ดูแลใจผู้สูญเสีย, เคียงข้างผู้สูญเสีย

ด้วยรักและห่วงใย วิธีดูแลใจผู้สูญเสีย

หากคุณมีญาติหรือเพื่อนที่เป็นผู้สูญเสียจากโควิด-19 คุณจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง?

  1. เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สูญเสีย

ผู้สูญเสียมักเก็บความรู้สึกโศกเศร้า อึดอัด คับข้องใจ ไว้เพียงลำพัง เพราะกลัวว่าถ้าแสดงออกไปจะดูอ่อนแอ ถูกตัดสิน หรือทำให้คนรอบข้างกังวล เราเริ่มต้นเยียวยาเขาได้ด้วยการรับฟังโดยยอมรับความรู้สึกมากมายอย่างไม่ตัดสิน เปรียบเทียบ สั่งสอน ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่ามีพื้นที่ปลอดภัย และไม่โดดเดี่ยว

.

2. คำว่า “ตาย” ไม่ใช่คำต้องห้าม

ถ้าคุณคอยดูแลผู้สูญเสียอยู่ อาจต้องใส่ใจด้านคำพูดเป็นพิเศษ แต่คำว่า “ตาย” ไม่ใช่คำต้องห้าม คุณสามารถพูดคำนี้อย่างตรงไปตรงมาได้ เพื่อให้ผู้สูญเสียตระหนักรู้ว่า คนๆ นั้นตายไปแล้ว

.

3. อยู่ข้างๆ คอยรับฟัง แต่อย่า “จม”

ในฐานะเพื่อนผู้เยียวยา เราต้องมีจิตใจหนักแน่นพร้อมจะรับฟัง ไม่ผิดที่จะ “อิน” ไปกับอารมณ์ความรู้สึกของเขา เช่น น้ำตาซึมหรือร้องไห้ แต่ไม่ “จม” คือร้องไห้หนักกว่าผู้โศกเศร้าเสียอีก เพราะทำให้ผู้สูญเสียต้องหันมาดูแลความรู้สึกของคุณ ส่วนความรู้สึกเศร้าของเพื่อนกลับไม่ได้รับการดูแล

.

4. เพื่อนผู้เปิดประตูใจผู้สูญเสีย

การสะท้อนความรู้สึกที่ได้ยิน เช่น เศร้า เจ็บ โกรธ กังวล ฯลฯ จะช่วยให้ผู้สูญเสียรู้ว่าเรารับรู้สภาวะภายในของเขา เช่น มันเจ็บปวดใช่ไหมที่เราต้องเจอเรื่องแบบนี้ หรือยิ่งคิดก็ยิ่งเศร้าแต่มันหยุดคิดไม่ได้ใช่ไหม การพยายามเดาและสะท้อนความรู้สึก จะช่วยให้ผู้โศกเศร้ารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ การได้รับความเข้าใจ ช่วยคลายความโดดเดี่ยวได้มาก

.

5. “ถ้าดีต่อใจ ทำไปเลย”

หากผู้โศกเศร้าเริ่มเปิดใจ ลองชวนมองหาสิ่งที่เขาอยากจะทำเพื่อเยียวยาจิตใจดูสิ แต่หากสิ่งที่เขาเลือกไม่ตรงกับของเรา ให้ยอมรับโดยไม่ชี้นำหรือตัดสินถูก-ผิด วิธีการที่ทำให้ผู้โศกเศร้ารู้สึกมีสติ สุขสงบได้ เช่น การสวดมนต์ การทำบุญ อ่านหนังสือธรรมะ ทำของที่ระลึกงานศพ การเขียนจดหมายถึงผู้ตาย หรือทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เป็นต้น

.

6. “นิ่งเฉย เบือนหน้าหนี ขมวดคิ้ว” สังเกตภาษากายของผู้สูญเสีย

คำพูดและท่าทีบางอย่างที่เราคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์อาจกระทบใจผู้สูญเสีย ซึ่งสามารถรับรู้ได้ผ่านการสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้ฟัง เช่น การนิ่งเฉย ขมวดคิ้ว เบือนหน้าหนี หรือพยักหน้าตอบรับแบบขอไปที เราควรใส่ใจสิ่งที่พูดและคอยสังเกตภาษากายเหล่านี้เสมอ

.

7. “อยากกินอะไร เดี๋ยวทำให้”

การพูดคุยเป็นเพียงหนึ่งในวิธีเยียวยาผู้สูญเสีย หากอีกฝ่ายแสดงท่าทีไม่อยากพูดคุย เราอาจช่วยด้วยการซื้อของโปรดไปฝาก ดูแลบ้าน แม้แต่ทำอาหารง่ายๆให้ทาน หรือส่งข้อความแสดงความคิดถึงและห่วงใยไปให้ หากสนิทสนมกัน อาจโอบกอดหรือจับมือเพื่อแสดงความห่วงใย สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในวิธีดูแลใจผู้สูญเสียเช่นกัน

.

8.  “ลองปรึกษาจิตแพทย์ดูไหม ฉันไปเป็นเพื่อนนะ”

หากเห็นว่าผู้โศกเศร้าอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดูแลตัวเอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ติดต่อกันเป็นเวลานาน คุณอาจแนะนำให้เพื่อนไปหาผู้คนที่เขานับถือ เช่น พระ ญาติผู้ใหญ่ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล ซึ่งคุณอาจให้ข้อมูลว่าการไปหาจิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัว หรือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นการไปหาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ และจิตใจเพื่อเยียวยาอย่างเป็นระบบ

.

#ดูแลใจผู้สูญเสีย #สูญเสียไม่เสียศูนย์

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save