ความสุขวงใน

สุขยิ่งกว่าได้รางวัลคานส์

บททดสอบจากเบื้องบนของนักครีเอทีฟหนุ่มมือรางวัลผู้มีความคิดสร้างสรรค์และมองโลกสวยอยู่เสมอ เมื่อวันหนึ่งแว่นสีชมพูของเขากลับกระเด็นหล่นลงกับพื้น และค้นพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเขาจะตอบสนองกับบททดสอบนี้อย่างไร

กอล์ฟ นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ครีเอทีฟหนุ่มนักโฆษณาแถวหน้าของประเทศผู้กวาดรางวัลคานส์ในสาขาภาพยนตร์โฆษณามาแล้วนับสิบ ชีวิตเพียบพร้อมและประสบความสำเร็จ มีมุมมองการใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์มีครอบครัวที่น่ารักเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานและมักเรียกเสียงหัวเราะจากคนรอบข้างเสมอ แต่แล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ระหว่างที่เขาทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินงานประกวดอยู่ที่อเมริกา และได้ทราบข่าวการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทย เขารู้สึกโหวงๆ อย่างประหลาด กอล์ฟใส่ชุดดำทุกวัน จิตตก รู้สึกเครียดจากงานระคนร่วมด้วย…

เมื่อเขากลับมาเมืองไทย วันหนึ่งเขาล้มตัวนอนอยู่บนสนามหญ้าหน้าบ้านเกิดคำถามขึ้นในใจว่า

ชีวิตคืออะไร เขามีชีวิตเพื่ออะไร เขามีชีวิตอยู่ทำไม ไม่มีอะไรที่เขารู้สึกตื่นเต้นหรืออยากรู้อีกแล้ว

พลันสายตาก็หันไปมองพ่อแม่ ลูก และภรรยา และคิดว่าสักวันพวกเขาก็ต้องตาย ลูกเขาต้องโตขึ้นไปอยู่ในระบบแข่งขันอย่างที่เขาอยู่ และอีกหลายคำถามถาโถมเข้ามาในสมองเขาจมดิ่งไปกับความคิด…ช่วงเวลานั้นเขาเริ่มรู้สึกไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากกินอะไร ไม่อยากมีชีวิตอยู่

เวลาไปทำงานต้องทนฝืนยิ้มนำเสนองานให้ตื่นเต้นเร้าใจ แล้วด้วยหน้าที่จึงต้องนั่งฟังทุกคนเสนอความคิดเห็นระดมสมองกัน ในขณะที่หัวของผมมีแต่ความคิดลบๆ เข้ามา แต่ผมหยุดทำงานไม่ได้ ผมมีภาระครอบครัวและงานที่ต้องรับผิดชอบ มันทรมานที่อาชีพผมต้องใช้ความคิด คือถ้าผมต้องไปใช้แรงงานยังจะดีกว่า

กอล์ฟเริ่มทนไม่ได้ แล้วจู่ๆ เขาก็ลองค้นคำว่า ‘depression’ ใน google และได้เจอบทความหนึ่งที่บอกถึงข้อบ่งชี้ในการเป็นโรคซึมเศร้า ปรากฏว่าเขาติ๊กถูกทุกข้อ ไม่อยากกินอาหาร เบื่ออาหาร เบื่อสังคม เบื่อโลก ไม่มีความหวัง ไม่อยากจะไปเจออนาคต หรือสิ่งที่เคยสนใจก็กลับไม่อยากทำ เบื่อถึงขั้นเบื่อตัวเอง

ผมรู้เลยว่า ผมเป็นโรคซึมเศร้า แต่ผมยังดีใจที่ผมรู้ทันเวลา

กอล์ฟตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล คำตอบที่เขาได้รับคือ

คุณเป็นโรคซึมเศร้า ประเภท adjustment disorder คือพวกที่สูญเสียคนในครอบครัวหรืออกหัก ซึ่งมันจะหายไปเองใน 6 เดือน
แต่หมอก็ต้องจ่ายยาด้วยเพราะเขาทำงานไม่ได้

ด้วยความที่คุณกอล์ฟเป็นครีเอทีฟ นักโฆษณา เขามักจะมีมุมมองที่แปลก แตกต่าง รวมถึงสมมุติฐานข้อนี้ที่ทำให้เราฟังแล้วถึงกับอึ้ง

พระพุทธเจ้าท่านเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าไม่ใช่ ท่านไม่หาหนทางดับทุกข์หรอก คือมันขัดกันมากๆ ที่ท่านรวยมากๆ แล้วออกจากวังมาเจอคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย บนถนน กอล์ฟว่าท่านช็อค แล้วเป็น adjustment disorder หมายถึงภาวะการปรับตัวไม่ทัน ว่าจริงๆ แล้วโลกเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราก็เป็น เหมือนที่แว่นสีชมพูหล่นลงกับพื้น แล้วท่านก็ไปบำเพ็ญ เพ่งกสิณ เพ่งไฟ ตามหลักที่มีมาก่อน ทำทุกแบบจนท่านพบอริยสัจ 4 สติปัฏฐาน 4 ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี คือพอท่านเป็นโรคซึมเศร้า ท่านก็ไปทำทุกวิธี แต่วิธีที่ทำให้ท่านหายได้คือการเจริญสติ

เขาเล่าว่า การนั่งสมาธิที่ผ่านมา 10 ปี กลับไม่ได้ช่วยเขาจากโรคนี้เลย มันทำให้เขาไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ และพบว่าที่ผ่านมาเขาทำแต่สมถะกรรมฐาน เพ่งอยู่ที่ลมหายใจ แต่ที่เขาไม่รู้จักเลยคือวิปัสสนากรรมฐานหรือการเจริญสติ คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม จากเมื่อก่อนที่ชอบนั่งสมาธิเพราะสงบ แต่พอออกไปทำงานปุ๊บ หงุดหงิดก็มี กลัวก็มี แล้วก็รอแต่เวลาจะกลับบ้านเพื่อใช้การนั่งสมาธิหลีกหนีเข้าสู่โหมดสงบ เลยคิดว่าทางนี้ไม่น่าจะใช่ แต่สุดท้ายก็ว่ามันเป็นขั้นเป็นตอนของมัน เราต้องเคยนั่งสมาธิมาก่อน ทำสมถะกรรมฐาน แล้วมาเจริญสติ ถึงจะเข้าใจและเห็นระดับการตื่นรู้ของตัวเอง

ผมใช้การเจริญสติเพื่อบำบัดไม่ใช่อยากจะบรรลุธรรม มันต้องรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าไม่ทำอย่างนั้นผมอยู่ไม่ได้ มันจะโหวงๆ ไง คุณเคยรู้สึกโหวงๆ เหมือนตอนยืนอยู่บนที่สูงๆ แล้วมองลงไปข้างล่างบ้างไหม…ผมรู้สึกอย่างนั้นตลอดเวลา

แปลกมากที่ตื่นเช้ามาทุกวันเขาจะรู้สึกอย่างนั้นทุกเช้า แต่พอ 6 โมงเย็นจะหาย เขาเคยคิดในใจถ้าเอาเงินทองแลกได้ เขาอยากจะแลกเพื่อให้ได้ชีวิตสันติสุขเหมือนก่อนกลับมา เพราะมันทรมานมาก มันทำให้เขาทำงานไม่ได้

แล้วคุณหมอคนนี้เหมือนพระเจ้าส่งมา บอกกับผมว่า อย่าไปคิดมากนะครับ มันคืออาการ ความคิดไม่ใช่เรา แล้วเราก็ไม่ใช่ความคิดนะ กลับมารู้สึกตัวนะ หมอก็ไม่ใช่สายพุทธนะ แต่นี่เป็นการรักษาของจิตแพทย์ และรูปแบบการคิดลบของโรคนี้อย่างแรกคือ ‘โลภ’ คืออยากหาย ลุ้นเมื่อไหร่จะหายจากโรคนี้ ต่อมาคือ ‘ต้าน’ คือการไม่ยอมรับที่คุณเป็นโรคนี้ ไม่เอาๆ อยากจะสะบัดทิ้ง ทำไมต้องเป็นโรคนี้ เมื่อไหร่กูจะหาย และสุดท้ายคือ ‘หลง’ พวกที่ฆ่าตัวตายสำเร็จก็เพราะหลง หลงคิดว่าถ้าชีวิตนี้ไม่หายจากโรคนี้ก็ไปเสียดีกว่า เพราะแต่ละวันมันทรมานเหลือเกิน เป็นครั้งแรกที่เข้าใจประโยคนี้ ‘ความคิดไม่ใช่เรา’ เป็นครั้งแรกที่เจอจริงๆ ไม่ใช่อ่านจากหนังสือแล้วคิดว่า อ๋อ ความคิดไม่ใช่เรา

หลังจากที่กอล์ฟใช้วิธีเจริญสติสักพัก

ผมเริ่มพูดแล้วได้ยินเสียงตัวเอง เริ่มรู้สึกถึงเนื้อเสียงตัวเองว่าเป็นอย่างไร เริ่มเห็นตัวเองกระพริบตา เอาเฮ้ย พอทำอย่างนี้แล้วอาการมันทรงตัว แล้วต้องทำอย่างนี้อยู่ 5 เดือนตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ มันเป็นธรรมะจัดสรรนะ เลยเข้าใจ พอไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม อ๋อ…อ๋อเลย พอความคิด ความกังวล จิตตก มันเข้ามา เราเริ่มเอ็นดูมันละ มันก็ขยันมาจังเลยนะ เริ่มเห็นว่ามันเป็นความคิด แล้วมันก็ค่อยๆ หาย มันเจอกระบวนการรักษาตัวเองว่า ‘อย่าอยากหาย’ สลัดความอยากทิ้ง มันหายเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น มันคือการปล่อย รู้สึกดีนะ เริ่มตกผลึกเอง เริ่มกะเทาะเปลือก…หรือเรายึดมั่นถือมั่นวะ เรายึดมั่นถือมั่นกับชีวิตที่รอเสียงปรบมือนี่หว่า ทำงานอย่างหนักแถบตายเพื่อรอเสียงปรบมือ อยากให้ลูกค้าชอบ อยากให้ผู้กำกับทำหนังออกมาดี เพื่อที่จะได้ไปแชร์ในเฟสบุ๊ค มันเหมือนเมื่อก่อนเราเล่นเซนต์เซย่า พอวันหนึ่งเราโตแล้ว เราไม่เล่นเซนต์เซย่าแล้ว คือเราเลิกเล่นแล้ว

เขาเริ่มเข้าใจทางโลก ค้นพบว่าความสำเร็จเดินทางคู่ขนานกับการปฏิบัติธรรมได้

ไม่ใช่ว่าถ้าปฏิบัติธรรมแล้วต้องใส่สีขาว ถ้าปัจจัยถึงผมก็ซื้อรถที่ผมชอบ ผมอยากถอดหัวโขนนี้แล้ว ผมอยากได้อิสรภาพ ได้เงินน้อยหน่อยไม่เป็นไร เวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวสำคัญที่สุด แล้วก็ได้เจริญสติในชีวิตประจำวันด้วย วันที่กะเทาะเปลือกจริงๆ ของผมคือวันที่เขียนบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แล้วมีคนส่งข้อความมา ผมให้เบอร์โทรศัพท์เขา แล้วได้คุยกันประมาณหนึ่งชั่วโมง ผมรู้สึกเบิกบาน เฮ้ย มีความสุขกว่าได้รางวัลคานส์ว่ะ

หลังจากนั้น มีคนโทรหาหรือส่งข้อความมาหาเขาทุกวัน จนกลายเป็นหน้าที่ที่เขาต้องตอบคำถามและช่วยเหลือไปโดยปริยาย

ผมให้ในสิ่งที่พวกเขาอยากได้คือการฟังและบอกวิธีปฏิบัติ เข้าใจเขาเพราะผมผ่านเหวมาแล้วผมให้เบอร์โทรเขาไว้เลย แล้วย้ำว่าอย่าฆ่าตัวตาย ถ้ามีความคิดนี้ให้โทรหาผมคนแรก แล้วเขาก็จะเริ่มกล้าโทรหาผม

กอล์ฟอธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนการพูดคุยกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือว่า

ผมจะให้ทางเลือกเขาว่าจะอยากระบายเรื่องให้ผมฟังแล้วเขาก็จะเศร้าเท่าเดิม หรือเขาอยากจะไปที่ทางแก้เลย คำตอบที่ได้คือไปที่ทางแก้เลยค่ะ ก็จะอธิบายก่อนว่าโรคซึมเศร้าไม่ว่าประเภทไหน เกิดจากความเครียดสะสม ทำให้เกิดการหลั่งสารน้อยเกินไป มี 3 สารนะ ไม่ต้องจำชื่อก็ได้ ไม่ได้ออกสอบนะ ผมก็จะใส่มุก คนฟังก็จะเริ่มขำ

  1. สารเซเรโทนิน สารที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย มั่นคง ซึ่งถ้าสมองหยุดหลั่งสารนี้คุณจะรู้สึกว่าอนาคตน่ากลัว อนาคตช่างโหดร้าย อาการที่เหมือนจะตกตึก มือสั่น ขาสั่น มันจะมา
  2. สารโดปามีน ทำให้เราอยากเรียนรู้ อยากมีความก้าวหน้า กระชุ่มกระชวย เมื่อร่างกายหยุดหลั่งสารนี้ ก็จบกัน คุณจะกลายเป็นคนซึมกะทือ เหมือนง่วงทั้งวัน ไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่มีความหวัง ไม่อยากพัฒนาตัวเอง อยากอยู่แต่บ้านไม่อยากไปไหน
  3. สารเอ็นดอร์ฟิน สารแห่งความสุข

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า สาร 3 อย่างนี้จะหยุดหลั่ง อาการจะเป็นอย่างนี้ ไม่มีความหวัง อนาคตมีแต่เรื่องเลวร้าย อนาคตไม่น่าอยู่ self-esteem หรือความนับถือตัวเองต่ำ เรากระจอก เราไม่อยากทำในสิ่งที่อยากทำอีกแล้ว ไม่รู้อยู่ไปทำไม ไม่อยากกินข้าว เบื่ออาหาร ไม่อยากเจอเพื่อน เป็นทุกคนเมื่อ 3 สารนี้หยุดหลั่ง ต่อให้เป็นท่านดาไลลามะถ้ามีใครเข้าไปคลิ๊กให้หยุดหลั่งสารพวกนี้ ท่านจะเป็นโรคซึมเศร้า ต่อให้ท่านบรรลุแล้วนะ มนุษย์เรายังตกเป็นทาสระบบสารเคมี เราเอาชนะมันไม่ได้ อันนี้เป็นทฤษฎี ส่วนเรื่องยาที่เขากิน กินทำไม กินเพื่อช่วยให้ร่างกายกลับมาหลั่งสารได้อีกครั้งหนึ่ง แต่อาการของโรคที่มีโลภ ต้าน หลง ก็ยังมีอยู่ เพราะชุดความคิดนี้มันจะทำให้สมองไม่หลั่งสารออกมา มันเลยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ แล้วคุณก็ต้องกินยาตลอดชีวิต คุณต้องกินยาเพื่อให้สารหลั่งตามปกติ แต่ถ้าคุณไม่คิดลบ สารจะหลั่งตามปกติ แล้วคุณจะหายเลย พอเขารู้ว่าความคิดไม่ใช่เขา มันคืออาการล้วนๆ เพราะเราชี้ให้เขาเห็น เขาก็เริ่มไม่กลัว

กอล์ฟยิงคำถามต่อ

ความคิดไม่ใช่คุณ แล้วรู้ไหมอะไรคือคุณ ใจ…ใจที่มันตามคุณมาจากชาติที่แล้ว แล้วก็ใจ จะตามคุณไปต่อชาติหน้า ถ้าคุณยังต้องเกิดอีกนะ แต่ไอ้ความคิดนี่ มันเป็นความคิดอะไรไม่รู้ มันไม่ใช่ความคิดคุณ และแนะนำไปว่าถ้าความคิดพวกนี้มาใหม่ ให้หัวเราะใส่มัน ให้ดูมันมาอีกแล้วนะ ขยันจัง แต่เราไม่เชื่อมันแล้วนะ เราไม่โง่แล้ว คนฟังถึงกลับอุทานว่าเขาไม่เคยคิดแบบนี้ เพราะนึกว่าความคิดคือเขา ภาษาไทยพูดว่า “ฉันมีความสุข ฉันมีความทุกข์ ฉันกับความสุขคือคนละอัน แต่ภาษาอังกฤษพูดว่า I am happy ฉันเป็นความสุข อันนี้ผิดนะ แล้วอธิบายต่อเรื่องความทุกข์ ที่มันอยู่ไม่ได้ตลอดกาล เหมือนเวลาเราปวดขี้ ต่อให้หาห้องน้ำไม่ได้ คุณจะขี้ราด ควบคุมไม่ได้ ความทุกข์ของการปวดขี้หายไปแล้ว อย่างมากก็ทุกข์ต่อเรื่องขี้เปื้อนกางเกง อย่าลืมว่าผมศาสนาคริสต์นะ ผมยังใช้ประโยชน์ของศาสนาคุณได้เลย คุณว่าคุณจะหายได้ไหม ผมว่าผมหายได้นะ คนฟังเริ่มตอบอย่างมีความหวัง

กอล์ฟเริ่มเข้าสู่การแนะนำภาคปฏิบัติด้วยการถามว่า “ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่” คนฟังตอบว่า “นั่งอยู่”

“หยิบกระดาษขึ้นมานะ มี 3 ข้อ อันที่หนึ่ง รู้สึกไหมว่ากำลังเหยียบพื้นอยู่ คุณต้องคิดไหม ต้องวางแผนไหมถึงจะรู้สึกว่าเหยียบพื้นอยู่ ไหนลองยืนซิ เริ่มรู้สึกไหม” คนฟังตอบว่า “เริ่มรู้สึก”

“เป็นไปได้ไหมที่การยืนไม่ต้องมีความคิดก็ได้ คราวนี้ลองกระโดดแล้วคิด คิดถึงสิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต” คนฟังตอบว่า “ทำไม่ได้”

ผมทำให้เขาเห็นว่ามันใช้สมองคนละส่วน มันทำพร้อมกันไม่ได้ มันคนละระบบกัน ธรรมชาติมันสร้างมาแบบนี้

ข้อที่ 1 เมื่อจิตตก ทุกข์ อยากฆ่าตัวตาย ให้รู้สึกว่าเท้าเหยียบพื้นอยู่ แล้วให้ความหวังว่า ถ้าเขาทำได้ แปลว่าใกล้หายแล้ว แต่ถ้าเอาไม่อยู่ให้ทำข้อที่ 2 คุณลองหายใจ รู้ตัวไหมว่ากำลังหายใจ ส่วนมากจะตอบว่าไม่รู้ ผมเลยบอกให้หายใจจนรู้สึกโล่งคอโล่งใจพร้อมรู้สึกว่าเท้ากำลังเหยียบพื้นอยู่ ผมจะรอสาย เมื่อคนฟังทำได้แล้วค่อยส่งเสียง แล้วเขาก็ทำกัน

“ตอนนี้กลุ้มใจไหม” คนฟังตอบว่า “ไม่”

“แล้วผมก็ท้าต่อด้วยการให้ทำข้อ 1 กับ 2 พร้อมคิดเรื่องกลุ้มใจ” คนฟังตอบว่า “ทำไม่ได้”

แต่ถ้าข้อ 1 กับ 2 เอาไม่อยู่ เช่น ถ้ามีคนในครอบครัวเสียชีวิต ให้ลองเอามือทุบต้นขา รู้สึกเท้าเหยียบพื้น บวกกับหายใจ รับรองว่ากลุ้มใจไม่ได้ เพราะคุณทำให้ระบบรับความรู้สึกทำงาน แต่ถ้ามันจะเริ่มคิด คุณก็แค่เปลี่ยนไปทำอะไรก็ได้ ลูบแขน รำไทเก๊กเพราะจิตมันอาจจะเบื่อ เพราะเมื่อเรารู้กาย จิตมันจะขยับของมันเอง แล้วมันคือการปฏิบัติธรรม ผมให้เขาทำตามที่จดไว้ 1 2 3 และมักจะจบบทสนทนาด้วย ไอ้หายน่ะ คุณหายอยู่แล้วนะ แต่เมื่อคุณหายแล้ว คุณจะขอบคุณอยู่ 2 อย่าง คุณจะขอบคุณที่คุณเป็นโรคนี้ กับขอบคุณพระพุทธเจ้าที่ค้นพบสติปัฏฐาน 4 แล้วไม่แน่นะ คุณอาจจะรู้ว่าคุณเกิดมาเพื่ออะไร

เป็นไปได้ไหมคุณกลายเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้าน แล้วพอเจอใครที่เป็นโรคซึมเศร้าในหมู่บ้านคุณ คุณจะไปช่วยเขาต่อ “ผมว่าผมทำได้” กอล์ฟตอบ

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save