ความสุขวงใน

รู้ใจ รู้กาย สิ่งเรียบง่ายสู่ความสุขที่แท้จริง

‘ดูจิต ดูใจ’ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน คำนี้หลายครั้ง แต่ก็ยังสงสัยซ้ำๆ ว่ามันคืออะไร ดูอย่างไร และเพื่ออะไร คำอธิบายของผู้ชายคนนี้อาจจะช่วยคลี่คลายคำถามเหล่านั้นได้ แม้ว่าเขาไม่ใช่อาจารย์ธรรมะ ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ แต่ประสบการณ์การภาวนาในฐานะฆราวาสตั้งแต่วัยหนุ่ม การลองผิดลองถูก ล้มๆ ลุกๆ จนได้เจอหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ช่วยชี้นำ ก็ค่อยๆ เกิดความเข้าใจในการภาวนา นำไปสู่ความเข้าใจในชีวิต

สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อายุ 52 ปี เป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานหลวงพ่อปราโมทย์มาจนถึงปัจจุบัน ในวัยหนุ่มเขาเกิดความทุกข์ชนิดที่ ‘น้ำตาตกใน’ จากเรื่องความรัก ทุกข์ตามภาษาวัยรุ่นครั้งนั้นทำให้เขาเริ่มหาทางออก แล้วก็สะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่งของพระอาจารย์พุทธทาสที่ชื่อว่า ‘เกิดมาทำไม’ เมื่อได้อ่านก็จับใจความได้ว่า ‘คนเราจะเกิดมาเพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติ เท่านั้นหรือ ทั้งที่จริงแล้วผู้ที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยังมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ สิ่งนั้นก็คือการมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์’ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจธรรมะ และอ่านหนังสือของพระอาจารย์พุทธทาสเรื่อยมา พยายามหาครูบาอาจารย์ เพียรนั่งสมาธิ เดินจงกรมหลายปี แต่ก็ไม่เคยนิ่งสงบดังที่คาดหวัง จนสุดท้ายได้เจอกับหลวงพ่อปราโมทย์ในเว็บบอร์ด ‘ลานธรรม’ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นฆราวาสที่ช่วยเขียนและตอบปัญญาธรรมะ

ผมอ่านวิธีการของท่านแล้วรู้สึกสบายๆ เพราะผมทำมาอย่างเคร่งเครียด เวลาไม่สงบก็พยายามบังคับกดข่มจิตให้สงบ ท่านบอกให้ ‘รู้’ มีอะไรเกิดขึ้นแค่รู้ทันจิตไป

หลังจากนั้นเขาก็ลองส่งอีเมลไปถามถึงวิธีปฏิบัติเมื่อตนเองโกรธ ปกติเขาจะครุ่นคิดหาเหตุผลว่าทำไมโกรธ เพราะอยากเลิกโกรธแล้ว ท่านก็ตอบว่าวิธีนี้ผิด เพราะพยายามเอาชนะกิเลสด้วย ‘ความอยาก’ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์แบบหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพ้นทุกข์จากการสร้างเหตุแห่งทุกข์ ท่านบอกให้ ‘รู้และดูจิต’ แม้ว่าในตอนนั้นเขาจะยังไม่เข้าใจในทันที แต่คำตอบก็ช่วยให้โล่งใจและหายเครียดได้ชั่วคราว จึงหาโอกาสไปเจอหลวงพ่อปราโมทย์ ท่านบอกว่าเขายังรู้สึกตัวไม่เป็น ต้องรู้สึกตัวให้เป็นเสียก่อน ขณะที่นั่งฟังท่านสอนคนอื่น เขาก็ภาวนาอย่างเคร่งเครียด พยายามไม่ให้จิตคิดไปไหน

ท่านบอกว่า ‘นี่เพ่งไปแล้ว’ ผมก็รู้สึกว่าอาการที่บีบบังคับจิตตัวเองไม่ให้คิดคือการเพ่ง แต่พอไม่บังคับ มันก็ฟุ้ง คิดไปนู้นไปนี่ ท่านก็หันมาบอกว่า ‘นี่เผลอไปแล้ว’ ผมก็รู้สึกว่า นี่คืออาการของจิตที่เผลอ

จากการรู้จักสภาวะ ‘เพ่ง’ และ ‘เผลอ’ ทำให้เขาได้ใช้หลักการนี้เจริญสติภาวนาเรื่อยมา จนหลวงพ่อปราโมทย์บอกว่าเริ่มรู้สึกตัวเป็นแล้ว ต่อไปให้เจริญสติปัฏฐานเอา แต่ด้วยความไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร จึงอาศัยการรู้ว่าเพ่งและเผลอเป็นหมุดหมายในใจขณะเฝ้าสังเกตตนเอง จนสุดท้ายจึงได้รู้ว่าการรู้ทันกายรู้ทันใจไปเรื่อยๆ นี่เองที่คือการภาวนา

 

ภาวนาคืออะไร

‘ภาวนาคืออะไรฉันถามอาจารย์สุรวัฒน์ตามประสาคนซื่อ และเขาก็ตอบในทันทีว่าการภาวนาในแนวทางพุทธมีสองเส้นทาง ทางแรกชื่อ ‘สมถะ’ มุ่งหมายให้จิตสงบ จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง รับรู้อารมณ์เดียวจนเกิดความสงบในที่สุด เช่น รู้ว่าหายใจเข้าและออกต่อเนื่องจนเกิดความสงบ อีกเส้นทางคือ ‘วิปัสสนา’ มุ่งหมายให้จิตเห็นความจริง ยอมรับไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เมื่อจิตเห็นและยอมรับได้จึงจะเรียกว่ามีปัญญา เมื่อไหร่ที่มีปัญญาเต็มพร้อมบริบูรณ์คือพ้นทุกข์หรือนิพพาน

แต่การจะ ‘วิปัสสนา’ ได้ เราต้องมีจิตตั้งมั่นหรือ ‘สมาธิ’ เสียก่อน คำว่าสมาธิไม่ได้หมายถึงความสงบอย่างที่เรามักจะเข้าใจผิดกัน ในการปฏิบัติธรรม ‘สมาธิ’ หมายถึง คุณภาพของจิตที่มีความตั้งมั่น ไม่ไหลไปตามรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ เมื่อจิตพร้อมจะวิปัสสนา เราจะเห็น ‘กาย’ กับ ‘จิต’ ทำงานคนละส่วนกัน จิตที่มีสมาธินั้นทางหนึ่งเกิดจากการทำสมถะ แต่หากมีจริตที่ทำสมถะไม่ได้อย่างต่อเนื่อง อาจารย์สุรวัฒน์ก็แนะนำให้ปฏิบัติอีกทางคือ ตามรู้ทันกาย รู้ทันใจตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อหลง ลืม หรือไหลไปกับเรื่องใดก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวและจิตใจในปัจจุบันขณะ เมื่อจิตมีกำลังมากพอ สุดท้ายก็จะทำวิปัสสนาได้เอง

เวลาเรามีจิตตั้งมั่น เวลาที่เราเดิน เราจะรู้เลยว่าร่างกายที่เดินเป็นสิ่งที่จิตของเราไปรับรู้ หรือเวลามีกิเลสในใจ เราก็รับรู้มันจนสุดท้ายกิเลสมันก็ดับให้เราเห็นจะๆ เลย เพราะจิตทุกชนิดเกิดเพื่อดับไป พอเห็นการเกิดดับแบบนี้ไปเรื่อยๆ จิตก็จะเกิดปัญญาว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง

การภาวนาเช่นนี้ทำให้จิตของเราเรียนรู้ความจริงผ่านการ ‘เห็น’ ครั้งแล้วครั้งเล่า อาจารย์สุรวัฒน์บอกว่าเราพึงทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพ้นทุกข์หรือเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ ไม่เว้นแต่ตัวเขาเองที่ยังต้องทำอยู่ทุกวัน

 

ภาวนาแบบคนไม่บวช

ในฐานะที่ใช้ชีวิตฆราวาส อาจารย์สุรวัฒน์มีครอบครัวเช่นคนทั่วไป มีงานต้องรับผิดชอบ เขายืนยันว่าการเป็นฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมได้ เพราะพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทิ้งครอบครัว หากเราออกบวชโดยที่คนในบ้านต้องเดือดร้อน จิตใจเราจะไม่สงบสุข ข้อดีของการปฏิบัติในฐานะฆราวาสคือเรามีโอกาสได้เจอกิเลสต่างๆ มากมายและบ่อยครั้ง และข้อเสียคือเราอาจจะไม่ได้ทำต่อเนื่องอย่างที่ควร

การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้นทำได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เวลาจะทำอะไรก็ให้ตามรู้ทันกายใจของตัวเอง เช่น เวลาขับรถก็ให้รู้สึกว่ามีร่างกายขับรถ เพราะหลายครั้งเราอาจเผลอคิด อ่านป้ายโฆษณา ร้องเพลง หรือมองอะไรสักอย่าง ส่วนช่วงเวลาที่ปฏิบัติได้ยากคือช่วงที่ต้องทำงานที่ใช้ความคิดหรือการอ่าน เพราะจิตจำเป็นจะต้องเข้าไปอยู่กับเรื่องราวที่คิดหรืออ่านมากกว่ารับรู้กายใจของตัวเอง แม้ว่าเราอาจจะอ่านได้อย่างเข้าใจทะลุปรุโปร่งหรือคิดจนงานผลิดอกออกผล แต่ในส่วนของการปฏิบัติธรรม เรากำลังขาดสติ ขาดการรับรู้ร่างกายและจิตใจของเรา ซึ่งก็ไม่เป็นไรหากเป็นงานที่เราจำเป็นต้องทำ

ในการปฏิบัติธรรมเราจะขาดสติอยู่เรื่อย ทันทีที่รู้ว่าเมื่อกี้เผลอไปก็กลับมามีสติมาดูกายและใจของตัวเองได้อีกครั้ง เช่น ถ้านั่ง ก็รู้ว่าร่างกายกำลังนั่ง ถ้าใจมันอยาก ก็รู้ว่าใจอยาก เราทำแบบนี้ทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ

นอกจากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราควรมีเวลาประมาณ 15-30 นาทีต่อวันเพื่อปฏิบัติธรรมในรูปแบบ โดยจะใช้กรรมฐานใดก็ได้ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน สวดมนต์ พุท-โธ ทำจังหวะ ฯลฯ เพื่อให้เกิดจิตที่ตั้งมั่น มีสมาธิ และเจริญปัญญาได้

 

ความสุขใดๆ ในโลกล้วนหลอกลวง

สุขในโลกนี้มันหลอกลวง แต่มันมีความสุขอีกแบบที่เรายังไม่รู้จัก พุทธเจ้าบอกว่าเมื่อเราพ้นทุกข์ เราจะเจอสภาวะที่เป็นสุขที่แท้จริง คือไม่เป็นทุกข์อีกเลย ไม่ว่าร่างกายเราจะเจ็บป่วยทรมานแค่ไหนก็ตาม

อาจารย์สุรวัฒน์กล่าวราวกับมองเห็นขอบฟ้าอันแสนไกลนั้นแล้ว พลางอธิบายต่อไปว่า ไม่ว่าความสุขจากการกินอาหารอร่อย ได้เจอคนที่รัก ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียง หรือแม้แต่ความสุขสงบ ทั้งหลายล้วนเป็นความสุขที่ไม่ถาวร ไม่นานก็หายไป ความสุขทางโลกนี่เองที่เป็นเหยื่อล่อให้เราทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มันมา หากเราไม่ปฏิบัติธรรมเลย เราอาจจะเผลอทำผิดศีลเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่อยากได้ แต่หากเราปฏิบัติธรรม เราจะรู้ว่า ‘ความสุข-ความทุกข์’ ในใจเรานั้นแปรผกผันอยู่ในใจเรานี่เอง

จริงๆ ความสุขความทุกข์แบบโลกๆ มันสัมพัทธ์กันนะ ที่เราบอกว่าทุกข์มากคือสุขน้อย ที่เราบอกว่าสุขมากคือทุกข์น้อย ถามว่าทุกข์ไหมมันทุกข์อยู่ แต่เรามองไม่เห็นว่าขณะที่ดิ้นรนหาความสุขมันมีความทุกข์อยู่ในนั้น

การภาวนาจะช่วยให้เราเหนื่อยกับการดิ้นรนหาความสุขน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นไรกับความทุกข์ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง และความควบคุมไม่ได้ที่เกิดขึ้นเสมอทั้งในใจ ในกาย และสิ่งรอบๆ ตัว ฉะนั้นยิ่งโลกผลิตเหยื่อล่อที่ชื่อว่า ‘ความสุข’ มาให้เราเสพมากเท่าไหร่ สติของเราก็ต้องยิ่งเท่าทันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 


หากท่านสนใจศึกษาการเจริญสติในแนวทางของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช สามารถติดตามได้ที่

website : http://www.dhamma.com/

facebook :

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save