8 ช่องทางความสุข

โรงเรียนแปลงผักอินทรีย์ (ตอนที่ 2)

“การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาต้องมาจากการศึกษาเรียนรู้ แต่เราอย่ามองว่าการศึกษามีแต่ที่โรงเรียนเท่านั้น จริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากการทำงานและการใช้ชีวิต”
บาทหลวง ผศ.ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา

11238972_1592115617725358_7217243597941952045_n

ทุกเช้าวันอังคาร ที่วัดนักบุญอักแนส จ.ราชบุรี เจ๊มะ เจ๊แจ๋ว พี่วีระ จะไปรวมกันที่ห้องทำงานของคุณพ่อวุฒิชัย อ่องนาวา เจ้าอาวาสวัดนักบุญอักแนส ทั้ง 3 คนจะใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงในการประชุม ปรึกษาหารือเรื่องการทำแปลงผักเกษตรอินทรีย์ร่วมกับคุณพ่อวุฒิชัย ก่อนที่ต่างคนจะแยกย้ายกันกลับไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมายตลอดสัปดาห์ แล้วจึงกลับมาพูดคุยปรึกษากันอีกครั้งในสัปดาห์ต่อไป

“ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าที่แต่ละคนจะเปิดใจคุย” คุณพ่อวุฒิชัยเล่าถึงกระบวนการพัฒนาลูกทีม “พยายามบอกเขาว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมีคุณค่าต่อสังคม ใช้วิธีให้แต่ละคนสังเกตว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แบ่งปันวิธีแก้ไขด้วยกัน รับฟังกันและกัน ความสุขเกิดขึ้นตั้งแต่ตรงนั้น ด้วยบรรยากาศการพูดคุยที่เคารพความเป็นคน เคารพสิทธิเสรีภาพในกันและกัน ซึ่งระบบวัตถุนิยมจะไม่เป็นแบบนี้ วัตถุนิยมจะลดคุณค่าความเป็นคน ให้เหลือเพียงแค่มีรถกี่คัน มีบัญชีเท่าไร

AN2

ชีวิตเกษตรกรในวิถีเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งเจ๊มะ เจ๊แจ๋ว และพี่วีระ ตลอดชีวิตที่รู้จักการทำเกษตร คือการพึ่งพาสารเคมี เมื่อต้องมาเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด ทำให้บางครั้งก็ออกอาการท้ออย่างช่วยไม่ได้

“แรกๆ คิดจะเลิกนะ มันยาก ไม่เข้าใจ บางทีฉีดสมุนไพรใส่ผัก ถ้าผิดนิดเดียวผักไม่น็อค ใบก็ไหม้ทันตาเห็นเลย ปัญหามันเยอะมาก แล้วแรกๆ ปลูกก็ไม่ค่อยได้ผลผลิต เราก็เหนื่อย นึกในใจจะทำไปทำไม ทำแล้วก็เหนื่อยเปล่าๆ” พี่วีระ ตาบู๊ หนุ่มปกากะญอ ทีมงานคนแรกของโครงงานพัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารเคมี ชุมชนคาทอลิก นักบุญอักแนส เปิดใจถึงช่วงแรกในการทำงาน

11825741_1621278741475712_19992349715608094_n

โชคยังดีที่ความผูกพันระหว่างเพื่อนร่วมทีม รวมถึงคุณพ่อวุฒิชัยที่อยู่เคียงข้างลำบากไปด้วยกัน ทำให้ทุกคนค่อยๆ ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากไปได้โดยไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน เมื่อย้อนกลับไปคิด แต่ละคนจึงพบว่า พวกเขาล้วนมีผักที่ปลูกเป็น ‘ครู’ ผู้สอนสุขภาวะทางปัญญา ให้เขาได้เรียนรู้เข้าไปในจิตใจของตนเอง

“ช่วงปลูกผักเป็นเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง ทบทวนถึงสิ่งที่เราทำ อย่างบางครั้งทะเลาะกัน เราก็มาทบทวนตัวเราว่าเราผิดไหม คุยกับตัวเองระหว่างทำงานไป” เจ๊แจ๋ว – เพยาว์ ยนปลัดยศ เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากแปลงผัก “เราก็คิดได้ว่าเราต้องใจเย็นนะ ต่างฝ่ายต้องพึ่งพากัน เหมือนเวลาปลูกผัก ทำไมต้นหนึ่งมันถึงรอด อีกต้นทำไมมันไม่รอด เพราะมันอยู่ที่ตอนเราเก็บต้นอ่อนเขาขึ้นมา ถ้าเราดึงแบบไม่สนใจคนปลูก อยากดึงแบบไหนก็ดึง ดึงมาแบบรากฝอยไม่ติด เอามาปลูกมันก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นคนเก็บก็ต้องคำนึงถึงคนปลูกด้วย

“กว่าจะปลูกไถ เตรียมดิน หว่าน บางครั้งสั่งคนอื่นทำ เขาไม่ทำเราก็หงุดหงิดแล้ว หรือเขาทำไม่ได้ดั่งใจเราก็โกรธ มันทำให้เราได้ฝึกจิตใจเราด้วยนะ” เจ๊มะ – คำขวัญ รอดธง สะท้อนถึงความรู้สึก “พวกเราก็เหมือนต้นผัก ถ้าต้นไหนเอาทั้งรากทั้งโคนมาปลูก มันก็จะงดงาม ใจเราก็เหมือนรากเหมือนโคนต้นผัก เราต้องคิดดี ทำจิตใจให้ดี ชีวิตก็จะเจริญงอกงาม

11870698_1627193817550871_1516792504760342398_n

ด้วยจิตใจที่เบิกบานจากการได้เรียนรู้ ทำให้เจ๊มะ เจ๊แจ๋ว พี่วีระเกิดความเปลี่ยนแปลง พวกเขาเริ่มมีรอยยิ้มสดชื่น รับมือกับความทุกข์ในชีวิตด้วยความรู้สึกที่ดีกว่าเดิม

“คนเราถ้าตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว” คุณพ่อวุฒิชัยอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกทีม “เขาจัดการความทุกข์ได้ดีขึ้น รับได้ ยิ้มได้ คือความทุกข์ไม่ได้เปลี่ยน แต่มุมมองในการมองความทุกข์เปลี่ยนไป”

ความเปลี่ยนแปลงของคนกลุ่มเล็กๆ 3 คน กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านอีกหลายบ้านในชุมชนเริ่มสนใจวิถีเกษตรอินทรีย์ หลายคนเดินเข้ามาเรียนรู้ แล้วกลับไปเริ่มต้นทำเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้าน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อีกหลากหลายชนิด จนในที่สุดเกิดเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนว่า ‘ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ชุมชนเกษตรสีเขียว ชุมชนเกษตรแบ่งปัน’

11709533_1613631055573814_8630576522860944553_n

“ผมว่าตอนนี้ผมเห็นคุณค่าของการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีนะ ถ้าตอนนี้ให้ลาออกแล้วไปปลูกผักแบบใช้สารเคมี ผมก็รับไม่ได้แล้วนะ มันเหมือนกับเดินทางคนละเส้นกัน มันไม่สนิทใจ” พี่วีระประกาศจุดยืนด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ

11016082_1559798880957032_7993313509526126445_n

ไม่น่าเชื่อว่าแปลงผักอินทรีย์จะกลายเป็นโรงเรียนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนทั้งชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่ยั่งยืนเลย ถ้าเราผู้บริโภคไม่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนพวกเขา ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ถึงตอนนี้ขอให้ถามใจตัวเองว่า ซื้อผักครั้งหน้าจะตัดสินใจเลือกผักที่ความสวย โดยไม่สนใจความปลอดภัย หรือจะเลือกผักอินทรีย์ปลอดสารเคมี ที่หล่อเลี้ยงด้วยหัวใจที่น่าทึ่งจากเกษตรกรอย่างเจ๊มะ เจ๊แจ๋วและพี่วีระกันแน่

ขอขอบคุณ : โครงงานพัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารเคมี ชุมชนคาทอลิก นักบุญอักแนส สนับสนุนโดย สสส.

 

การทำงาน

การศึกษาเรียนรู้

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save