เผชิญความขัดแย้งด้วยปัญญา

ภาคียุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญา ร่วมเสนอแนวทางรับมือความขัดแย้งหลายมิติ ย้ำการยอมรับความขัดแย้งเป็นภาวะปกติ เห็นความไม่ลงรอยเป็นโอกาส ชูความสำคัญระหว่างหัวใจผู้คนในชุมชนของตน ใช้ความสัมพันธ์นำทางแก้ปัญหา และให้เวลากับการสร้างความเปลี่ยนแปลง

โดย ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา เรื่อง: เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

๒๗ ม.ค.๒๕๖๕ – ๑๒ ภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ครั้งที่ ๖ ในหัวข้อ “สันติธรรมท่ามกลางความหลากหลายในชุมชน” (Harmony in Diversity) ดำเนินการเสวนาโดย วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธาน Peaceful Death และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา (CoCo Foundation) ร่วมกับศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจากเวทีนี้ก็ได้ข้อสรุปสำคัญในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งจากกรณีตัวอย่างที่วิทยากรได้ยกมานำเสนอ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสองโครงการ ได้แก่ โครงการก่อการครูฯ และโครงการอาสาคืนถิ่น

.

เมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน

          อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บอกเล่าบทเรียนที่ประสบด้วยตนเองจากการดำเนินโครงการ ก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีครูที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๕,๐๐๐ คน (หรือ ๑% ของจำนวนครูทั่วประเทศ ราว ๕๐๐,๐๐๐ คน) และจากการร่วมผลักดันขบวนการดังกล่าว วิทยากรก็ได้ข้อสรุปว่า หัวใจครูคือกุญแจดอกสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

โจทย์สำคัญของโครงการดังกล่าวคือ เราจะสร้างการศึกษาที่ช่วยลดความทุกข์ จะสร้างคนที่มีคุณภาพ และจะสร้างการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร พร้อมระบุอาชีพครูคือผู้แบกรับสารพัดความทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์จากความไม่พอใจในระบบการบริหารจัดการที่มีวัฒนธรรมเชิงอำนาจกดทับเสียงของครูอาจารย์ ทุกข์จากความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น บุคลากรในระบบการศึกษา กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียน หรือระหว่างครูด้วยกัน รวมทั้งทุกข์จากความขัดแย้งภายในตนเอง

          “สิ่งที่เราเชื่อและเป็นความแตกต่างจากที่อื่น ๆ รวมทั้งเชื่อมโยงกับสุขภาวะทางปัญญาก็คือความเชื่อที่ว่าการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดก็ตาม ต้องเริ่มที่ตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการเปลี่ยนที่หัวใจครู ถ้าหัวใจครูเปลี่ยนก็จะไปเปลี่ยนที่หัวใจเด็กเอง รวมทั้งเปลี่ยนความสัมพันธ์ในระบบเช่นกัน และสิ่งที่จะทำให้ครูกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงได้นั้น ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครูก่อนเพื่อจะได้เป็นอิสระจากความคาดหวังของสังคม กล้าตั้งคำถามว่าครูก็ผิดพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ก่อนจะก้าวออกจากกรอบคิดเดิม กลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ในตัวครูเองและเปลี่ยนตัวเอง” อ.อธิษฐาน์ กล่าว

          นอกจากการสร้าง พื้นที่ปลอดภัย ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้แก่ครูอาจารย์ดังกล่าวแล้ว โครงการนี้ยังย้ำวิธีการสำคัญที่ให้ครูได้ตระหนักและยอมรับในการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอำนาจ รวมทั้งความกลัวที่คอยกดทับตน และการเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับรู้ถึงความทุกข์ของผู้อื่นที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก่อเกิดเป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในฐานะผู้ถูกกระทำเช่นเดียวกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบทางออกที่เป็นไปได้ในข้อจำกัดหากยังมองจากจุดเดิม

.

ใช้ ความสัมพันธ์ลดความขัดแย้ง

          อ.อธิษฐาน์ ยังได้กล่าวถึงหลักการทำงานกับความขัดแย้งของครูในโครงการก่อการครูว่า “เนื่องจากเราไม่ใช่นักจัดการความขัดแย้ง โครงการก่อการครูจึงไม่ได้ปะทะโดยตรงไปที่ความขัดแย้ง สิ่งที่เราทำคือการแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนในระบบกับบริบทที่แวดล้อมตัวเขา (Conflict Transformation) คือการชวนครูให้มองเห็นสิ่งที่เป็นอยู่ ยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง ไม่เห็นความขัดแย้งเป็นสิ่งผิดปกติ แต่คือความปกติธรรมดาในความสัมพันธ์ของมนุษย์ และเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อย่างที่ เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) เคยกล่าว โดยตัวปัญหา ไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีรับมือกับปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา ถ้าเราเข้าไปจัดการปัญหาโดยที่ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของปัญหาก็รังแต่จะสร้างปัญหามากกว่าจะช่วยคลี่คลาย สุดท้าย สิ่งที่เราทำก็คือการทำงานผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ เมื่อใดก็ตามที่ความสัมพันธ์เปลี่ยน ความขัดแย้งก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย”

          หากพิจารณาความขัดแย้งข้างต้นผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็จะพบอำนาจ ๓ แบบ ได้แก่ อำนาจเหนือ (อำนาจที่กดทับครู) อำนาจร่วม และอำนาจภายใน “โดยโครงการก่อการครู ส่วนใหญ่จะทำงานกับอำนาจร่วม โดยสร้างพลังของครูที่เป็นเครือข่ายเชื่อมกัน และพลังของอำนาจภายใน คือชวนครูกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับตัวเอง เข้าใจในคุณค่าของตัวเอง ตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่เพียงคนเล็ก ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ได้ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” อ.อธิษฐาน์ กล่าวเสริมและสรุปภารกิจที่โครงการได้ปฏิบัติต่อครูคือ “การเปลี่ยนข้างใน เชื่อมข้างนอก” เริ่มจากการชวนครูสร้างความเข้มแข็งภายในตนเองด้วย “การตั้งหลัก” สร้างความพร้อมภายในก่อนจะไปต่อ โครงการยังชวนครูเปิดใจเพื่อมองเห็นและยอมรับความเป็นปกติธรรมดาของทุกความขัดแย้ง แล้วเริ่มพัฒนาทักษะและคุณภาพภายในที่จะใช้ในการกลับไปดูแลพื้นที่ชีวิตตนในมิติต่าง ๆ เช่น ทักษะการฟังและการสื่อสาร การทำงานกับเสียงภายในที่คอยตัดสินและเสียงแห่งความกลัวของตนเอง นอกจากนี้ โครงการยังฝึกทักษะครูให้ดำรงอยู่อย่างเข้าใจโดยภายในหัวใจครูไม่ถูกพังทลายเสียก่อน ตลอดจนการเห็นข้อจำกัดและโอกาส รู้จังหวะตนที่จะหยุด ช้าลง และเคลื่อนต่อ ที่สำคัญเช่นเดียวกันคือการสร้างชุมชนกัลยาณมิตรเพื่อหล่อเลี้ยงพลังภายใน เพื่อการเติบโตต่อไปท่ามกลางความแตกต่างหลายหลายของผู้คนและเหตุการณ์

อาสาคืนถิ่น วันนี้ยังกลับไม่ถึงบ้าน

          อีกโครงการที่ถูกยกมาพูดคุยในเวทีเสวนาครั้งนี้คือโครงการ อาสาคืนถิ่น นำเสนอโดยวิทยากร  นราธิป ใจเด็จ จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเยาวชนรุ่นใหม่ในโครงการรวมทุกรุ่นจำนวนราว ๗๐ คน เยาวชนเหล่านี้ต้องเผชิญความขัดแย้งหลังย้ายถิ่นกลับบ้านเกิดของตน โดยโครงการมีหน้าที่ให้กำลังใจ ร่วมรับฟังความทุกข์ และให้คำปรึกษาแก่คนกลุ่มนี้ นราธิปได้สะท้อนประสบการณ์ตรง กว่า “คนใน” ครอบครัวหรือชุมชนจะยอมรับ “คนนอก” กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในชุมชนอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย จำต้องอาศัยเวลาและการร่วมประกอบกิจกรรมภายในชุมชน เสมือนเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน ต้อนรับสมาชิกกลับเข้ามาเป็น “คนใน” อีกครั้ง

          “คนรุ่นใหม่ที่กลับไปบ้านในแต่ละรุ่น ล้วนถูกตั้งคำถามจากคนในครอบครัวและชุมชนของเขาว่ากลับมาทำไม ตกงานหรือเปล่า อุตส่าห์เรียนมาสูง น่าจะไปทำงานที่เจริญ ๆ ซึ่งเป็นค่านิยมของคนในชุมชนที่มองแต่ความสำเร็จคือการเป็นเจ้าคนนายคนเป็นหลัก ความเชื่อนี้ขัดกับความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ บางคนอยากกลับมาทำเกษตรวิธีใหม่ หรืออะไรที่ถูกมองว่าแปลกตา ต่างไปมากจากวิถีที่ชุมชนทำกันอยู่ ทำให้พวกเขาต้องรับผลกระทบจากความรู้สึกขัดแย้งแบบนี้ เล่นเอาใจแฟบกันไปเลย ซึ่งโครงการนี้ก็เข้าไปเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่คอยหนุนพวกเขา คอยเติม “เครื่องมือ” หรือทักษะใหม่ ๆ เช่น การสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งคอยให้ข้อคิดและกำลังใจคนรุ่นใหม่ เพราะทุกครั้งที่เราเปิดวงรับฟัง เราก็จะได้ยินเรื่องราวของความทุกข์ความเศร้า ทั้งระหว่างพวกเขากับคนในครอบครัว และกับสายตาของคนในชุมชน” นราธิป กล่าว

          สมาชิกในชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ พลเมืองกลุ่มนี้เกิดและเติบโตมาในบริบททางสังคมที่ต่างไปจากเดิม โลกทัศน์และความใฝ่ฝันในชีวิตย่อมไม่อาจวางทาบได้แนบสนิทกับบรรทัดฐานทางสังคมชุดเดิม ความขัดแย้งระหว่างรุ่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้คนเหล่านี้จะพยายามพิสูจน์ตัวเอง หรือเสนอนิยามความสำเร็จชุดใหม่ในแบบฉบับของตนเพียงใดก็ตาม ซึ่งประสบการณ์ของนราธิปในการพากลุ่มเป้าหมายก้าวข้ามอุปสรรคชีวิตนั้นน่าติดตามเรียนรู้ หลายคนเริ่มจากการสร้างการยอมรับในครอบครัว เปิดพื้นที่สื่อสารระหว่างสมาชิกในบ้านตนเองก่อน โดยบอกเล่าความฝันและแผนงานที่ตั้งใจจะทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้คนใกล้ชิดได้ฟัง อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีผ่านไป อาจยังไม่นานพอที่คนรุ่นใหม่จะกลายเป็นที่ยอมรับของครอบครัว ตราบใดที่ “เงิน” ยังคงเป็นไม้บรรทัดวัดรูปธรรมความสำเร็จ

นราธิปได้สรุปบทเรียนสำคัญ พร้อมยกตัวอย่างแนวทางที่เป็นไปได้ หรือกุศโลบายที่คนรุ่นใหม่ได้นำไปใช้กับครอบครัว และเปลี่ยนทัศนะของผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อขอกลับเข้าเป็น “คนใน” บ้านเกิดของตน เช่น การแสวงหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมงานประเพณีในท้องถิ่น การหาบทบาทที่ตนถนัดหรือมองหางานอาสาที่จะทำประโยชน์ให้แก่หมู่บ้าน ขณะที่สมาชิกบางคนก็ใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ได้อย่างมีชั้นเชิง “บางคนก็ไปสร้างตัวตนใหม่ในโลกโซเชียล เช่น โพสต์ภาพกล้วยที่บ้านหรือสร้างคอนเทนต์ของดีในชุมชนที่เกี่ยวกับการเกษตร จนเป็นที่รู้จักของสมาชิกในชุมชนและคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ขณะที่คนในบ้านกลับไม่รู้เรื่องนี้ ลักษณะนี้ก็ได้ เขาก็ทำมาเรื่อย ๆ จนได้ไปเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ในชุมชน เกิดการช่วยเหลือกันด้านการเกษตร การพูดคุยถึงคนรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้านเหล่านี้ และมีโอกาสทำงานด้วยกันในเวลาต่อมา นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งหรือทางลัดในการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยไม่เสียจุดยืนของคนรุ่นใหม่” นราธิป กล่าวทิ้งท้าย

อยู่กับความขัดแย้งอย่างสันติ

          บทเรียนที่ได้รับจากกรณีศึกษาการใช้สันติธรรมกับความขัดแย้ง ทั้งในโครงการก่อการครูฯ และโครงการอาสาคืนถิ่น พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า การสื่อความให้เข้าถึงหัวใจคนคือตัวแปรแห่งความสำเร็จ โดยเครื่องมือหรือทักษะใด ๆ ก็ตาม ล้วนเป็นเพียงส่วนเสริมให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีสังฆะหรือชุมชนแห่งกัลยาณมิตรคอยทำหน้าที่โอบอุ้ม และร่วมส่งพลังใจให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ทุกคนเดินหน้าต่อแม้ในยามที่ภารกิจยังไม่พบหนทางที่จะลุล่วงในเร็ววัน

          การเดินทางของงานสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาในสังคมไทยยังคงไม่จบสิ้น สมาชิกทั้ง ๑๒ ภาคีเครือข่ายฯ ยังมีภารกิจอีกมากในทศวรรษที่สามของงานสุขภาวะทางปัญญาที่กำลังมาถึง ครูนับแสนคนทั่วประเทศยังรอผู้ชี้แนะแนวทางการอยู่ร่วมกับทุกข์สารพัดอย่างเป็นสุข นักเรียนอีกนับล้านต้องกลายเป็นผู้รับผลจากความทุกข์ของครูบาอาจารย์ ขณะที่พวกเขาเองยังอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังกลายเป็นพลเมืองของโลกใหม่ที่มีความคิดอ่านต่างไปจากคนรุ่นก่อน โลกแบบนี้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร คำตอบอยู่ในใจคุณแล้ว

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save