ความสุขวงใน

สวรรค์บนดิน สวรรค์ในใจ

เราเป็นลูกชาวไร่ชาวนา ที่ได้เห็นสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อเทียบกับทุกวันนี้ ก็เหมือนกับสวรรค์ เราเห็นสวรรค์ตรงนั้น แล้ว 40 ปีต่อมาเราอยู่กับนรก เราจะอธิบายให้คนรุ่นหลังฟังได้อย่างไร เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นป่าและธรรมชาติที่สมบูรณ์
– ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งมหาชีวาลัยอีสาน

หรือพ่อครู เริ่มเล่าให้ฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย ราวกับภาพเมื่อครั้งเยาว์วัยกลับมาแจ่มชัดตรงหน้าอีกครั้ง

ตื่นเช้ามา น้ำหมอก น้ำค้าง ลอยเต็ม เราเดินแล้วเย็นชื้นเลย มีดอกไม้ป่า มีนกบินเต็มท้องฟ้า ลมมาลูกไม้ก็ปลิวว่อน เห็ดโคนขึ้นเต็มไปหมด จนเดินเตะเล่น เราจึงเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เพราะธรรมชาติดูแลเรา สมัยนั้นไม่มีปุ๋ย ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีรถแทรคเตอร์ สภาพแวดล้อมอลังการมาก พริกขี้หนู มะเขือพวงขึ้นเอง จากที่นกกินแล้วกระจายพันธุ์ เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล คำว่า ‘แห้งแล้ง’ ไม่มี ใช้ควายไถนา เพราะความที่มันชุ่มชื้น ดินร่วน จึงเหมือนปลูกพืชบนปุ๋ยหมัก เพราะกิ่งไม้ใบไม้ทับถมกัน ไก่ป่า ห่านป่า กระต่ายป่าก็มีให้เห็น ปลาในแม่น้ำเยอะเหมือนฟาร์มเลี้ยงปลา สมัยนั้นมีเพียง ช้าง ม้า เกวียนเป็นพาหนะ วิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นสะท้อนถึงชีวิตที่เอื้ออาทร แบ่งปัน และร่วมแรงร่วมใจกัน ราวกับทุกคนเป็นญาติกัน จะตัดต้นไม้แต่ละครั้งก็ดูตามความจำเป็นที่จะนำมาใช้งาน และตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับไม้นั้นๆ ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนสำหรับตัดต้นไม้หนึ่งต้น สมัยนั้นปลูกพืชแค่พอได้กินได้ขาย เกษตรกรยุคนั้นจึงมีเงินส่งลูกเรียน

ปลูกป่าวันนี้ เห็นป่าในอนาคต

ภาพที่เห็นเปลี่ยนไปเร็วมากภายในไม่กี่ปี หลังจากงานเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเข้ามา ต้องใช้พื้นที่เยอะ จึงเกิดการตัดป่าขนานใหญ่ พอฝนตกลงมาก็ชะหน้าดินที่เคยเป็นปุ๋ยหายไป พ่อครูเคยถามเตี่ยว่าทำไมถึงเลือกที่ดินตรงนี้ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในละแวกนั้น เป็นที่กันดารที่สุด ฝนตกลงมาก็กักเก็บน้ำไม่ได้ เพราะเป็นดินทราย ทำไมไม่เลือกที่ต่ำๆ ที่มีน้ำซับ เตี่ยตอบว่า สมัยนั้นปุ๋ยสูงจมท้องม้า จึงต้องเลือกพื้นที่สูงเพื่อทำการเกษตร

แต่พอมาถึงเรา เหมือนกับเขาหัวโล้น เพราะป่าไม้เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นพลังธรรมชาติ จุลินทรีย์ทำให้พืชพรรณธรรมชาติเจริญเติบโต เมื่อต้นไม้ถูกตัดไป ดินก็แห้ง จุลินทรีย์ก็อยู่ไม่ได้

เราปลูกป่าวันนี้ เราเห็นป่าในอนาคต ไม่อย่างนั้นเราจะทำได้รึ

พ่อครูปลูกป่าอย่างเดียวบนเนื้อที่ 600 ไร่ ในปี พ.ศ. 2523 ด้วยใจมุ่งมั่นจะคืนผืนป่าให้กับแผ่นดินเกิด ต้นไม้ที่ปลูกมียางนา มะค่า พะยูง ยูคาลิปตัส เป็นต้น โดยปลูกยูคาลิปตัสอย่างเดียว 300 ไร่ ขณะที่ในสมัยนั้นคนต่อต้านไม้ยูคาลิปตัส จนเกือบจะถูกเผาป่าทิ้ง แต่พ่อครูเรียนรู้เรื่องต้นไม้ด้วย โดยหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นไม้ เพื่อทำให้เกิดรายได้ ไม่ใช่ว่าปลูกป่าเพื่อตัดไม้ขายเพียงอย่างเดียว จึงเกิดการเลียนแบบธรรมชาติ โดยการปลูกป่า 5 ระดับ คือ สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน ใต้ดิน

ในหลวงบอกตลอดเวลาว่า ให้พึ่งตนเอง ให้พอเพียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความตั้งใจมหาศาล แต่พอทำแล้วมันจบ มีแต่ความเจริญขึ้นๆ เพราะต้นไม้ไม่เคยขี้เกียจ ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้ 100 ปี ยิ่งนานยิ่งเพิ่มมูลค่าและคุณค่า

จากไม้ยูคาลิปตัส สู่ถ่านไบโอชาร์

เมื่อต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้โตพอจะขายได้แล้ว กลับไม่มีคนซื้อ ในที่สุดโรงงานผลิตกระดาษมาซื้อ แต่ตัดเฉพาะขนาดที่เขาต้องการ จึงมีไม้ยูคาลิปตัสเหลืออยู่เกลื่อนสวน พ่อครูจึงนำมาเผาเป็นถ่าน โดยใช้วิธีลองผิดลองถูกด้วยตัวเองประดิษฐ์คิดค้นเตาเผาถ่านจนสำเร็จหลังจากที่พยายามทำมา 7 ปี แต่ส่งขายญี่ปุ่นได้เพียงครั้งเดียว เพราะหาเรือขนส่งยากและถูกกดราคา เนื่องจากถ่านติดไฟเวลาสีกัน เตาเผาถ่านจึงถูกทิ้งร้างมา 10 ปี จนปี พ.ศ. 2558 มีเรื่องถ่านไบโอชาร์เข้ามา พ่อครูจึงพัฒนาเตาที่มีอยู่ให้เป็นเตาเผาถ่านไบโอชาร์ได้สำเร็จ และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสุรนารี ช่วยพัฒนาถ่านไบโอชาร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจึงได้ถ่านไบโอชาร์เพื่อเป็นคอนโดของจุลินทรีย์

ทำให้ดู อยู่ให้เห็น คิดให้เป็น

40 ปีที่ผ่านมา จากที่ปลูกป่าโดยไม่มีความหวังอะไร พ่อครูได้พบกับความรู้ใหม่เกี่ยวกับต้นไม้อย่างชัดเจนจากการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้รู้วิธีปลูก นิสัยใจคอของต้นไม้ การเลือกพันธุ์ไม้ การจัดการป่าไม้ การแปรรูปไม้ เช่น ทำเครื่องเรือน สร้างบ้าน ทำถ่านไบโอชาร์ และทำปุ๋ย

ชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาตินั้นมีแต่ความเจริญ ความงดงาม ไม่มีเรื่องเสื่อมเสียใดๆ ไม่มีมลภาวะ การยึดธรรมชาติเป็นหลักถือว่าถูกต้อง มาถึงตอนนี้ เราจะทำให้เห็นว่า แต่ละพื้นที่ แต่ละชนิดพันธุ์ไม้นั้นมีคุณค่า มีความหมาย มีวิธีการปลูก มีวิธีการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมได้อย่างไร และมาบอกต่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า การเลือกพันธุ์ไม้ที่ดี โตแค่ 8 ปีก็เอามาสร้างบ้านได้ เป็นไม้เนื้อแข็งอย่างดี

นอกจากนี้พ่อครูยังได้พัฒนาเป็นแปลงเพาะ แปลงปลูก แปลงแม่ไม้ และกำลังนำไม้ที่ปลูกเองมาสร้างบ้านในพื้นที่สวนป่าให้ได้เห็นกันจริงๆ

เพราะเข้าถึง จึงแบ่งปัน

จวบกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่พ่อครูได้รับคือ ความงดงาม ความเบิกบานภายในใจ ที่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตเติบโต เจริญขึ้นๆ จากการทำเกษตรผสมผสาน จึงได้เห็นความอลังการของธรรมชาติ จากต้นไม้อายุ 1 ปี 2 ปี 3 ปี…30-40 ปี

ถ้าทำถูกเราจะได้รับผลที่มีแต่ความเจริญเติบโต ดีงาม ดินดี อากาศดี สภาพแวดล้อมดี ตรงกันข้าม ถ้าทำแบบไม่ใส่ใจธรรมชาติ ดินก็เสื่อม โรคเยอะ สารเคมีเยอะ แห้งแล้ง ไม่คุ้มทุน ทำแบบทำลายตัวเอง ไม่มีอาชีพอะไรสนุกเท่ากับการปลูกต้นไม้ ตื่นขึ้นมาแต่ละวันจะเห็นความเจริญ เห็นดอกไม้ เห็นผลไม้ เห็นอุทยานสวนครัว มี อีกา นก กระรอก มาจิกกินกัน ถือเป็นโอกาสเลี้ยงเพื่อนร่วมโลกอีกด้วย ถ้าเข้าถึงอานุภาพของธรรมชาติ ไม่มีอะไรสู้ได้ ชีวิตจะมีความหมาย มีคำตอบ จุดอ่อนหายไป ธรรมชาติจัดการให้หมด    มันเป็นความสุขที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ เป็นความสุขที่ถาวร เติบโต อิ่มเอิบใจไปเรื่อยๆ

ฝากถึงคนรุ่นใหม่

ปีนี้เจอวิกฤตของธรรมชาติชัดมาก คนที่อยู่ป่าจริงๆ จังๆ ถึงจะรู้ว่า ทำไมต้นไม้ที่เคยออกดอก แล้วไม่ออกดอก เคยมีเมล็ดแล้วไม่มี เมล็ดหล่นมา เคยงอกแล้วไม่งอก ทำไมต้องนั่งปลูกเอง ถึงปลูกก็โตช้า ตายเยอะ ถ้าจะเอาป่าคืนมาต้องใส่ใจ เข้าถึงและเข้าใจจิตวิญญาณของธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติ จึงจะสำเร็จได้ ยุคใหม่จะปลูกต้นไม้ต้องปลูกเหมือนไม้ผล คือ ต้องเลี้ยงกล้าเมล็ด ขุดหลุม ใส่ปุ๋ยธรรมชาติ ถ่านไบโอชาร์ น้ำส้มควันไม้ มีระบบน้ำหยด ภาคเกษตรต้องทำตามที่ในหลวงบอก คนถึงจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข มั่นคง และยั่งยืน ตำราของพ่อหลวงเป็นตำราที่ดีที่สุดในโลก เพราะไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อโลกทั้งโลก

ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า

ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ

เฉกเช่นเดียวกัน

ถ้าธรรมชาติไม่กลับมา โลกาวินาศ

เพราะธรรมะ ก็คือธรรมชาติครับ

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save