8 ช่องทางความสุข

วัยใสอาสา

การได้ช่วยกัน ใส่ใจกัน แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้โลกน่าอยู่ ถ้าเราช่วยกันทำในวันนี้ โลกในวันพรุ่งนี้ก็คงน่าอยู่มากขึ้น ไม่มากก็น้อย — เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อกันไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับการจุดเทียน ที่จะสว่างไปเรื่อยๆ ไม่มีวันดับ ท้ายที่สุดแล้วทั้งสังคมก็จะเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากเกินกว่าจะคิดเป็นจำนวนเงินได้

.

น้องภัสร์ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้น เข้าร่วมกิจกรรม ‘ฟังสร้างสุข’ ซึ่งจัดโดยธนาคารจิตอาสา ถึง 3 ครั้ง จากนั้นภัสร์สมัครเป็นจิตอาสาในสถาบันประสาทวิทยา (จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา) อีก 7 ครั้ง — นั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ ความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสาอยากรู้จักเธอมากขึ้น พวกเราอยากรู้ว่า วัยเรียน-วัยรุ่นคิดอะไรอยู่ อะไรคือแรงดึงดูดให้เขาสนใจงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ และโลกที่เขาต้องการเป็นอย่างไร

น้องภัสร์ – ณัฐปภัสร์ สกุลสุรเอกพงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราชินี เล่าให้ฟังว่าสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ‘ฟังสร้างสุข’ ออนไลน์ ขณะที่เรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะชอบคำในโปสเตอร์


อยากให้ภัสร์เล่าที่มาถึงความสนใจในกิจกรรมฟังสร้างสุข

ภัสร์ชอบคำในโปสเตอร์ค่ะหัวข้อที่ภัสร์เข้าร่วมครั้งแรกชื่อเรื่อง ‘จิ๊ดอาสา’ คือการเป็นอาสาในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น คนที่นั่งวีลแชร์เรียกแท็กซี่เองไม่สะดวกเราก็ช่วยเรียกแท็กซี่ให้เขา หรือการช่วยเด็กข้ามถนน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำได้ แล้วมันก็ทำให้โลกน่าอยู่ —ภัสร์มองว่าชีวิตของพวกเราแต่ละคนในแต่ละวันมีเรื่องที่ทำให้เราไม่สบายใจกันทั้งนั้นคงจะดีถ้าเวลาที่เราไม่สบายใจแล้วมีใครสักคนหนึ่งที่เขายินดีฟังเรา ภัสร์อยากเป็นคนที่ช่วยคนอื่นได้แบบนั้น


บ้านภัสร์อยู่กันเป็นครอบครัวขยาย เวลาที่ภัสร์ไม่สบายใจ มีหลายคนในบ้านที่ภัสร์สามารถคุยด้วยได้ เลือกได้ว่าเรื่องไหนภัสร์อยากจะคุยกับใคร แต่บางคนไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบภัสร์ — ช่วงนั้นสถานการณ์โควิดยังไม่สงบ พวกเราเรียนออนไลน์ ไม่ได้เจอกัน เพื่อนต่างโรงเรียนของภัสร์คนหนึ่งดูเหมือนมีเรื่องไม่สบายใจ ภัสร์เห็น Instagram ของเขาดูเศร้าๆ ภัสร์อยากช่วยเพื่อน อยากฟังเขา อยากให้เขารู้ว่ามีเราอยู่นะ แต่บางทีก็กังวลนิดหน่อย กลัวทำอะไรผิด ก็เลยคิดว่าการเข้าร่วมกิจกรรมน่าจะช่วยให้ได้รู้ว่า การฟังที่ดี ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร


แล้วทำไมเข้าร่วมกิจกรรมตั้ง 3 ครั้งเลยล่ะคะ ครั้งแรกไม่เข้าใจหรืออย่างไร
เปล่าค่ะ (หัวเราะ) ภัสร์ชอบตั้งแต่ครั้งแรกก็เลยเข้าร่วมซ้ำค่ะ


อ่า..แล้วไป แล้วยังไงต่อคะ
จริงๆ แล้ว กิจกรรมฟังสร้างสุขที่ภัสร์เข้าร่วมไม่ซ้ำกันเลยนะคะ ชื่อกิจกรรมคือ ‘ฟังสร้างสุข’ เนื้อหาหลักก็คือการฟัง แต่มีเนื้อหาย่อย หรือ หัวข้อในแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ครั้งแรกที่ภัสร์เข้าคือเรื่อง จิ๊ดอาสา (อาสาเล็กๆ) ต่อมาคือเพื่อนต่างวัย และสุดท้ายคือดูแลเพื่อนยามเศร้า พอได้เรียนรู้เรื่องการฟังก็พยายามเอามาฟังเพื่อน เพราะเพื่อนไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับภัสร์ พวกเราเรียนออนไลน์ เราเห็นเพื่อนใน Instagram แต่มันก็คงไม่ใช่ทั้งหมดของเขา บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขากันแน่ การได้คุยกัน โทรหา ได้ฟังเขาเล่า มันดีกว่าเราคิดเอง แต่ก็มีเหมือนกันที่ภัสร์รู้สึกว่าตัวเองก็ยังฟังได้ไม่ค่อยดี เช่นฟังเพื่อนด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย อาจทำให้พลาดข้อมูล บางอย่างไป แล้วพอนึกได้ หรือได้อ่านทวนในแชท จะโทรกลับไปคุย หรือไลน์กลับไปถามก็เลยเวลาไปแล้ว ก็รู้สึกว่าการฟังไปด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย ไม่ค่อยดี


โดยนิสัยแล้วภัสร์ชอบคุยกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตมากมาย เวลาฟังก็เห็นอะไรหลายอย่าง แล้วเขาก็ไม่เหงาด้วย อีกอย่างก็คือเวลาที่ได้ฟัง เราจะเห็นว่าชีวิตของคนแต่ละคนไม่เคยมีเรื่องซ้ำกันเลย ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ก็เลยเข้าร่วมฟังสร้างสุขหัวข้อ เพื่อนต่างวัย เวลาอยู่บ้านภัสร์ชอบพูดคุยกับอาม่า (อายุ 80 ปี) ฟังอาม่าเล่าเรื่อง อาม่าก็ชอบฟังภัสร์คุย บางทีภัสร์กลัวอาม่าเหงาด้วยค่ะ — เดี๋ยวนี้ถ้าภัสร์จะไม่อยู่บ้าน ภัสร์ต้องหางิ้วไว้ให้อาม่าดูในไอแพด ไม่รู้เหมือนกันว่าภัสร์ทำถูกไหม แต่ดูอาม่ามีความสุขนะคะ


อาม่าชอบงิ้ว หรือ อาม่าชอบที่ภัสร์ใส่ใจอาม่า
อืม..ภัสร์ก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะทั้งสองอย่างมั้งคะ (หัวเราะ)
ในกิจกรรมฟังสร้างสุข (ออนไลน์) ภัสร์ได้เข้ากลุ่มย่อยแล้วเจอคุณอาคนหนึ่งเขาเป็นจิตอาสาในสถาบันประสาทฯ เขาบอกว่าภัสร์น่าจะลองสมัครเป็นจิตอาสาดู ภัสร์ก็เลยสมัครค่ะ แล้วก็เลยได้เจอคุณอาตัวจริงตอนที่ทำงานจิตอาสาด้วยกัน— คุณอาคนนี้บอกว่า เขาป้ายยามาแล้วหลายคน มีภัสร์คนเดียวที่ยาออกฤทธิ์ (ฮา)


จิตอาสาในสถาบันประสาทฯต้องไปทำกิจกรรมต่อเนื่อง เล่าให้ฟังหน่อยสิคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เขาให้ไปทำกิจกรรมอย่างน้อย 4 ครั้ง ภัสร์สมัครไป 7 ครั้งค่ะ (โว้ว !!) คือช่วงที่ภัสร์สมัครเป็นช่วงปิดเทอม และเป็นช่วงที่คนสมัครเยอะ เพราะเป็นฤดูเก็บพอร์ต (portfolio) ภัสร์ไม่ได้ไปเก็บพอร์ตนะคะ ไปเพราะอยากช่วย พยายามเลือกวันที่คนสมัครน้อยๆ แล้ว แต่คนก็ยังเยอะอยู่ดี — ภัสร์ว่า กิจกรรมนี้ภัสร์ได้เห็นอะไรหลายอย่างเลย


การเป็นจิตอาสาทำให้เห็นว่า เราสามารถทำอะไรให้โลกใบนี้ได้ และเราสามารถช่วยให้ใครสักคนรู้สึกดีขึ้นมาได้

โรงพยาบาลไม่ใช่ที่ที่ใครๆ ก็อยากจะไป แต่เพราะเขาเจ็บป่วย ซึ่งมันเป็นความทุกข์อยู่แล้วทางกาย ทางใจ และญาติของเขาก็คงทุกข์เพราะเป็นห่วง — ภัสร์เลยคิดเองว่า ถ้ามีคนที่กำลังรู้สึกแย่ เคว้ง ถ้าเขากำลังเผชิญภาวะแบบนี้ มันคงจะดีถ้ามีใครสักคนอยู่กับเขา ฟังเขา คอยช่วยเขาเท่าที่เราพอช่วยได้ ซึ่งภัสร์คิดว่าภัสร์ทำสิ่งนั้นได้ แม้มันจะเป็นเพียงแค่ตัวช่วยเล็กๆ มากๆ ก็ตาม

.


การไปทำงานจิตอาสา 7 ครั้ง ได้ช่วยสมความตั้งใจนี้ไหม

ได้ค่ะ ภัสร์ว่าการเป็นจิตอาสาตอบเป้าหมายของภัสร์ทุกอย่างเลย — จริงๆ แล้วพวกเรา (มนุษย์ทุกคน) ก็อาจมีปัญหาในชีวิตทุกวัน งานจิตอาสาก็มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน แต่พร้อมกันนั้นมันก็มีความสุข มีความมหัศจรรย์ทุกวันที่ไม่ซ้ำกันเลย การเป็นจิตอาสาทำให้ชีวิตปิดเทอมของภัสร์มีสีสัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ภัสร์ประทับใจในการเป็นจิตอาสาก็คือ ภัสร์ได้อยู่ในวงล้อมของพลังงานที่ดี พี่เลี้ยงอาสา พี่เวรเปล เจ้าหน้าที่ นักสงคมสงเคราะห์ ฯลฯ แม้ว่าในโรงพยาบาลบางครั้งมีโมเม้นต์ที่หดหู่ แต่ก็มีพลังดีๆ อยู่ด้วย


มีเรื่องประทับใจ หรือเรื่องที่ทำให้ได้เรียนรู้มากๆ มาเล่าให้ฟังไหม
วันนั้นภัสร์อยู่ตรงจุดตรวจสอบสิทธิ์ มีคุณป้าท่านหนึ่งมาจากต่างจังหวัด ซึ่งโดยปกติถ้าจะใช้สิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะต้องมีเอกสารใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดจากจังหวัดที่เขาอยู่ แต่เอกสารใบหนึ่งที่ใช้ยื่นมันหมดอายุไปแล้ว กรณีที่แย่ที่สุดก็คือคุณป้าอาจจะต้องกลับบ้านโดยไม่ได้รับการตรวจรักษาในวันนั้น — ซึ่งภัสร์รู้ว่าผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาที่นี่ (สถาบันประสาทวิทยา) ถ้าเป็นคนต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เขาก็มาคนเดียว เดินทางด้วยรถไฟ หรือรถประจำทาง มันยากนะคะ — แล้วถ้าไม่ได้ตรวจในวันนั้นมันยากหลายอย่าง เสียเวลา เสียเงิน ฯลฯ ถ้าเขาต้องเดินทางกลับโดยไม่ได้ตรวจ หรือต้องนัดใหม่ แล้วจังหวะนั้น คุณป้าก็ร้องไห้ออกมา ภัสร์สตั้นไปเลย ตอนนั้นสิ่งเดียวที่ภัสร์ทำได้คือ พยายามอยู่ข้างๆ และบอกว่า “หนูอยู่ตรงนี้นะ หนูพร้อมช่วยนะคะ ถ้ามีอะไรที่หนูจะช่วยคุณป้าได้บอกหนูนะคะ” — ภัสร์พูดออกไปทั้งๆ ที่ภัสร์ก็ไม่มั่นใจ ไม่เห็นว่าภัสร์จะช่วยอะไรคุณป้าได้เลย มันเป็นโมเม้นต์ที่ยากที่สุดช่วงหนึ่งเลยค่ะ แต่ที่สุดแล้ววันนั้น คุณป้าก็ได้รับการตรวจนะคะ พี่นักสังคมสงเคราะห์ช่วยติดต่อประสานงานให้ แต่มันก็เป็นอะไรที่ภัสร์ช็อก — อยากช่วย แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้

.

อีกเรื่องหนึ่ง คือ วันนั้นภัสร์ทำงานของภัสร์เสร็จแล้ว จึงเดินไปช่วยบริเวณห้องการเงิน เห็นคุณยายท่านหนึ่งแกเคลื่อนไหวไม่สะดวก ต้องนั่งรถเข็น ภัสร์เห็นก็เข้าไปชวนคุยเล่นตามประสาภัสร์ (ซึ่งชอบคนสูงอายุ) คุณยายท่านนี้ใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้โรงพยาบาล เป็นเงิน 50 บาท ซึ่งภัสร์ก็ช่วยอำนวยความสะดวก แล้วภัสร์ก็ได้ยินคุณยายบ่นอุบอิบๆ ทำนองว่า “มาหาหมอแต่ละทีก็มีแต่เสียเงิน เสียค่ารถ แล้วเดี๋ยวอีกสามเดือนก็ต้องมาอีกแล้ว” — คือ… มันเงินแค่ 50 บาทเองนะ ขนมบางอย่างที่ภัสร์กินยังแพงกว่านี้เลย แต่ก็ดูเหมือนว่าเงินจำนวนนี้มันเยอะมากสำหรับคุณยาย — มันทำให้ภัสร์รู้สึกหดหู่ค่ะ


ทั้งสองเรื่องที่เล่ามา ภัสร์ว่า ภัสร์เห็นและเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเลยค่ะ

แต่ก็มีเรื่องดีๆ สนุกๆ ด้วยนะคะ มีคุณยายท่านหนึ่งอายุมากแล้ว มีอาการสมองเสื่อมและไม่ยอมนั่ง คุณยายมีหลานชายตัวเล็กๆ มาด้วย หลานชายก็พยายามบอกว่าให้คุณยายนั่ง เขาพูดเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “จ๋อ จ๋อ” แต่คุณยายก็ไม่ยอมนั่ง ภัสร์ก็เลยคิดว่าภัสร์ลองเข้าไปคุยบ้างดีกว่าเพราะภัสร์พูดจีนแต้จิ๋วได้ ภัสร์ก็เข้าไปคุยเป็นภาษาจีน เช่น “ตั้งจิกแอ่ ไอ๊ฮ่อเหลี่ยว” แปลว่า รอสักครู่นะคะ เดี๋ยวก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฯลฯ ปรากฎว่าคุณยายยอมนั่งลงค่ะ (หัวเราะ) — ภัสร์ภูมิใจมาก แบบว่า “เฮ้ย..ฉันก็ทำได้” ภัสร์เอาเรื่องนี้กลับมาเล่าให้อาม่าฟัง อาม่าชอบมากที่หลานเอาภาษาจีนแต้จิ๋วไปใช้ทำประโยชน์ได้ (หัวเราะ)


ในมุมมองของภัสร์ งานจิตอาสาสำคัญอย่างไร หรือให้ประโยชน์อย่างไร
ภัสร์ว่า การได้ช่วยกัน ใส่ใจกัน แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้โลกน่าอยู่ ถ้าเราช่วยกันทำในวันนี้ โลกในวันพรุ่งนี้ก็คงน่าอยู่มากขึ้น ไม่มากก็น้อย — และสิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เช่นจากความหวังดีของกันและกัน ความใส่ใจของเพื่อนมนุษย์ ความห่วงใย ความปรารถนาดีที่ส่งถึงกัน

เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อกันไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับการจุดเทียน ที่จะสว่างไปเรื่อยๆ ไม่มีวันดับ เปรียบเสมือนความสุขที่ส่งต่อๆ กันไป ท้ายที่สุดแล้วทั้งสังคมก็จะเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากเกินกว่าจะคิดเป็นจำนวนเงินได้ นี่คือสิ่งที่ภัสร์คิดค่ะ


………………………………………………………………………………………

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save