ความสุขเท่าปลายเข็มของผู้ชายปักผ้าสไตล์ชนเผ่า
ยุคนี้ถ้าใครเห็นผู้ชายกำลังนั่งปักผ้า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเข้าใจว่าชายผู้นี้มีแนวโน้มเป็นเพศที่สามมากกว่าชายจริงหญิงแท้อย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ชายร่างท้วม ผมหยักศก แต่งตัวสไตล์ชาวเมืองเหนือ ชื่อจริงว่า “สุทธิพงศ์ รินจ้อย” หรือ “เอก (อ้วน)” คนนี้แล้ว นอกจากเขาจะมีดีกรีเป็นขาโจ๋ อดีตนักเรียนช่างกลแล้ว ปัจจุบันยังเป็นพ่อลูกสองและเป็นครูถ่ายทอดวิชาปักผ้าชนเผ่าให้กับคนที่สนใจอย่างภาคภูมิใจในความเป็นลูกผู้ชายเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
.
ก่อนหน้าที่เขาจะเริ่มต้นจับเข็มปักผ้าครั้งแรกเมื่อเจ็ดปีก่อน เขาเคยทำงานอยู่กับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอทางภาคเหนือ ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นเสื้อผ้าชนเผ่าลวดลายปักสวยงามอยู่รอบตัว เมื่อภรรยาเปิดร้านกาแฟอยู่ในร้านขายสินค้าพื้นเมืองที่มีสินค้าชนเผ่าขายด้วย เขาจึงเริ่มมีครูสอนปักผ้าคนแรกจากร้านขายสินค้าแห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในงานปักผ้าชนเผ่าจนถอนตัวไม่ขึ้น
.
เอกเริ่มฝึกฝนการปักผ้าทั้งจากครูผู้เชี่ยวชาญและค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากอินเทอร์เน็ต จนสามารถผสมผสานเทคนิคการปักผ้าพื้นเมืองทั้งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันกลายเป็นดีไซน์สร้างสรรค์ในแบบของตนเอง สิ่งสำคัญที่เขาได้เรียนรู้จากการปักผ้าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาคือ “การเรียนรู้จิตใจ” ของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งถ่ายทอดมุมมองที่ได้จากการปักผ้าในมิติพัฒนาจิตสู่ผู้อื่นได้อย่างน่าสนใจบนแฟนเพจที่มีชื่อว่า “ความสุขเท่าปลายเข็ม” การปักผ้าสำหรับเขาจึงไม่ได้เป็นเพียงการสร้างลวดลายสวยงามบนผืนผ้า หากยังสร้าง “ความงาม” ในจิตใจของผู้คนในทุกๆ ฝีเข็มที่ปักลงบนผืนผ้าเช่นเดียวกัน
.
หลังผ่านการศึกษาลวดลายปักจากหลากหลายวัฒนธรรม เอกจึงได้ข้อสรุปว่า
“ผมพบว่าเทคนิคการปักผ้าเหมือนกัน แต่ถูกเรียกคนละชื่อเท่านั้น แล้วเทคนิคเหล่านี้ก็เอามาใส่ในรูปทรงหรือฟอร์ม (form) ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งฟอร์มคือการกำหนดสไตล์ของแต่ละชนชาติหรือชนเผ่า อาทิ ฟอร์มอินเดีย ฟอร์มไทย กับฟอร์มตะวันตกก็เป็นคนละสไตล์ แต่ใช้เทคนิคการปักเดียวกัน”
.
ผลงานของเอกเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงคนชอบงานผ้าสไตล์ชนเผ่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาปักชิ้นงานลงบนเสื้อผ้าที่ออกแบบตัดเย็บง่ายๆ ด้วยมือ ฝากวางจำหน่ายตามร้านเสื้อผ้าสไตล์ชนเผ่า ต่อมาเขาจึงเริ่มเปิดเวิร์คชอปสอนการปักและตัดเย็บเสื้อผ้าแบบง่ายๆ ในรูปแบบวันเดียวจบ จนกลายเป็น “ครูเอก” ของนักเรียนหลายคน เทคนิคการสอนของเขาเรียกว่า “หลุดกรอบ” จากครูสอนปักผ้าส่วนใหญ่ เพราะเป็นการสอนที่ “เน้นความสุข” ของผู้เรียนมากกว่า “เทคนิคการปักผ้า” เพื่อความสวยงาม โดยมีสโลแกนหลักในการสอนว่า “ช่างเถอะ”
.
ผมมักบอกคนที่มาเรียนว่า ไม่ต้องสนใจเทคนิคว่าต้องใช้อันใดอันหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกมีความสุขกับเทคนิคนี้ก็เอามาใส่ ผมจะมีวลีประจำว่า ‘ช่างเถอะ’ มีอะไรก็ใส่ไปไม่ต้องสนใจ ถ้าเรารู้สึกดีกับมันก็โอเคแล้ว
ด้วยนิสัยชอบหาความรู้ด้วยตนเอง เอกจึงสนใจศึกษาวัฒนธรรมการแต่งกายตั้งแต่ยุคโบราณของหลายชนชาติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชนเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย เขาจึงได้พบจุดเด่นของงานผ้าแต่ละชนเผ่า และสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นหลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้าในสไตล์ของตนเองได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน
.
“เสื้อที่ผมสอนจะเป็นแพทเทิร์นโบราณคือใช้เทคนิคการห่อ ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมแล้วเจาะคอเจาะแขน เหมือนเสื้อฟลามิงโก้ของเม็กซิกัน หลังจากศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายพบว่า ทุกชนชาติทุกทวีปจะเป็นวัฒนธรรมการเอาผ้ามาห่อตัว บ้านเราก็มีวัฒนธรรมการห่อเหมือนกัน เช่น การนำผ้าผืนเดียวมาทำโจงกระเบนเป็นดีไซน์ง่ายๆ ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็อาจประยุกต์ให้มีความแตกต่างออกไป อาจจะเป็นความโชคดีของบ้านเราที่มีชนเผ่าเยอะ ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดในแพทเทิร์นเสื้อผ้าชนเผ่าหลากหลายมาก อย่างเช่น ม้งก็จะมีการห่อแบบป้าย ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกสนุกไปด้วย อย่างดาระอั้งก็มีการห่อคล้ายกิโมโนแบบญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน แต่บ้านเราจะสีจัดจ้านกว่า เป็นต้น”
.
มนต์เสน่ห์ของเข็มเย็บผ้า นอกจากจะทำให้อดีตนักเรียนช่างกลคนนี้หลงใหลงานปักผ้าจนถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว ยังนำพาให้เขาถลำลึกเข้าสู่โลกของงานผ้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกทีก็เดินทางข้ามมิติจากโลกบนผืนผ้าสู่โลกการเรียนรู้อันกว้างใหญ่ที่มีเส้นด้ายจากปลายเข็มเชื่อมโยงไปไม่รู้จบ
.
“เราไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องผ้าอย่างเดียว แต่เราเรียนรู้เรื่องการเกษตร เรื่องการปลูกฝ้าย เรื่องการย้อมผ้าเป็นการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เรื่องของค่า pH ความเป็นกรด-ด่างที่ทำให้เฉดสีเปลี่ยน มันเหมือนเป็นการศึกษาทางเลือกอย่างหนึ่ง เวลาคนทำงานผ้า มีทางให้เลือกหลายทางว่าจะไปทางไหน สำหรับเราเริ่มต้นที่งานปัก และพัฒนาไปสู่งานทำเสื้อผ้าแบบง่าย”
สิ่งสำคัญที่เขาค้นพบหลังจากจับเข็มเย็บผ้าในเวลาต่อมา คือ การเติบโตภายในจิตใจตนเอง
.
“จริงๆ การปักผ้าเป็นการบำบัดตัวเอง เวลาทำงานเราจะนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เงียบๆ อยู่คนเดียว บางทีมันก็อาจจะได้คำตอบระหว่างการปักผ้า คนทั่วไปมักมองว่าคนทำงานปักผ้าเป็นคนใจเย็น ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
.
ผมพยายามเชื่อมโยงเทคนิคการปักผ้ากับการใช้ชีวิต อย่างเช่น การปักผ้าที่เรียกว่า ‘ปมฝรั่งเศส’ ปกติคำว่า ‘ปม’ คือ ‘ปัญหา’ แต่การปักผ้าเรากลับเอาปมมาทำให้สวยได้ ดังนั้น ปมจึงไม่ใช่สิ่งแย่ไปทั้งหมด เหมือนปัญหาในชีวิตที่เราเจอ บางทีปัญหามันทำให้คนยกระดับตัวเองขึ้นมาจากจุดเดิม มันทำให้เราดิ้นรนที่จะหลุดพ้นจากปัญหาตรงนั้น
.
จากประสบการณ์ปักผ้าด้วยตนเองและสอนคนอื่นค่อยๆ กลายเป็น “บทเรียนเฉพาะตัว” ที่ทำให้อดีตเด็กช่างกลคนนี้สามารถใช้ “ฝีเข็มทำนายนิสัย” ของคนปักผ้าได้ด้วยเช่นกัน
ฝีเข็มบอกนิสัยคนได้ เหมือนลายมือ อย่างเช่น เทคนิคการเนาเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ การเว้นช่วง เพราะการใช้ชีวิตคือการเว้นระยะห่างระหว่างคน บางคนฝีเข็มถี่ บางคนฝีเข็มห่าง เพราะชอบมีระยะห่างในความสัมพันธ์แบบไม่ใกล้ชิดกันมากเกินไปจนอึดอัด หรือการใส่ด้ายยาวหรือสั้นก็บ่งบอกนิสัยของคนปักผ้าได้เหมือนกัน บางคนเลือกใส่ด้ายยาวเพื่อให้ปักเสร็จทีเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนด้าย แสดงว่าคุณมองเป้าหมายเป็นอันดับหนึ่ง แต่คุณไม่ได้มองกระบวนการที่คุณต้องเดินไปว่าการใส่ด้ายที่ยาวเกินไปอาจทำให้เส้นด้ายพันกันและทำให้คุณไปถึงเป้าหมายช้าลง
.
ในกระบวนการเวิร์คชอปสอนปักผ้า ครูเอกพยายามชวนพูดคุยในเรื่องการมองตนเองผ่านการปักผ้าเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะคนส่วนใหญ่ต้องการมาเรียนรู้เทคนิคการปักผ้าและคาดหวังจะได้ผืนผ้าที่สวยงามกลับไป
.
“คนส่วนใหญ่อยากมาเรียนเทคนิค ไม่ได้อยากพูดคุยความรู้สึกข้างในใจ ผมเคยลองจัดคอร์ส‘ปักผ้าเพื่อพัฒนาจิต’ แต่มีเวลาพูดคุยกันน้อย เพราะทุกคนอยากไปถึงเป้าหมายเห็นผลงานของตนเองเสร็จสมบูรณ์มากกว่า ผมพยายามหาโอกาสพูดคุยแทรกไประหว่างการเวิร์คชอป เช่น มองตัวเองผ่านงานปักผ้า เราเห็นอะไรบ้าง ทุกคนจะบอกว่าเห็นตัวเองใจร้อน แต่การปักผ้าก็ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนเป็นคนใจเย็นได้ตลอดไปนะ มันแค่ทำให้สภาวะใจร้อนช่วงที่ปักผ้าเย็นลงเท่านั้น แต่ถ้าเราสะสมสภาวะใจเย็นบ่อยขึ้น มันก็อาจช่วยได้ เพราะถึงผมจะปักผ้ามาเจ็ดปี บางสถานการณ์ผมก็ยังเป็นคนใจร้อนเหมือนเดิม (หัวเราะ)”
.
แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการจับเข็มเย็บผ้า เขาจะต้องเผชิญกับสายตาและรอยยิ้มขบขันของผู้คนที่มองมายังผู้ชายรูปร่างอ้วนท้วมที่กำลังนั่งปักผ้าอย่างขะมักเขม้น แต่หลังจากก้าวข้ามความหวั่นไหวจากสายตาผู้คนสู่ความมั่นคงภายในจิตใจ เขาจึงได้พบพลังความสุขที่อบอวลอยู่ภายในใจทุกครั้งที่ได้จับเข็มปักผ้าขึ้นลงและยังเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นที่มาเรียนเย็บผ้ากับเขาด้วยเช่นกัน
.
“ถ้าเรามองความเป็นมนุษย์ เราไม่ได้มองความเป็นหญิงชายที่สังคมกำหนดว่าผู้หญิงต้องทำแบบนี้ ผู้ชายต้องทำแบบนี้ เราก็จะทำทุกอย่างได้เหมือนกัน ถามว่าตอนแรกหวั่นไหวไหม มันก็มีนะ เพราะเราเป็นเด็กช่างกลมาก่อน แต่ช่วงหลังเพื่อนก็เข้าใจว่ามันเป็นงานศิลปะ มันก็คืองานช่างเหมือนกัน แต่วิธีการ กระบวนการมันไม่เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้เราก็ไม่ได้สนใจแค่งานปัก เราก็ยังสนใจเรื่องพร้า เรื่องดาบอยู่นะ งานปักผ้ามันไม่ใช่ทุกมุมของคนๆหนึ่ง แต่มุมนี้เราใช้เพื่อทำงานเลี้ยงชีวิต
.
การทำงานปักคือการอยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้นเรามองตัวเองก่อน เราห้ามคนอื่นมองเราไม่ได้หรอก การปักผ้าเป็นการสร้างความมั่นคงภายในให้ตนเองได้ทางหนึ่ง แม้ว่าบางทีระหว่างการปักผ้า ความคิดเปลี่ยน อยากจะปักแบบอื่นขึ้นมา มันก็สอนเราว่า สิ่งที่เราวางแผนไว้มันเปลี่ยนแปลงได้นะ เพียงแต่เราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราทำคือเราไม่ได้ไปเลียนแบบใคร ไม่ได้ไปยุ่งกับใคร เพราะฉะนั้นความมั่นคงภายในสำคัญ เวลาผมสอนปักผ้า ผมจะบอกทุกคนว่า ต้องบอกว่างานตัวเองสวย เพราะนี่คือสไตล์ นี่คือลายมือเรา
.
แม้ว่าการทำงานแฮนด์เมดจะทำให้ได้ผลงานน้อยชิ้น เมื่อต้องมีภาระครอบครัวมีลูกให้ต้องรับผิดชอบถึงสองคน คำถามที่ตามมาคือ เขาจัดการหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายจนสามารถอยู่รอดในอาชีพนี้ได้อย่างไร
“ผมว่ามันอยู่ที่เราให้น้ำหนักอะไรมากกว่า ถ้าเราให้น้ำหนักกับรายได้ มันอาจจะน้อยกับการใช้ชีวิต คือผมอาจจะไม่เหมือนคนอื่น ตั้งแต่มีลูกผมก็ตัดสินใจออกจากงานประจำเพื่อที่จะมาอยู่กับลูก ผมให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกแนววอลดอร์ฟจึงมีเวลาอยู่กับลูกเยอะ การทำงานผ้าหรืองานฝีมือขายก็เหมือนมีงานประจำอยู่กับลูก แม้จะไม่ได้เงินเดือนแต่ผมก็รับงานอื่นมาทำได้ด้วย มันได้คุณค่าทางจิตใจมากกว่า แล้วเด็กๆ ได้เรียนรู้กับเราไปด้วย (ปัจจุบันคนโต 6 ขวบ คนเล็ก 2 ขวบ) ในแง่รายได้มันเลี้ยงชีพได้แต่เราต้องลดการบริโภคของเราลง ผมว่าการพอไม่พอมันอยู่ที่การใช้ชีวิตนะ”
.
ทุกวันนี้ อดีตเด็กนักเรียนช่างกลรูปร่างอ้วนท้วมหรือที่คนรอบข้างตั้งฉายาว่า “เอกอ้วน” จึงยังคงจับเข็มเย็บผ้าปักขึ้นลงในสไตล์ผสมผสานโลกตะวันตกและตะวันออกที่ตนเองชื่นชอบแบบไร้ขีดจำกัดทางจินตนาการ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากผืนผ้าเป็นตัวหนังสืออยู่บนเพจ “ความสุขเท่าปลายเข็ม” หากฟังดูเผินๆ อาจดูเป็นความสุขที่เล็กนิดเดียว ทว่า สำหรับผู้ชายคนนี้แล้วมันหมายถึงความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ปักเข็มลงบนผืนผ้า ยิ่งปักมากเท่าไหร่ ความสุขจึงเพิ่มพูนอยู่ในหัวใจของเขามากขึ้นนั่นเอง
.
