ความสุขวงใน

สายใยความสุขในองค์กรแห่งการรับฟัง

พนักงานอาจจะไม่ได้คิดอย่างที่เราคิด

คำบอกเล่าของคุณณรงค์ ออศิริชัยเวทย์ CEO (ประธานบริหารสูงสุด) บริษัทยงเจริญศูนย์เครื่องเขียน ธุรกิจค้าส่งเครื่องเขียนของคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่คู่เมืองไทยมายาวนานกว่า 50 ปี โดยเติบโตมาในย่านสำเพ็ง ไชน่าทาวน์บางกอก
และยังยืนหยัดต่อสู้ modern trade (ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่) อย่าง Office Mate หรือ makro ได้

รับฟังเสียงเล็กๆ ดั่งโพธิสัตว์สดับรับฟัง

‘การรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน’ เป็นระบบที่พบได้ในทุกยุคทุกสมัย ทั้งองค์กรใหญ่และเล็กแต่จะมีสักกี่บริษัทที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม คุณณรงค์เล่าให้ฟังว่าเมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัว คนมากขึ้น กลับพบว่าพนักงานไม่มีความสุข ทางผู้บริหารเองก็พยายามตั้งข้อสังเกต จนได้มีโอกาสคุยกับพนักงานคนหนึ่งที่ลาออก

เรากล้าที่จะคุยเพราะเขาไม่ได้ลาออกไปทำงานที่อื่น เพียงแต่ต้องการจะกลับบ้าน เพื่อไปดูแลคุณพ่อคุณแม่ เขาก็เล่าว่าเราควรจะเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้นะพี่ เราก็อ๋อ…เราไม่ได้มองในมุมที่พนักงานมองเลย แต่จริงๆ เราก็พยายามมองอยู่ แต่ไม่ได้มองลึกลงไปขนาดนั้น เราถึงเพิ่งรู้ว่าพนักงานอาจจะไม่ได้คิดอย่างที่เราคิด

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงบริษัท โดยเริ่มจากปรับปรุงสถานที่ทำงาน ทำให้ที่ทำงานไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่เพื่อทำงานเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แล้วก็นึกถึงบริษัทในฝัน ที่คนอยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุดอย่างบริษัท google ซึ่งปรับปรุงสถานที่และสร้างบรรยากาศในการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความคิดใหม่ๆ บรรเจิด บริษัท google มีพื้นที่ให้พนักงานได้งีบหลับ บริษัทยงเจริญฯ ก็มีเช่นเดียวกัน และดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ที่ถูกอกถูกใจพนักงานกันมากเลยทีเดียว

พัฒนาองค์กรผ่านสายใยความสุข

จากฐานของการรับฟังและการมองว่าพนักงานทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ปัญหาของพนักงานคือปัญหาของบริษัท เมื่อพนักงานมีความสุข ก็ย่อมช่วยพัฒนาบริษัทให้เติบโต เหมือนสายใยความสุขที่หล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน นั่นจึงทำให้การปรับปรุงบริษัทครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานด้วย

เราจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเงินในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานแต่สำคัญมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้จากการผ่อนข้าวของเครื่องใช้ หรือหนี้บัตรเครดิต สำหรับคนที่มีเครดิตดีเพื่อนแนะนำว่าไว้ใจได้ เราก็ช่วยทำรีไฟแนนซ์ (รับโอนหนี้) ให้ไปหลายคน เพราะดอกเบี้ยเดิมที่เขาจ่ายสูงถึง 20% เราคิดดอกเบี้ยเพียง 1.5% เพื่อให้เขารู้ว่ามันยังเป็นภาระอยู่

เรามักไม่ค่อยเห็นผู้บริหารที่เอาตัวเองเข้าไปยุ่ง เข้าไปช่วยแก้ปัญหาส่วนตัวของพนักงาน แต่สำหรับคุณณรงค์เมื่อเห็นโอกาส และความเป็นไปได้ที่จะทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น…ก็ไม่รอช้าที่จะทำ วิธีการนั้นก็น่าสนใจมากทีเดียว ไม่ได้กระโจนเพื่อเข้าไปช่วยปลดหนี้ทั้งหมด ทำให้นึกถึงต้นไม้ใหญ่ ที่คอยประคับประคองต้นกล้าเล็กๆ เหล่านั้นให้ร่มเงา ความชุ่มชื้น บังลมฝน เพื่อให้เขาได้ค่อยๆ เติบโตเอง

 

จากคุณภาพชีวิตสู่คุณภาพใจ

เสียงจากพนักงานที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ พนักงานร้องขอให้มีการใส่บาตรในตอนเช้า ถือเป็นความโชคดีของพนักงานบริษัทยงเจริญฯ ที่ผู้บริหารตอบรับการร้องขอ จึงจัดให้นิมนต์พระมารับบิณฑบาตในตอนเช้า ส่งเสริมให้มีการทำวัตรสวดมนต์ ไปจนถึง ‘โครงการลาไปปฏิบัติธรรมได้ปีละครั้ง’

ช่วงแรกที่มีโครงการไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าธรรมอุทยาน (วัดหลวงพ่อกล้วย) จ.ขอนแก่น คนสนใจเป็นจำนวนน้อย จนต้องตั้งเป็น KPI (ตัวชี้วัด) ว่าระดับผู้จัดการต้องไปปีละครั้ง” คุณณรงค์กล่าวเปรยๆ แต่กลับพบว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล “ระดับผู้จัดการพอเขาได้ไป และพบว่าได้อะไรมากกว่าที่คิด ก็กลับมาเล่าให้ลูกน้องฟัง มันเหมือนเป็นการสื่อสารจากพวกของเขาเอง ไม่ได้มาจากบริษัท พอรอบต่อๆ ไป คนก็มาลงจนเต็มตลอดทั้งปี จนปีต่อมาเราก็เอาเกณฑ์นี้ออกจาก KPI ได้ เปิดปุ๊บเต็มปั๊บไม่ต้องบังคับแล้ว

คุณณรงค์เล่าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้มบางๆ

จากการได้ฟังคุณณรงค์บอกเล่าเรื่องราวของยงเจริญฯ ทำให้เราเห็นถึงความเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้มองเพียงเรื่องการตลาด หรือผลประกอบการของบริษัทเท่านั้น หากยังมองเข้าไปถึงผู้คนของเขา ว่าจะเติบโตไปด้วยกันได้อย่างไร รับฟังตั้งแต่เรื่องคุณภาพชีวิตไปจนถึงเรื่องคุณภาพใจ เขาอาจจะไม่ได้เข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงผู้คนโดยตรง แต่กลับมีวิธีการที่ชาญฉลาดในการใช้การบริหารจัดการแบบ Soft Side (การบริหารด้านจิตใจ) หรือครูบาอาจารย์เข้าไปช่วยแทน

ธุรกิจต้องเดินหน้าได้ด้วยตัวเอง

เราถือโอกาสถามต่อว่า ‘ในเมื่อตอนนี้มีการจัดการทางกายภาพที่ดีขึ้นแล้ว อีกทั้งมีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจของพนักงานแล้ว ระยะต่อไปมีการวางแผนไว้อย่างไรบ้าง’ คุณณรงค์ยิ้มพร้อมตอบกลับมาว่า

ระยะต่อไปคือเขาจะต้องสามารถทำกันเองได้ทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งแล้ว ตอนนี้เหมือนกับว่าเราจะต้องคอยดูคอยป้อนบ้างบางงาน ถ้าสุดท้ายเขาทำอย่างนั้นได้เมื่อไรก็ใช้ได้ ถือว่าจบหลักสูตร เราก็ไปดูเรื่องอื่นต่อ

คุณณรงค์ตอบโดยไม่ต้องคิดมาก ทำให้เราเห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการสร้างองค์กรอย่างยั่งยืน

รางวัลแด่คนที่รักกัน

ในการขยายธุรกิจ อนาคตคงมีการเปิดสาขาเพิ่มเติม โดยเราให้สิทธิ์สำหรับคนที่อยู่กันมานานแล้ว เกษียณและมีเครดิตดี เพื่อให้พนักงานที่อยู่กับเรามั่นใจและเห็นอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น

เป็นการวางแผนระยะยาวให้กับทั้งพนักงานและองค์กรเอง ถือเป็นการขอบคุณแบบไม่ต้องใช้คำพูด สร้างค่านิยมให้คนรักองค์กรได้อย่างยั่งยืน

ไม่แปลกใจว่าทำไมบริษัทยังสามารถต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนาในตลาดนี้ได้ ไม่เพียงแต่สร้างผลกำไรเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของพนักงาน แต่ยังมี ‘ความสุขวงใน’ ที่สร้างผลกำไรทางใจ คอยหล่อเลี้ยงผู้คนให้เติบโต ดั่งหัวใจของโพธิสัตว์ที่พร้อมจะสดับรับฟัง แผ่ร่มเงาแก่เพื่อนมนุษย์ ทำให้เราเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นองค์กรตัวอย่าง ที่คอยส่งมอบสิ่งดีๆ ให้สังคมต่อไป

บริษัทยงเจริญศูนย์เครื่องเขียน ตั้งอยู่ในซอยรองเมือง 2 (พระราม 6 ซอย3) แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีบริการส่งและจำหน่ายเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์ศิลป์ อุปกรณ์สำหรับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์กีฬา เปิดบริการทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-18.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02-216-2888 หรือ แฟกซ์. 02-216-5489, 02-216-1333 และสามารถเข้าเยี่ยมชมอุปกรณ์เครื่องเขียนทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซด์ www.yongcharoen.com

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save