญลักษณ์ของความสุข ส้มเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานให้เช่น ไม้ ไหมพรมหลายๆ สี ช่วงนั้นที่นั่นมีฟางข้าว ก็เอาฟางมาอยู่ในงานด้วย


ส้มทำกิจกรรมนี้หลายครั้ง มีทั้งทำกับเด็ก ทำกับผู้สูงอายุ ทำกับเพื่อนวัยเดียวกัน – ครั้งแรกทำในห้องสมุดชุมชน นั่งทำด้วยกัน พอเสร็จก็เอาไปแขวนไว้ด้วยกัน แล้วก็ชวนคุย ทุกคนชอบประสบการณ์นี้ กลุ่มผู้สูงอายุบอกว่ามันเป็นสมาธิ ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำ และเขาได้ใช้เวลาร่วมกับคนอื่นด้วย


ช่วงที่ทำโปรเจ็คนี้ ญี่ปุ่นกำลังประสบภัยพิบัติคือเกิดสึนามิครั้งใหญ่ เพื่อนบางคนทำตุงเป็นสีธงชาติญี่ปุ่น เขาบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อส่งความระลึกถึง ส่งกำลังใจไปให้ชาวญี่ปุ่น ผลงานจากครั้งนั้นรวบรวมนำมาจัดนิทรรศการ และในนิทรรศการก็ยังคงมีเข็ม ด้าย ไหมพรม เพื่อให้คนที่มาชมนิทรรศการมีส่วนร่วมได้ ซึ่งก็ปรากฎว่ามีคนเข้ามาทำเพิ่มจริงๆ มีคนปักผ้าเพิ่มเติม ทำตุงเพิ่ม เป็นนิทรรศการที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วพอถึงคริสต์มาสก็เลยทำกิจกรรมใน Christmas market คือให้คนเข้ามาทำตุงเป็นของขวัญ พอเสร็จก็เอาไปวางรวมกับส่วนกลางแล้วก็เลือกตุงของคนอื่นกลับบ้านได้ 1 ชิ้น โดยไม่ต้องจ่ายเงิน สนุกและมีความสุขมาก

.


อาจารย์ส้มพูดถึงการทำของขวัญเอง สักหน่อยสิคะ
ส้มรู้สึกว่าของที่ทำเองมีความเฉพาะตัว พิเศษ เคยเป็นกันบ้างไหม ที่พยายามเดินหาของให้เพื่อน แล้วหาไม่ได้ มันไม่มีของสำหรับคนๆ นั้น ดังนั้นการทำเองมันตอบโจทย์


ส้มมีเพื่อนสนิทที่เคยเรียนในสวีเดนด้วยกันเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ นานามิ เป็นคนที่ให้คุณค่ากับเรื่องนี้มากๆ เวลาที่ส้มได้ของจากนานามิ ส้มจะเห็นความใส่ใจของเขาในของชิ้นนั้น ซึ่งมันหมายถึงว่าเขาใส่ใจส้มด้วย บางทีเขาส่งอาหารที่เตรียมเองมาให้ส้ม อาหารนั้นมาพร้อมกระดาษโน้ต บอกว่า อาหารนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง เวลาจะกินต้องเตรียมยังไง เขาอธิบายพร้อมวาดรูปประกอบ — กระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ แต่ส้มรู้ว่าเขาใส่ใจ กระดาษน่ารัก ตัดประณีต เขียนมือ วาดรูป เขาใส่ใจ เขาตั้งใจ — คุณค่าที่เขาให้ ความสุขที่เขาทำ มันมากับของ และมาถึงส้มซึ่งเป็นผู้รับปลายทาง

.

ความสุขเวลาที่ได้รับของขวัญจากเพื่อนเป็นแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องเป็นของชิ้นใหญ่ ราคาแพง แต่มันมีบางอย่างที่พิเศษ — นานามิเป็นคุณแม่ลูกสาม เขาไม่ได้มีเวลามาก แต่เขาให้เวลาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ — ดังนั้น การ์ดไม่ได้เป็นแค่การ์ด โน้ตไม่ได้เป็นแค่โน้ต ของไม่ได้เป็นแค่ของ

.

บรรยายภาพ : อาจารย์ส้ม (ซ้าย) นานามิ (ขวา)


สำหรับตัวส้ม เวลาได้อยู่กับงานฝีมือ ปักผ้า ทอผ้า ถัก ฯลฯ เป็นเวลาของความสุขที่ได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง สำหรับคนคนนั้น พร้อมกันนั้นก็เป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง เพลิน อยู่ได้นานๆ อีกอย่างที่ได้เห็น คือเห็นความเป็นตัวเรา เช่น บางทีถักผิด เวลาที่พลาด มันมีทางเลือก (choice) ว่าเราจะเอายังไง จะปล่อยมันเลยตามเลย หรือจะแก้ — อาจจะเลาะ ทำใหม่ หรือปล่อยเลยตามเลย บางครั้งปล่อยไปก็จะสวยในแบบของมัน หรือถ้าจะเลาะ ทำใหม่ให้เรียบร้อยก็ได้เหมือนกัน มันเป็นโอกาสที่เราได้เลือก — มันดีทั้งคู่ ส้มว่าการทำอะไรแบบนี้ทำให้เห็นธรรมชาติของตัวเรา มันอาจจะเป็นสมาธิแบบหนึ่งแต่ส้มไม่อยากพูดแบบนั้นค่ะ


ฟังอาจารย์ส้มแล้ว หลายคนคงอยากทำ แต่ถ้ากลัวงานฝีมือมาทั้งชีวิต จะเริ่มอย่างไรดี
ส้มมีเพื่อนๆ และคนรู้จักหลายคนบอกว่า อยากลองแต่ไม่กล้า (ปักผ้า ทอผ้า เย็บผ้า งานฝีมือฯลฯ ) บางคนเกลียดและกลัวงานแบบนี้ไปเลย ไม่จับเข็มเลย ไม่เข้าครัวเลย ฯลฯ เพราะฝังใจมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งมันน่าเสียดาย ส้มไม่อยากให้ดุเด็กๆ ถ้าเขายังทำไม่สวยมากนัก ส้มอยากให้งานฝีมือเป็นพื้นที่หนึ่งในชีวิตของเด็ก ปล่อยให้เด็กๆ มีอิสระในการทำ ลองทำ ไม่ต้องยึดกับกฎเกณฑ์ หลักการมากนัก


ตัวส้มไม่วางแผนมาก ไม่ถึงกับต้องสีนี้ แบบนี้ เป๊ะๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่ก่อนทำส้มดูวัสดุที่ส้มมี นึกถึงคนที่จะได้ของชิ้นนี้ แล้วก็ค่อยๆ ทำ ลองหยิบด้ายสีนี้มาต่อกับสีนี้ ลองใส่ลายแบบนี้ บางทีก็เปลี่ยนลายกลางทาง พอเสร็จ มันก็น่ารักในแบบของมัน (หัวเราะ) ส้มมีความสุขกับอะไรแบบนี้มาก รู้สึกภูมิใจ มันเป็นทั้งความท้าทาย การผสมผสาน การเล่น การลอง ชอบอะไรแบบนี้มาก


อีกอย่างส้มชอบเวลาที่มีอะไรบางอย่างอยู่ในมือ ได้อยู่กับมือ รู้สึกว่าไม่ลอยไปที่อื่นเยอะ อยู่กับตัวเองมากขึ้น และอยู่ได้นาน

.


เวลาไถมือถือ เราก็อยู่กับมือได้นานๆ นะ
(หัวเราะ) เวลาไถมือถือ ใจมันอยู่กับเรื่องของอื่นนะคะ อยู่กับเรื่องข้างนอก แต่ถ้าเราทำงานฝีมือ ใจอยู่กับมือ อยู่กับเรื่องตรงหน้า อยู่กับตัวเรา


ตอนเรียน ส้มได้ลงชุมชนมันทำให้เห็นวิถี เห็นภูมิปัญญา การจะได้ผ้าสักผืนมันไม่ง่าย การจะได้ย่ามสักใบมันมีการลงแรง มีความใส่ใจ การย้อมสีด้ายแต่ละสี ทอ ปัก ฯลฯ ทุกอย่างมันมาจากธรรมชาติ มีการทดลองอยู่เสมอในวิถีของชาวบ้าน เอาเปลือกประดู่มาย้อมจะได้สีอะไร เมื่อเปลี่ยนน้ำด่างสีจะเปลี่ยนยังไง ถ้าหมักจะเกิดอะไรขึ้น มีความประณีตและความคิดสร้างสรรค์อยู่ในการทอและลวดลายผ้า


ส้มไม่ชอบของแมส (mass) ของที่เกิดจากมือ ถ้าดูเผินๆ มันจะคล้ายๆ กัน แต่มันไม่เหมือนกันหรอก — งานคราฟท์เป็นงานที่มีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น


ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากพูดถึงแง่งามของงานฝีมือบ้างไหมคะ
พอเป็นอาจารย์ ก็เห็นอยู่ว่าหลายๆ อย่างในระบบการศึกษาไม่เอื้อให้นักเรียนมีความสุขในการทำงานฝีมือ เพราะมันไปอิงกับเกรด การวัดผล — ผู้สอนถูกบังคับด้วยระบบการวัดผลด้วยเนื้อหา ทฤษฏี ผู้เรียนตกอยู่ในกรอบคิดที่ว่ามันเป็นงาน ต้องเรียน ต้องทำคะแนน ความสุขในการทำ ความใส่ใจ ความอ่อนโยน ก็หายไปเลย สิ่งที่เข้ามาคือ ความเครียด เมื่อไรจะเสร็จ ทำไมมันยากอย่างนี้ ทำไมยุ่งจัง ทำไมนานจัง — คงจะดีกว่านี้ ถ้าเราจะให้อิสระแก่ผู้เรียน ให้อิสระแก่ผู้สอน ความสุขจะได้มีมากขึ้น


อยากพูดถึงการส่งเสริมงานฝีมือของชุมชนท้องถิ่นด้วยค่ะ ส้มอยากให้การส่งเสริมงานศิลปะหัตถกรรมเกิดจากการ ‘ร่วมกันคิด’ ไม่ใช่การคิดแทน หรือคิดให้ อยากให้ระวังความตั้งใจดีหรือความปรารถนาดี ที่มันอาจจทำให้เขาเสียวิถีไปเลย ลวดลายผ้าเก่าหายไปเลยเพราะเราคิดลายใหม่ให้แล้ว คงจะดีถ้าให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาคิด แล้วเราเพียงแค่แนะหรือแก้ปัญหาบางเรื่องที่ติดขัดให้ แต่ไม่ใช่การคิดแทน


…………………………………………………..


*พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save