เมื่อเด็กทารก ต้องกลายมาเป็นครูสอนเด็กนักเรียน

picture20
ผมเพิ่งทราบว่า ตอนนี้พอเด็กไทยบางคนอายุได้สัก 2 ขวบ
ก็ต้องก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางของการเรียนเสียแล้ว
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นมันยังเป็นระบบการศึกษาที่ค่อนข้างบ้าเลือด
แข่งกันเรียนแข่งกันรู้เรื่องราวในตำรา
แต่ไม่ได้แบ่งกันเข้าใจความเป็นไปของชีวิต อย่างที่มนุษย์ตัวเล็กๆ ควรจะได้เข้าใจ
 
นี่คือสิ่งที่คนตัวน้อยได้เรียนรู้จากคนตัวใหญ่
มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
ในชีวิตนี้พวกเขายังจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากผู้อาวุโสกว่า
แล้วถ้าลองสลับโลกเล่น ให้เด็กๆ ได้เปลี่ยนมาเรียนรู้จากทารกบ้าง ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
 
แมรี่ กอร์ดอนมีคำตอบ
เธอตั้งองค์กรที่ชื่อ Roots of Empathy ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2539
เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เด็กทารกสามารถสอนเด็กวัยรุ่นได้ว่า การเป็นมนุษย์คืออะไร
 
หัวใจสำคัญของโครงการนี้ก็คือ
การนำเอาเด็กทารกและผู้ปกครองเข้ามาในห้องเรียนของเด็กชั้นอนุบาลถึงม.2
เพื่อให้เด็กทารกทำหน้าที่เป็นครูสอนเด็กนักเรียน
อาจารย์ที่ได้รับการอบรมมาแล้วจะสอนให้นักเรียนได้สังเกตพัฒนาการของทารก
สังเกตการแสดงออกทางอารมณ์แบบต่างๆ ของทารกวัย 2-4 เดือน ไปจนจบปีการศึกษา ซึ่งทารกจะมีอายุราว 1 ปี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กจะมีการเติบโตและพัฒนาการอย่างมาก ทำให้นักเรียนสังเกตเห็นพัฒนาการได้ง่าย
นักเรียนต้องช่วยกันชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และจดบันทึกไว้
นักเรียนต้องช่วยกันสังเกต แสดงความเห็น และสรุปว่าทารกกำลังรู้สึกอย่างไร
ในขณะที่พวกเขาพยายามจะเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของทารก
มันก็ทำให้พวกเขาเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
ยิ่งพวกเขาเข้าใจเรื่องอารมณ์ของตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นเท่านั้น
นักเรียนจึงเริ่มอ่อนโยนกับคนอื่นมากขึ้น มีความเป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้างมากขึ้น
แกล้งเพื่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจน้อยลง จนความก้าวร้าวในตัวนักเรียนลดลงอย่างมาก
นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ทารกสอนนักเรียนได้อีกมากมาย

หลักสูตรนี้ยังเน้นการสร้างความรับผิดชอบในระยะยาว
เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีความรับผิดชอบ เป็นพ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบ
น้องๆ นักเรียนได้เห็นว่า ทารกนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาพ่อแม่มากแค่ไหน
นั่นทำให้พวกเขาได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในโลก
เห็นถึงความสำคัญของความรัก การดูแลเอาใจใส่ และความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ที่มี

และมันยังเป็นบทเรียนที่สอนเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี
ในด้านหนึ่งพวกเขาได้เห็นถึงความสุขของการเป็นพ่อคนแม่คน
แต่อีกด้าน ก็ได้เห็นความรับผิดชอบอันแสนจะนักหนาในการดูแลชีวิตอีกชีวิต

พ่อของทารกจะได้พูดถึงความรู้สึกของการได้เป็นพ่อคน
และได้แสดงให้เห็นถึงความรักความผูกพันกับลูกตลอดเวลา
สิ่งนี้เองที่ทำให้นักเรียนชายได้เข้าใจพ่อของเขาดีขึ้น
เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลูกชายกับพ่อมักจะไม่ค่อยสนิทกันมากนัก
เนื่องจากแทบไม่มีโอกาสเลยที่ผู้ชาย 2 คน 2 วัยจะได้เปิดใจคุยกันหมดเปลือกเรื่องความรักความผูกพัน
การที่นักเรียนได้เห็นและได้ฟังพ่อของทารกพูดถึงความรู้สึกเลยทำให้เขาเข้าใจพ่อของพวกเขาดีขึ้น
 
หลักสูตรนี้เน้นเรื่องความหลากหลาย
พ่อแม่และทารกที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลาย
ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และท้องถิ่นซึ่งมาจากทั่วแคนาดา
เด็กจึงเห็นว่า ความรักมันไม่มีพรมแดน และเมื่อต้องสังเกตชีวิตเล็กๆ อย่างทุกซอกทุกมุม
ได้ทำความรู้จักกับนิสัยใจคออย่างละเอียด
ก็ทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะชื่นชมลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน ทั้งความคิดและความเชื่อที่แตกต่าง
 
ผลสำเร็จอย่างงดงามจากวิธีคิดที่แสนจะง่ายทำให้ Roots for Empathy
และแมรี่ กอร์ดอน ได้รับการยกย่องนานารูปแบบจากทั่วโลก
ตอนนี้หลักสูตร Roots for Empathy ถูกนำไปใช้ใน 133 โรงเรียนทั่วแคนาดา
ทั้งในเมือง ต่างจังหวัด ในชุมชนอันห่างไกล หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม
แล้วมันก็ยังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังโรงเรียนในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาด้วย
 
การเรียนการสอนเรื่องเทคโนโลยีให้เด็กๆ เป็นเรื่องที่ดี
แต่การเรียนรู้ชีวิตก็ไม่น่าละเลย
 
คงเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้าลูกหลานของเราจะโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ราวกับอัจฉริยะ
แต่ว่ากลับเข้าใจเรื่องความรู้สึกและอารมณ์
เท่าทารก

credit : http://www.lonelytrees.net/?p=158

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save