ความสุขวงใน

บำบัดสังคมแห่งความทุกข์ บำรุงสุขภายใน

เวลาพูดถึง ‘ความสุขภายใน’ หรือ ‘ความสุขที่แท้จริง’ เรามักคิดถึงความสุขของตัวเอง คนสักคน คู่สักคู่ หรือบ้านสักหลัง แต่หากมองให้กว้างกว่านั้น ความสุขของสังคมทั้งสังคมจะมาจากไหน แค่เปิดข่าวเช้าขึ้นอ่าน เลื่อนหน้าข่าวในเฟสบุ๊ค เราอาจเห็นข่าวผู้บริหารบ้านเมืองฉ้อฉล การริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม การทุจริตคอรัปชั่นที่แสนหน้าด้าน การลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้คน การอุ้มฆ่าคนชนเผ่า ฯลฯ เมื่อมองไปรอบๆ บ้าน เราก็เห็นบริษัทใหญ่กำลังสร้างตึกสูงโดยไม่สนใจชุมชนและวิวทิวทัศน์ที่พึงเป็นของทุกคน คนที่อยู่ในสลัมหลังตึกก็อยู่กันอย่างแออัดและยากจน ลูกหลานของเรากำลังขะมักเขม้นเตรียมสอบจนเครียดแทบบ้าฯลฯ

แล้วแบบนี้จะเรียกว่า ‘สังคมแห่งความทุกข์’ ได้ไหมนะ

แทนที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขส่วนตัวด้วยยาขนานที่ชื่อว่าความสุขภายใน ประชา หุตานุวัตรวัย 65 ปี ผู้เป็นทั้งนักเรียน นักคิด นักเขียน นักแปล และนักฝึกอบรม กลับบอกว่าความสุขภายในและความทุกข์ในสังคมแยกขาดกันไม่ได้ เราพึงสร้างสันติสุขภายในและโครงสร้างทางสังคมที่เป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน ไม่อย่างนั้นการปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นของปลอม เป็นพลาสติกที่ไร้หัวใจกรุณา

ผมเป็นสังคมนิยมและนับถือศาสนาพุทธ พอออกจากฝ่ายซ้ายก็ไปบวช แล้วพบว่าการฝึกสติเป็นคำตอบของมนุษยชาติ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรแยกออกจากกัน พระพุทธเจ้าเองก็ทรงพยายามสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมีภราดรภาพในหมู่คณะสงฆ์ พระองค์ไม่ทรงเอาสังคมที่มีชนชั้นวรรณะ ฉะนั้นในความเห็นของผม ท่านทรงมองว่าการสร้างสังคมที่เป็นธรรมกับการเจริญสติควรทำควบคู่กัน

คนปฏิบัติธรรมต้องเผชิญทุกข์อย่างที่เป็น ไม่ใช่หนีโลก คนจำนวนมากปฏิบัติธรรมเพื่อหนีโลก หรือไม่การปฏิบัติธรรมก็กลายเป็นเรื่องเท่ กลายเป็นแฟชั่น แต่จริงๆ แค่ลองมองไปหลังห้างใหญ่ๆ เราจะเห็นสลัมทั้งนั้น เราเคยเข้าไปเยี่ยมเขาไหม เขาใช้ชีวิตอย่างไร เด็กๆ มีข้าวกินไหม ทำไมคนบางคนรวยมาก แต่คนส่วนใหญ่กลับยากจน แม้ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม บางคนอยู่ที่ดินริมทะเลนี้มาหลายร้อยปี วันดีคืนดีก็ถูกประกาศทับที่ ไม่มีสิทธิ์อยู่ตรงนี้ โดนตัดน้ำตัดไฟ ฯลฯ เมื่อเราไปสัมผัสความทุกข์ของเขาตรงๆ จะเกิดความกรุณา คนจะเข้าถึงธรรมได้ต้องมีเมตตาบารมี ต้องเข้าใจทุกขสัจจ์ของสังคม รู้ว่าโครงสร้างไหนเป็นสัมมาทิฐิ โครงสร้างไหนเป็นมิจฉาทิฐิ และเราซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในสังคมจะส่งเสริมให้โครงสร้างแบบไหนดำรงอยู่

แม้ตัวเขาเองก็เป็นชนชั้นกลางคนหนึ่ง แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้กับชาวบ้านตั้งแต่สมัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน ทำให้เขารู้ในใจดีว่าภาพฝันและความสำเร็จแบบชนชั้นกลางไม่ใช่คำตอบของโลก เพราะหากคนทุกคนมีรถส่วนตัว มีบ้านและใช้ชีวิตชนชั้นกลาง เราจำเป็นต้องมีทรัพยากรแบบดาวโลกอย่างน้อย 3 ดวง ไม่นับขยะ มลพิษและความป่วยไข้อีกมหาศาลที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ฉะนั้นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่มีคุณภาพเรียบง่าย และใกล้ชิดธรรมชาติจึงตอบโจทย์โลกมากกว่า

เราต้องเข้าใจว่าชีวิตชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ชีวิตที่ดี คุณใช้เวลากี่ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปทำงาน คุณมีเวลาให้ลูกแค่ไหน ยิ่งเราส่งเสริมให้เด็กแข่งขันก็ยิ่งบาปกรรม เพราะเด็กใสๆ มีความสุขอยู่ดีๆ ทันทีที่เข้าโรงเรียนก็มีปมว่าตัวเองสู้เพื่อนไม่ได้

 

เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเรียนรู้

ด้วยความที่เขาเป็นคนทำงานทางสังคมกลุ่มแรกๆ ในประเทศไทยที่ได้เรียนรู้การฝึกสติอย่างจริงจังเข้มข้น และทำงานกับนักกิจกรรมต่างประเทศที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ ทำให้เขามีโอกาสสัมผัสการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งสนุกสนานและชวนคิด โดยให้ครูและผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน รากฐานดังกล่าวทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากมายที่กลายมาเป็นหลักสูตรต่างๆ ของเสมสิกขาลัย จิตตปัญญาศึกษา เผชิญความตายอย่างสงบ กิจกรรมเยาวชน ฯลฯ ตามแต่เนื้อหาของหน่วยงานองค์กรนั้นๆ สนใจ

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพื่อนชาวพม่าชวนให้อาจารย์ประชาจัดทำหลักสูตรให้แกนนำชนเผ่าคะฉิ่น ในช่วงนั้นรัฐพม่าเริ่มเซ็นสัญญาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย พวกเขาอยากมีทักษะบางอย่างเพื่อจัดทัพคนทำงานฝ่ายประชาสังคมและมองไปข้างหน้าว่าสังคมที่เขาอยากอยู่ควรเป็นเช่นไร ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย นักเรียนพม่าชุดแรกจึงได้มาเรียนรู้ที่ไทย โดยมีแกนของหลักสูตรคือ 1. วิเคราะห์โครงสร้างสังคม 2. เรียนรู้ชีวิตภายใน คุณค่าความหมายของชีวิต และการภาวนา 3.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 4. ระบบนิเวศ 5. ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานพัฒนา

มาเรียนใหม่ๆ เขางงมาก ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองคนไทยรวยๆ ยังต้องไปซื้อของที่โรบินสันย่างกุ้ง ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในประเทศเขา แต่พอปิดประเทศไป บ้านเมืองเราดูพัฒนาไปมากมายมหาศาล แต่เราก็พาเขาไปดูสลัมและพัฒน์พงษ์ไปคุยกับคนที่ทำงานบริการทางเพศ เขาจึงได้เห็นว่าสังคมที่หรูหรานั้นอาศัยคนจำนวนมากที่ลำบากยากจนเพื่อหนุนให้มันดำรงต่อไปได้ เขาจะอยากเป็นแบบเราไหม

หลังจากนั้นเขาจัดหลักสูตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องให้นักพัฒนาชาวพม่าเกือบทุกชาติพันธุ์ และต่อมาขยายไปถึงชาวเขมรและลาว รวมถึงชาวจีนด้วย จนปัจจุบันสร้างกระบวนกรที่ทำงานในกระบวนทัศน์นี้ได้หลายคน และไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรในประเทศอังกฤษได้จัดอบรมเกี่ยวกับ Ecovillage Design Education ได้ชวนอาจารย์ประชาในฐานะผู้ก่อตั้งอาศรมวงสนิทไปร่วมสอนด้วยหลายปี การไปร่วมสอนและเรียนรู้ครั้งดังกล่าวทำให้เขารู้ชัดว่าหลักสูตรของทางยุโรปกับเอเชียนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เขาได้นำความรู้กลับมาปรับปรุงเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ขึ้นในชื่อ Awakening Leadership Training Program ซึ่งมีทั้งหมด 18 โมดูล (ชุดการอบรม) 5 กลุ่มวิชา ดังต่อไปนี้

:: กลุ่มวิชามิติทางสังคม ::

  1. สร้างชุมชนการเรียนรู้แห่งกัลยาณมิตร
  2. สัมพันธภาพกับการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยความกรุณา
  3. การสื่อสารด้วยความกรุณา

:: กลุ่มวิชามิติด้านโลกทัศน์ ::

  1. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของโลก
  2. เจริญสติพัฒนาภาวะการนำจากด้านใน
  3. นิเวศภาวนา : ค้นหาตนเองในธรรมชาติแห่งป่าเขา
  4. ศิลปะกับการค้นพบตนเอง
  5. เยียวยาปมชีวิตเพื่ออิสรภาพภายใน

:: กลุ่มวิชามิติทางระบบนิเวศ ::

  1. นิเวศวิทยาพื้นฐาน
  2. เทคโนโลยีทางนิเวศวิทยา
  3. นิเวศวิทยาเชิงลึก
  4. นิเวศวิทยาเพื่อออกแบบสังคมใหม่

:: กลุ่มวิชามิติทางเศรษฐศาสตร์ ::

  1. ประชาธิปไตยเชิงลึก
  2. เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงนิเวศ

:: กลุ่มวิชาทักษะกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ::

  1. การจัดตั้งชุมชนให้เข้มแข็งและการสร้างขบวนการเคลื่อนไหว
  2. ช้านั้นงาม : ภูมิปัญญาเชิงนิเวศจากวัฒนธรรมเอเชีย
  3. เยี่ยมเยือนชุมชนเชิงนิเวศ
  4. ฝึกนำอย่างมีสติและเพิ่มพลังอำนาจให้ผู้คน Training of Trainers

 

การเติบโต

อาจารย์ประชาไม่ได้สอนวิชาเหล่านี้ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่จากการอยู่กับนักศึกษามาทุกรุ่น เขาพบว่าผู้เรียนได้พบหมุดหมายบางอย่างในชีวิต มั่นใจในตัวเอง ไม่วิ่งตามกระแสโลก เข้าใจและห่วงใยสังคม หลายคนรู้ว่าศักยภาพของตัวเองคืออะไร ค้นพบว่าตัวเองทำอะไรแล้วมีความสุข กล้าทำในสิ่งที่อยากทำ และนำศักยภาพของตนมารับใช้สังคมต่อไป

ในฐานะที่เขาเป็นคนสอนและจัดทำหลักสูตรก็ได้เรียนรู้มหาศาล ในมุมของตัวเอง เขาพบว่าเมื่อใดกระบวนกรมีอัตตาเยอะ ผู้เข้าร่วมก็เรียนรู้น้อย แต่หากอัตตาน้อย การเรียนรู้มักได้ผลดี ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างครูนักเรียนมักเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ครูเป็นผู้กำอำนาจแห่งความรู้ แต่การเรียนรู้แบบใหม่นี้ผู้สอนไม่ต้องเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะครูและนักเรียนจะร่วมสร้างองค์ความรู้ด้วยกัน สิ่งที่ครูเชื่อว่าจริงจะเป็นเพียงสมมุติฐานของศิษย์ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

นอกจากนี้เขายังพบทฤษฎีการเรียนรู้หลายอย่าง อย่างแรกเขาพบว่าการตัดสินใจคือการศึกษา เพราะเราจะได้เติบโตจากการลองผิดลองถูก ยิ่งโตก็ยิ่งต้องตัดสินใจเรื่องที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นระบบการศึกษาปัจจุบันที่เน้นท่องจำ ไม่ให้เด็กคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองจึงเป็นทิศทางที่ผิดพลาดอย่างมาก

สอง เขาพบว่าความสัมพันธ์เป็นการศึกษา (หลักกัลยาณมิตร) ถ้าครูมีความรัก เด็กจะเรียนรู้ผ่านความรักในตัวครู เด็กไม่ได้เรียนรู้ความรักด้วยการท่องเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา เด็กเรียนรู้ที่จะแบ่งปันอำนาจจากการที่ครูแบ่งปันอำนาจให้เขา

สาม เขาพบว่าการใคร่ครวญตัวเองคือการศึกษา มนุษย์เติบโตจากการทบทวนชีวิต (หลักโยนิโสมนสิการ) ฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้จึงต้องให้มีพื้นที่ของการใคร่ครวญประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ที่แท้จริงจึงจะได้ผลดี

 

รักษาความสุขท่ามกลางสังคมแห่งความทุกข์

อาจารย์ประชาเห็นว่าคนทำงานภาคสังคมต้องหล่อเลี้ยงตัวเองให้มีความปกติสุข สำหรับตัวเขาเองใช้องค์ประกอบ 4 อย่าง ดังนี้ ความเข้าใจเรื่องสังคม ทำงานที่เราถนัด กัลยาณมิตร และการภาวนา

อย่างแรก เขาซึ่งเติบโตเป็นคนหนุ่มในยุคที่สังคมนิยมกำลังเฟื่องฟูเข้าใจประเด็นนี้ผ่านการอ่านและร่วมขบวนการเรียนรู้ พบว่าสังคมนิยมมีสองสายความเชื่อ ความเชื่อแรกเชื่อว่า จำเป็นต้องปฏิวัติและยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนรัฐ ความเชื่อที่สองเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องปฏิวัติ นอกจากไม่มีทางเลือกจริงๆ เพราะการปฏิวัติมักจะเกิดความรุนแรงและมักนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจ แต่ให้สังคมค่อยๆ เปลี่ยน อาจช้าหน่อยแต่ได้ผลที่ยั่งยืน เพราะรัฐเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น แต่เราจะขับเคลื่อนสังคมโดยอาศัยอำนาจรัฐอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสถาบันทางสังคมฝ่ายเสรีนิยมที่เข้มแข็งมาคอยคานอำนาจรัฐด้วย เช่น สื่อ ระบบการศึกษา เสรีภาพทางวิชาการ ภาคประชาสังคม เป็นต้น

ฉะนั้นการเปลี่ยนสังคมจึงไม่อาจเกิดขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เป็นการเดินทางที่ยาวนานและลดเลี้ยวเคี้ยวคด

สิ่งสำคัญคือระหว่างที่เรากำลังเดินบนทางเส้นนี้ เราแต่ละคนต้องรู้ว่าเราเป็นใคร เรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้แค่ไหน แม้ว่าเราจะตัวกระจิ๋วเดียว แต่จริงๆ แล้วเป็นกระจิ๋วที่สำคัญ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากกระจิ๋วหลายๆ กลุ่มที่ทำงานร่วมกัน แต่ละคนรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดีและขยับในส่วนของตัวเอง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดผลในทันที แต่เรารู้ว่าสิ่งที่ทำมันมีประโยชน์และเรามีความสุขที่ได้ทำ เราก็หล่อเลี้ยงความสุขตัวเองได้ ผมเชื่อว่าสังคมใหม่ที่ดีงามต้องเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ในหมู่คนทำงานเพื่อสังคมที่ดีงาม

นอกจากนี้อาจารย์ประชายังเห็นว่า ‘การภาวนา’ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเจอความทุกข์ในตัวเองและสังคม เราจะเครียดและวุ่นวายใจได้ง่าย แต่ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะพบความสุขเรียบง่ายที่ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องรอให้สังคมทั้งหมดเปลี่ยนแปลง

สำหรับผมตื่นมาแล้วได้ภาวนาสักชั่วโมงหนึ่งเหมือนได้กินน้ำเย็นขันใหญ่ๆ ไม่ได้แปลว่าเราดีวิเศษกว่าคนอื่น แต่เวลามีวิกฤติอะไรเกิดขึ้น ผมจะกลับมาที่ตัวเอง ใคร่ครวญ แทนที่จะตีโพยตีพาย แล้วเราจะตีกรรเชียงผ่านวิกฤตไปได้ เพราะตราบใดที่เราอยู่ในแดนปุถุชน เราเป็นผู้ฝึกใหม่ตลอดเวลา

 


สำหรับผู้สนใจหลักสูตร Awakening Leadership Training program เข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่

  • www.facebook.com/awakeningleadershipineb/
  • www.facebook.com/mindfulfacilitation/

(หมายเหตุ : มีทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยในปี 2560)

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save