ความสุขวงใน

ศรัทธาแห่งปัญญา มุ่งสลายอัตตา ภาวนาเพื่อสรรพชีวิต

‘พุทธทิเบต’ คำคำนี้อาจทำให้เรานึกถึงภาพทังกาสีสันสดใสซึ่งวาดพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ธงริ้วยาวสุดลูกหูลูกตา และตัวอักษรทิเบตที่ไม่คุ้นตา แต่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้มีชีวิตและจิตวิญญาณของพุทธศาสนาซ่อนอยู่ ซึ่ง รศ.ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล นักวิชาการด้านภาษาทิเบตได้ซึมซับรับรู้ เมื่อได้ฝึกปฏิบัติลงลึกก็เปลี่ยนแปลงตนเองจนเกิดศรัทธา และอยากนำหัวใจของพุทธทิเบตนี้เข้ามาสู่ประเทศไทย

ดังนั้นก่อนที่เราจะรู้จักกับพุทธทิเบต เราพึงเริ่มต้นรู้จักเธอคนนี้ อาจารย์กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ลูกพ่อค้าที่เกิดและเติบโตในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบได้เป็นตัวแทนยุวพุทธในโครงการ youth seminar on world religions เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาในต่างประเทศกับเพื่อนนานาชาติ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอสนใจเรื่องพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และได้พบเจอกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง จนได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอินเดียนน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และอยากเรียนภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาต้นกำเนิดของพุทธ แต่อาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรไม่อยู่ จึงย้ายไปเรียนภาษาทิเบตแทน นั่นทำให้เธอได้อ่านวรรณกรรมและคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายานทิเบตมากมาย หลังจากนั้นได้ทำงานวิจัยในพื้นที่ทิเบตและเนปาลมาอย่างต่อเนื่อง ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่เปี่ยมศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวทิเบต ได้ฝึกปฏิบัติและได้เดินทางจาริกแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจของเธอเปลี่ยนไปและเริ่มโหยหาชีวิตทางจิตวิญญาณ จนสุดท้ายเกิดปณิธานอยากนำจิตวิญญาณของพุทธทิเบตกลับมาเมืองไทย เธอจึงได้ก่อตั้งมูลนิธิพันดาราขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ซื้อที่ดินสำหรับสร้างสถานปฏิบัติธรรมในปี พ.ศ. 2549 และลาออกจากงานประจำซึ่งเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิพันดารา ผู้ริเริ่มสถานปฏิบัติธรรมศูนย์ขทิรวันและพระสันติตารามหาสถูปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ชีวิตของโยคินี

วันที่ตั้งใจลาออกคือวันที่ครูซื้อและโอนที่ดินให้มูลนิธิเรียบร้อย ครูนั่งอยู่บนที่ดินสถานปฏิบัติธรรมและรู้ว่าจะต้องลาออกแน่นอนเพราะถ้ายังทำงานจะไม่มีใครมาดูแลที่นี่ เราอยากเห็นที่นี่รองรับการปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่ เป็นสถานที่ให้คนได้เข้าถึงแก่นธรรม ครูอยากทำงานทางธรรมมากกว่าทางโลก ทำสองอย่างพร้อมกันไม่ไหว หลังจากนั้นครูก็ไปบอกทางภาควิชาว่าขอลาออก จะไปปฏิบัติธรรม

ปณิธานในการจัดตั้งมูลนิธิและก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมนั้นก่อตัวขึ้นในใจเธออย่างช้าๆ จนเมื่อได้เห็นคุรุท่านหนึ่งซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวย อาศัยอยู่กับคนจีน ลุกขึ้นมาสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อไม่ให้เด็กๆ ต้องเดินทางไกลไปโรงเรียน เมื่อหันกลับมามองตัวเองที่เรียนจบปริญญาเอกว่าเคยทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างหรือยัง ก็พบว่ามีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะทำเพื่อตัวเอง เรียนจบสูงๆ ก็เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

พอเราเห็นคนลำบากเพื่อช่วยคนอื่น มันหล่อหลอมความสนใจที่ลึกซึ้งว่าคนทิเบตเขาสอนอะไรกันคนถึงได้เห็นแก่ตัวน้อย ประกอบกับครูได้ไปทิเบต รู้ภาษาทิเบต มีเครื่องมือพร้อมที่จะเอาจิตวิญญาณของพุทธทิเบตมาเมืองไทย ถ้าครูไม่เอาเข้ามา ความประทับใจนั้นก็จะอยู่กับตัวครูแค่คนเดียว จึงมีปณิธานที่จะเอาวิถีที่เปลี่ยนตัวครูนี้มาสู่คนไทย ครูได้เห็นพลังศรัทธาของชาวทิเบตที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ว่าเป็นมหายานหรือเถรวาท แต่เป็นพุทธศาสนาที่จะอยู่รอดในสังคมสมัยใหม่ เพราะถ้าไม่มีศรัทธาเราจะเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายซึมเศร้า ขาดที่พึ่งทางใจ จึงคิดว่าศรัทธาแบบทิเบตน่าจะช่วยได้ และเราต้องมีสถานที่เกื้อหนุนสิ่งเหล่านี้

นับจากวันนั้นถือเป็น 10 ปีของการอุทิศให้ชีวิตทางธรรมเมื่อถามว่าผู้หญิงทำสิ่งนี้เพียงคนเดียวลำบากไหม เธอตอบในทันทีว่าลำบาก เพราะชีวิตที่ผ่านมาเธอเป็นแค่นักวิชาการที่ถนัดทำงานฟัง พูด อ่าน เขียน แต่เมื่อต้องมาสร้างสถานปฏิบัติธรรมในป่าจึงถือเป็นบททดสอบที่ท้าทาย ประหนึ่งไข่แดงที่ต้องกระโดดออกมาจากเปลือกไข่เพื่อเป็นลูกเจี๊ยบ แต่ก็ดีวันดีคืน มีคนเกื้อกูลสนับสนุน มีเงินจากงานวิจัยและบำนาญหล่อเลี้ยง ในปีหลังๆ เธอทำงานในฐานะพนักงานของมูลนิธิฯ มีจิตใจที่มั่นคงมากขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักบวชหญิงก็ตาม

ครูไม่ได้วางแผนว่าต้องเป็นคุรุในเครื่องแบบ แค่ขัดเกลาตัวเองเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ พอปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็พบว่าศักยภาพภายในสำคัญที่สุด ถ้าเรารักษาตรงนี้ได้ เราจะเป็นอะไรก็ได้ คุรุทิเบตมีลักษณะภายนอกแตกต่างกัน แต่จิตภายในกระจ่างใส มีสตรีทิเบตคนหนึ่ง บางทีเหมือนเจ้าหญิง บางทีเหมือนขอทาน บางครั้งเหมือนหญิงบ้าเร่ร่อน แต่ก็เป็นคุรุยิ่งใหญ่ ละอัตตาตัวตนหมดสิ้น ครูได้แรงบันดาลใจจากคุรุเหล่านี้ ทำให้ไม่ยืดรูปแบบใดๆ แล้วรูปแบบที่ดีที่สุดจะปรากฏแก่เราเอง

 

พุทธมหายานแห่งธิเบต

พุทธทิเบตที่อาจารย์กฤษดาวรรณ ฝึกปฏิบัติอยู่เรียกว่า ‘วัชรยาน’ แต่เธอชอบเรียกว่า ‘พุทธมหายานแห่งธิเบต’ มากกว่า เพราะเธอพบว่าหัวใจของพุทธทิเบตคือการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีทัศนคติพื้นฐานอย่างแรกคือ สรรพสิ่งทุกอย่างล้วนบริสุทธิ์ เราไม่จำเป็นต้องรอนิพพานเพื่อจะเห็นดินแดนพุทธเกษตร เพราะโลกที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้คือพุทธเกษตรที่ประเสริฐ วัชรยานจึงมีดวงตาเหมือนนกอินทรีย์ที่มองลงมายังโลกแล้วมองเห็นทุกสิ่งยิ่งใหญ่ มองแบบองค์รวมและไม่แบ่งแยก

ทัศนคติพื้นฐานอย่างที่สองคือ การมองชีวิตทุกชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานว่าล้วนมีศักดิ์ศรี มีจิตเดิมแท้ที่ในอนาคตจะเป็นพุทธเจ้าทั้งนั้น ทุกครั้งที่ไหว้กันและกันจึงฝึกไหว้ศักยภาพที่จะเป็นพุทธะ ไม่ได้ไหว้เพราะวัยวุฒิหรือคุณวุฒิ

ทัศนคติอย่างที่สามคือ ผู้ฝึกฝนจะมองครูบาอาจารย์ว่าบริสุทธิ์ผ่องแพ้ว เลือกมองส่วนที่ยิ่งใหญ่ของท่านที่ช่วยให้เราเข้าถึงพระธรรม และไม่มองส่วนเสียที่เป็นมนุษย์ปุถุชน

ถ้าเรามองท่านเป็นมนุษย์ เราก็ได้รับพรจากมนุษย์ ถ้ามองว่าท่านเป็นนักธุรกิจ ก็เหมือนเราทำธุรกิจกัน ถ้ามองว่าท่านเป็นหมาชราตัวหนึ่ง เราก็รับพรจากหมา ฉะนั้นทัศนคติของเราจึงสำคัญ สิ่งนี้ต้องมาก่อน เราต้องปรับทัศนคติเพื่อสร้างจุดเริ่มต้นของการภาวนา ถ้าเราจะเอาทัศนคติแบบโลกๆ ไปทำภาวนา สมาธิจะไม่เกิด นอกนั้นการปฏิบัติของทิเบตก็เหมือนเถรวาท คือมีศีล สมาธิ ปัญญา

นอกจากนี้การฝึกปฏิบัติเพื่อ ‘สลายอัตตาตัวตน’ ยังถือเป็นเรื่องใหญ่และมีวิธีการหลากหลาย การปฏิบัติหนึ่งในนั้นคือการกราบหรือการเดินภาวนารอบภูเขาหรือพระสถูป เพราะเวลาที่เราเดินหรือกราบมากๆ เราจะเหนื่อย เบื่อ และอยากเลิก สิ่งเหล่านี้คืออัตตาที่ต้องก้าวข้าม เวลาที่อัตตาเกิดขึ้น อาจารย์กฤษดาวรรณแนะนำให้เราไม่ต้องคุยกับอัตตา แต่ตั้งมั่นในศรัทธาที่เราปรารถนากราบตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เมื่อเราเดินหรือกราบเช่นนี้อัตตาจะไม่มีที่อยู่ จนวันหนึ่งอัตตาก็จะเลิกคุยกับเรา วันนั้นตัวเราก็จะเบิกบาน ใจเบา ใจกว้าง

วันแรกที่ครูเดินทางไปกราบที่ทิเบต ครูเห็นผู้ชายสามคนต้องเดินด้วยรองเท้าที่ตัดจากยางรถยนต์เพราะรองเท้าพัง หน้าตาก็ดำขะมุกขะมอม เราก็ถามตัวเองว่าเราจะเป็นอย่างนี้หรือ อาจารย์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอก เราต้องเจอสภาพแบบนี้ หน้าเราจะเละไหม สักพักก็คิดว่าทำไมถึงกลัวล่ะ คนที่อยากมากราบคือเราเอง เราจะแคร์ทำไม พอคิดแบบนี้ใจก็สบาย ไม่กลัว ไม่คิดต่อไปอีก จนเช้าวันที่ออกกราบ แรกๆ ก็กังวลเรื่องระยะทาง ความเจ็บปวดทางกาย พอถึงวันที่สามก็มีแต่ความเบิกบาน เป็นการกราบจงกรม กราบด้วยใจที่เบา

 

ศรัทธาแห่งปัญญา

การที่จะสลายอัตตาตัวตนได้นั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือพลังศรัทธา ซึ่งคือพลังแห่งความเชื่อมั่น เราต้องไม่สงสัยในการปฏิบัติ ไม่ว่าแบบฝึกจะคืออะไรก็ตาม

คนสมัยใหม่ประณามคำว่าศรัทธา เราจะคุ้นกับการทำสิ่งที่รัก หรือที่เรียกว่า ‘ฉันทะ’ แต่ฉันทะอย่างเดียวไม่พอ เราอาจจะท้อ จึงจำเป็นที่เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำด้วย ความเชื่อมั่นเป็นมากกว่าความรัก แต่เป็นความมั่นใจในวิถีที่เราจะเดิน เราเชื่อมั่นในพุทธเจ้า เชื่อว่าท่านจะไม่ทอดทิ้งเราในช่วงที่ตกต่ำที่สุด ถ้าเรามีความเชื่อมั่นเราจะมีแรง และไม่ว่าทำอะไรก็จะมีความสุข

ศรัทธาดังกล่าวมีพื้นฐานจากปัญญา ถ้าไปวัดแล้วประทับใจบทสวดมนต์ พระอาจารย์ หรือวิถีการปฏิบัติ ถือว่ายังเป็นศรัทธาที่ผิวเผิน แต่ถ้าเราศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้ง เข้าใจว่าทำไมถึงสอนแบบนี้ ทำแล้วได้ผลลัพธ์อย่างไร ศรัทธานี้ก็จะยกระดับไปที่เนื้อหาแก่นธรรม และถ้าเราฝึกฝนจนมีประสบการณ์ เราตอบโจทย์ในใจได้ว่าปฏิบัติเพื่ออะไร เราหันหลังให้ชีวิตที่เต็มไปด้วยกิเลส วันใดที่ชีวิตเป็นแบบนั้น จึงถือว่าศรัทธาแห่งปัญญาในตัวเราได้ฉายแสง

ชาวทิเบตอยู่กับพลังศรัทธาแบบนี้ ศรัทธาแห่งปัญญาไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา ชาวทิเบตที่ไม่มีการศึกษาตอบได้ว่าไปกราบเพราะอะไร เขากราบเพราะชาตินี้เขามีกายมนุษย์อันประเสริฐ เขาขอให้ใช้กายนี้เพื่อบรรลุธรรม หรือใช้กายนี้เพื่อปฏิบัติให้พ่อแม่ นี่คือศรัทธาที่ยิ่งใหญ่

 

ภาวนาเพื่อสรรพชีวิต

เมื่อถามถึงเป้าหมายของการฝึกในสายมหายานคืออะไร อาจารย์กฤษดาวรรณมองว่าสิ่งที่เธอทำไม่ต่างกับการฝึกเป็นหมอ หากนับว่าคนทุกข์คือผู้ป่วยคนหนึ่ง แต่ละคนก็ต้องการยาขนานที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่เธอทำคือการฝึกเป็นหมอแพทย์แผนทิเบต เธอต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งอ่านหนังสือ ฝึก ผ่าตัด สอบครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเป็นหมอที่สมบูรณ์เพื่อวันหนึ่งจะช่วยคนได้มากมาย

การภาวนาจึงไม่ใช่เพื่อตัวเรา วิถีมหายานเราอุทิศตัวเองเพื่อคนอื่น แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำเพื่อตัวเอง ไม่นั่งสมาธิเลย เรานั่งสมาธิ เราอยู่กับตัวเอง เพื่อให้เราเก่ง จะได้ช่วยคนอื่น มนุษย์ทุกคนต่างมีความทุกข์ บางคนอาจต้องการยาแก้ความทุกข์ขนานหนึ่ง แต่อีกคนอาจจะต้องการยาแก้ความทุกข์ที่ชื่อพุทธวัชรยาน ถ้าเรามีความรู้ มียา แต่ไม่ให้ยา เราก็เป็นหมอที่บกพร่อง เมื่อก่อนตอนเป็นอาจารย์ ครูจะเลี่ยงไม่เจอนักศึกษา เพราะบางทีก็ไม่อยากช่วยเขา แต่ทุกวันนี้ครูไม่วิ่งหนีคนไข้ พยายามให้เวลากับเขา แต่ครูต้องสร้างสถานพยาบาล ทั้งพระสถูปและสถานปฏิบัติธรรม ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน ตัวครูอาจจะไม่ต้องอยู่ แค่เขาเห็นยอดพระมหาสถูปแล้วอาจจะเปลี่ยนใจ ไม่ฆ่าตัวตาย

เช่นเดียวกับการออกไปจาริกแสวงบุญที่เขาไกรลาส ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากเนื่องจากต้องจ่ายทั้งค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าขอใบอนุญาต ค่าอาหารที่พัก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวหรือความสุขส่วนตัว เพราะภูเขาไกรลาสเป็นสถานที่ที่ครูบาอาจารย์ทั้งวิถีพุทธและวิถีอื่นๆ มาเดินเพื่อสลายอัตตาตัวตน เราไปเพื่อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมและยอมรับความยากลำบากทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ไปเพื่อเจริญโพธิจิต ขอเป็นตัวแทนนำพาสรรพสัตว์อื่นไปด้วย ฉะนั้นทุกการปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรที่เป็นไปเพื่อตัวเราเองเลย

ครูคิดว่าสังคมโลกโหยหาจิตวิญญาณที่แข็งแกร่งแบบนี้ จิตวิญญาณแบบนี้จะทำให้โลกรอด คนจะไม่เห็นแก่ตัว ความรักความกรุณาจะเกิด เราจะเรียกวิถีการปฏิบัติว่าอะไรก็ตาม แต่สิ่งนี้สำคัญ
– อาจารย์กฤษดาวรรณทิ้งท้าย

 

กิจกรรมของพันดารา

ปัจจุบันศูนย์ขทิรวันเปิดให้ผู้ปฏิบัติมาร่วมภาวนาได้ 7 ปีแล้ว มีหลักสูตรต่างๆ ให้เรียนรู้มากมาย เช่น เตรียมตัวตายอย่างมีสติ ภาวนา ‘ทงเลน’ เพื่อละอัตตา ภาวนา ‘พุทธวัชรยาน’ ‘เซ็มทรี’ หนทางแห่งจิตเดิมแท้ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ใช้เวลาอบรม 3 วันเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจและการปฏิบัติ หากอยากฝึกปฏิบัติลงลึกก็สามารถต่อด้วยหลักสูตรภาวนา ‘เงินโดร’ ในสายอาทรี ซกเช็น


นอกจากนี้มูลนิธิพันดารายังจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ แพทย์แผนธิเบต จาริกแสวงบุญที่ภูเขาไกรลาศ และกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ หากท่านสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

facebook : มูลนิธิพันดารา The Thousand Stars Foundation (www.facebook.com/1000tara)

website : http://thousandstars.org/

email : 1000tara@gmail.com

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save