ความสุขวงใน

เตรียมเดินทางครั้งสุดท้าย เผชิญความตายอย่างมีความสุข

คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ อดีตพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดีเล่าถึงประสบการณ์การสูญเสียคุณพ่อ ซึ่งเธอได้พบว่าวิชาชีพพยาบาลไม่ได้มีส่วนช่วยหรือเตรียมความพร้อมให้กับเธอในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ในความเคว้งคว้างนั้นบุคคลแปลกหน้าหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลที่อยู่ในวอร์ดที่ยอมผ่อนปรนให้โอกาสได้อยู่กับคุณพ่อในช่วงเวลาสุดท้าย หรือญาติคนไข้เตียงข้างๆ ที่คอยห่วงใยและเข้ามาสวมกอดในช่วงเวลาที่คุณพ่อจากไป สิ่งเหล่านี้เป็นความประทับใจ เป็นความตื้นตันใจ ที่ได้สัมผัสกับความเมตตาของบุคคลแปลกหน้าที่เข้ามาเกื้อกูล ณ ช่วงเวลาที่เธออยู่ในช่วงที่ยากของชีวิต ซึ่งจุดประกายและแปรผันเป็นกำลังใจที่อยากจะส่งต่อความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นไปยังผู้ที่ต้องพบเจอกับความรู้สึกพลัดพรากในช่วงหนึ่งของชีวิต นั่นคือจุดกำเนิดของโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)

Palliative Care เป็นโครงการที่คุณวรรณาได้ร่วมก่อตั้งขึ้นและได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ คนในชุมชนและอาสาสมัครภายในชุมชน โรงพยาบาลที่เห็นด้วยกับโครงการ พยาบาล และญาติของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เมื่อพูดถึงชีวิตหลังความตายคำถามที่เกิดขึ้นคือ อะไรที่น่าทำ ควรทำ เราทำดีแล้วหรือยัง มีอะไรที่เรายังทำได้อีกไหม คนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการสูญเสียมาก่อนจึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และเมื่อถึงจุดนั้นก็มักจะมีความสั่นไหว ความอาลัย เนื่องจากเราต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก อันที่จริงแล้วโครงการนี้มีขบวนการและขั้นตอนที่เรียบง่ายมาก แต่พอเราไม่รู้ก็กลายเป็นเรื่องยากไปหมด ขั้นตอนของโครงการจะช่วยทำให้เราข้ามผ่านช่วงเวลาของการสูญเสียได้ง่ายขึ้น จากการเข้าใจความหมายของสิ่งที่เราทำให้ผู้ป่วย

 

มุมมองต่อความตาย

“ขบวนการอบรมจะแบ่งออกเป็นสามส่วนโดยส่วนที่หนึ่งเริ่มจากให้ผู้ป่วยได้พิจารณาทำความเข้าใจมุมมองที่มีต่อความตาย ทั้งมุมมองของตนเองและแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อื่น เวลาพูดถึงความตาย ผู้ป่วยนึกถึงอะไร มุมมองจะกำหนดแบบแผน วิธีการแสดงออกของเราเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ถ้ามองความตายเป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องสูญเสีย เมื่อเราเผชิญสิ่งนั้นจะรู้สึกว่ายากมากๆ ที่จะเดินข้ามผ่านช่วงเวลานั้น ถ้าเรารู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องทรมาน เราก็จะปริวิตก เมื่อมีสัญญาณว่าความตายกำลังก้าวเข้ามา มุมมองวิธีคิดต่อเรื่องความตายหรือการให้ความหมายต่อเรื่องความตายเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสได้ทบทวนตัวเองว่าความตายสำหรับเขาคืออะไร รวมถึงว่าเคยคิดหรือออกแบบไหมว่าอยากตายแบบไหนอย่างไร ซึ่งจะสะท้อนวิธีคิดของผู้ป่วยว่าให้คุณค่าหรือให้ความสำคัญกับเรื่องไหน

บางคนให้ความสำคัญกับการที่จะไม่เจ็บปวดทรมานในขณะที่กำลังจะตาย บางคนให้คุณค่ากับการที่ตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งในชีวิตและทำได้สำเร็จ บางคนให้คุณค่ากับการที่ลูกหลานจะอยู่ดีมีความสุขมีอนาคต เป็นต้น ทำให้เขาชัดเจนในตัวเองมากขึ้น ได้รู้ชัดว่าเรื่องที่มีความหมายกับตัวเองจริงๆ มีประมาณนี้ จะได้รู้ว่าควรเน้นที่เรื่องใดและจะดูแลเรื่องนั้นแบบไหน ในขณะเดียวกันเมื่อเขาได้รับรู้มุมมองอื่นจากคนอื่น เขาก็ได้ขยายการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความตายมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ลดการตัดสินทั้งตัวเขาและตัวคนอื่นด้วย การแบ่งปันประสบการณ์โดยการพูดคุยในกลุ่มย่อย และมีพระอาจารย์หรือวิทยากรช่วยเติมเต็มแนวคิดแบบพุทธหรือมุมมองทางการแพทย์ต่อความตาย ทำให้เปิดทัศนะและมองเห็นความตายในหลากหลายมิติ ดูว่าเราเลือกสนใจในแง่มุมไหน มีความเชื่อมุมมองหลายชุด ไม่มีใครผิดใครถูก แค่แตกต่างกัน รับฟังและเคารพความต่าง”

 

การอยู่เคียงข้างคือกำลังใจสำคัญ

“ส่วนที่สองคือ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะของการดูแลผู้ป่วยรวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยหลักการหรือวิธีการดูแลผู้ป่วย ซึ่งคนจำนวนมากจะเชื่อว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะเราถูกทำให้คิดว่าการดูแลผู้ใกล้ตายเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการอบรมจะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนสามารถทำหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในวาระสุดท้ายได้ เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการนั้น ผู้ป่วยไม่ได้ต้องการการดูแลทางร่างกายอย่างเดียว แต่ต้องการการดูแลในทุกๆ มิติด้วยเหมือนกัน มิติทางด้านร่างกายอาจจะเป็นหมอหรือพยาบาลที่ดูแลได้ดี แต่มิติทางด้านจิตใจจะต้องเป็นครอบครัวหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดซึ่งจะดูแลผู้ป่วยได้ดีกว่า อยากให้ผู้ดูแลมีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งผู้ดูแลจะได้ลองหรือมีประสบการณ์ในการที่จะเข้าไปดูแลผู้ใกล้ตาย โดยมีการฝึกทดลองทำผ่านบทบาทสมมุติ หรือสถานการณ์ต่างๆ ให้ผู้ดูแลได้ฝึกโดยสวมบทบาทที่จะเป็นคนไข้ หรือฝึกสวมบทบาทที่จะเป็นผู้ดูแล เพื่อที่ได้เข้าใจและจะได้เห็นผ่านมุมมองของตัวเอง

ส่วนใหญ่ผู้ดูแลจะวิตกว่าควรคุยเรื่องอะไรบ้าง ใช้เวลาแบบไหน รูปแบบมาตรฐานที่ดีควรเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่เรารักมันไม่มีสิ่งที่ดีที่สุดหรอก แต่จะมีสิ่งที่งดงามหรือดีพอเท่าที่เป็นไปได้ ณ เวลานั้น ถ้าผู้ดูแลคิดว่าทุกอย่างต้องมีมาตรฐานชัดเจนเราจะสูญเสียความเชื่อมั่น จะรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพอหรือจะหาคนอื่นมาทำแทน แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เราทำด้วยใจ และทำด้วยความปรารถนาอยากช่วยให้เขาได้ปลดเปลื้องออกจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ มันดีพอที่อีกฝ่ายจะรับรู้และสัมผัสได้ถึงความจริงใจและความใส่ใจของผู้ดูแล ปัญหาของผู้ดูแลจะเป็นความกลัวและความกังวล หลายครั้งที่ผู้ดูแลกลัวและกังวลเพราะคิดว่าต้องไปช่วยผู้ป่วย ต้องไปทำบางอย่างให้ผู้ป่วย ก็เลยคิดว่าจะช่วยผู้ป่วยไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการอาจจะต้องการแค่ใครสักคนที่อยู่ข้างๆ ที่เชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขาจะสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ผู้ดูแลเหมือนแค่ไปเป็นสักขีพยาน ไปเป็นกำลังใจ ไปเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างให้เขาข้ามผ่านช่วงเวลาตรงนี้ได้เอง

ผู้ป่วยอาจจะแค่ต้องการใครคนหนึ่งที่มารับฟังสิ่งที่มันติดขัด คับข้อง หรือเป็นความวิตกกังวลบางอย่างที่มันอาจจะรบกวนใจเขาอยู่ แต่โดยมากผู้ดูแลมักจะคิดว่าจะต้องเข้าไปทำอะไรมากมาย เลยทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าจะต้องมีสูตรว่าควรจะทำอะไรอย่างไร พูดแบบไหน จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ ‘การให้เวลา การไปอยู่ตรงหน้า และเชื่อมั่นในตัวเขา’ ผู้ดูแลไม่สามารถไปจัดการอะไรได้มากมายโดยเฉพาะภาวะที่ผู้ป่วยเปราะบาง ผู้ดูแลไม่ได้ไปเป็นตัวเขา จึงไม่สามารถที่จะไปบอกว่ากับเขาว่าไม่ต้องไปกังวลนะ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องคิดมาก เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับเขา การพูดแบบนั้นจึงไม่มีความหมาย สิ่งที่ผู้ดูแลทำได้คือการอยู่เคียงข้างและเชื่อมั่นว่าเขาจะก้าวข้ามช่วงเวลานั้นไปได้ และถ้ามีอะไรที่ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้ เราก็แค่ให้ความสนับสนุนหรือช่วยเหลือตามที่เขาต้องการ ซึ่งมันก็จะไม่ยากเพราะเราไม่ได้คิดแทนเขา

ทุกวันนี้สิ่งที่ผู้ดูแลทุกข์เพราะว่าคิดแทนผู้ป่วย มีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยจนมองไม่เห็นความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย เอาความต้องการของตัวเองไปกดทับความต้องการของผู้ป่วย เลยทำให้ผู้ดูแลกับผู้ถูกดูแลไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน”

 

การตายดีคือการไม่มีสิ่งค้างคาใจ

“ส่วนที่สามคือ กระบวนการที่ให้ผู้ป่วยได้ใคร่ครวญกับตัวเองถึงสิ่งที่อาจจะติดขัดภายใน ความกลัวหรือความกังวลเกี่ยวกับความตายของตัวเอง เหมือนกับการได้ทดลองตาย ดูว่าผู้ป่วยพร้อมไหม ยังติดขัดในเรื่องอะไร ให้เขาได้มีโอกาสเยียวยาความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในอดีต ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าเราเก็บไว้เยอะๆ ตอนที่เราจะตายเราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้จะมารบกวนจิตใจเราหรือเปล่า การที่เราได้จัดการความรู้สึกติดขัด จัดการความรู้สึกผิด ก็ทำให้เมื่อถึงวาระสุดท้ายของเราเรื่องนี้มันก็เบาไปและไม่ได้มารบกวนจิตใจ ตัวเราก็จะเบาขึ้น การตายดีในที่นี้คือ การที่เราได้ดูแลชีวิตของเรา ณ วันนี้ให้มันดี ให้ไม่มีสิ่งค้างคา หรือปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาเหล่านั้นไปไม่ให้เป็นปัญหาชีวิตกับเราทั้งในวันนี้และในอนาคตข้างหน้า โดยผ่านการยอมรับสิ่งผิดพลาดเหล่านั้น ซึ่งจะเยียวยาทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องปกปิดซ่อนเร้นอีกต่อไป

และถ้าทำได้ดีกว่านั้น คือการที่เราสามารถให้อภัยตัวตนของเราในอดีต คงมีเหตุมีปัจจัยซึ่งทำให้เราต้องทำสิ่งเหล่านั้น ถ้าเลือกได้คงไม่อยากทำ แต่ ณ วันนั้นมันมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราได้ทำสิ่งนั้นลงไป สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือให้อภัยตัวตนที่ผิดพลาดในอดีต และให้อดีตเป็นเพียงบทเรียนที่ช่วยให้รู้ว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร หรือทำอย่างไรให้เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหากับชีวิตต่อไปภายภาคหน้า เช่น บางคนอาจจะไม่ได้ดูแลพ่อในระยะสุดท้าย แต่ตอนนี้ยังมีแม่ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นบทเรียนว่าอย่าให้เวลาล่วงเลยไปโดยที่เราไม่ได้ใส่ใจคนที่เรารัก ความรู้สึกผิดต่อพ่อสามารถให้เราหันมาดูแลแม่มากขึ้น เรื่องของอดีตถ้าเราเยียวยามันได้ก็เป็นข้อเตือนใจได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่เราสมควรต้องทำ หรือเราจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร เราจะให้ความสำคัญกับอะไร”

 


โครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สามารถเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นหมุดหมายในใจของคุณวรรณาจากการที่ในวันนั้นได้รับความเมตตาและสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจจากบุคคลรอบข้าง ในวันนี้เธอได้แบ่งปันและส่งต่อความปรารถนาดีให้กระจายออกไปสู่วงกว้าง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และเผชิญความตายอย่างมีความสุข

  • สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามข่าวสารได้จาก http://www.budnet.org/sunset/node
ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save