8 ช่องทางความสุข

คุณค่าที่ตั้งมั่น ทิศทางที่แจ่มชัด

คุณค่าหรือเข็มทิศที่ผมใช้นำทางคือ การให้บริการ (service) ไม่ใช่เพียงการให้บริการในวิชาชีพ ผมให้คุณค่าในเรื่องนี้กว้างกว่านั้น อะไรที่ผมทำให้ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องงาน ไม่ได้อยู่ในเวลางาน ผมพยายามทำให้ แต่ผมรู้กำลังของตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้อง ‘ทำทั้งหมด’ หรือ ‘สมบูรณ์ ครบถ้วน’ แต่มันเป็นทิศที่เราจะไป

คุณหมอตระการ แซ่ลิ้ม เป็นกุมารแพทย์ ประจำโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นแพทย์เฉพาะทางโรคไตในเด็ก และนอกจากเป็นแพทย์แล้ว คุณหมอยังรับผิดชอบงานด้านประกันคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation – HA) ด้วย คุณหมอเข้าร่วมอบรมในคอร์ส Resilience Builder – ทักษะการฟื้นคืนสุขภาวะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจัดออนไลน์โดยธนาคารจิตอาสา เมื่อเดือนกันยา-ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา — ทักษะการฟื้นคืน (resilience) สำคัญอย่างไร คนแบบไหนที่เรียกได้ว่า มีการฟื้นคืน ลองอ่านบทความนี้


คุณหมอตระการเล่าว่า ทราบข่าวคอร์ส Resilience Builder จากรุ่นพี่ซึ่งทำหน้าที่ตรวจประเมินคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่านนี้ก็เข้าร่วมการอบรมด้วยเช่นกัน — งานตรวจประเมินคุณภาพของโรงพยาบาลมีมิติด้านจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย คือการที่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลให้ความใส่ใจ/ให้ความสำคัญต่อคนไข้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคุณหมอเห็นว่า หลายประเด็นในหลักสูตรนี้มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเรียนรู้เพื่อการตรวจประเมินคุณภาพด้วย เช่น การ Tune-in ดำรงอยู่ในปัจจุบัน การรับรู้ร่างกายและผ่อนคลายร่างกาย (body scan)


ภาพรวมของฟื้นคืน (Resilience skill)
ผมชอบคอร์สนี้นะครับ เป็นทักษะพื้นฐานสำหรับทุกคน ผมคิดว่าพวกเราทุกคนล้วนแต่เจอเรื่องยากในชีวิตประจำวัน เมื่อเราได้เรียน ได้ฝึก เราก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จริงๆ แล้วทักษะที่พวกเราเรียนกันนี้แต่ละคนก็คงมีอยู่แล้ว อันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง แต่ในการอบรมนี้ อาจารย์เบ็น (Benjamin Weinstein, PhD) จัดระบบให้เป็นหมวดหมู่ ชัดเจน และค่อยๆ สอนเป็นขั้นๆ เพื่อให้เราเห็นความเชื่อมโยงของมิติต่างๆ เช่น เริ่มด้วยการฟื้นคืนทางอารมณ์ (emotional resilience) แล้วจึงสอนเรื่องการฟื้นคืนทางจิตใจ (mental resilience) จากนั้นจึงเป็นการฟื้นคืนทางสังคม (social resilience) ซึ่งผมโอเคมากๆ


อารมณ์เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อารมณ์ด้านลบเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ เดี๋ยวเราก็เรื่องนี้ มันทำให้เราจื๊ดขึ้นมา แล้วอีกสักพักก็มีอีกเรื่องที่ทำให้เราจื๊ดขึ้นมาอีก — ถ้าเรามีสติ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้เป็นระยะๆรับมือกับมันเป็นระยะๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่หนักมาก แล้วเมื่อได้เรียนเรื่องการฟื้นคืนทางจิตใจ (mental resilience) เราก็จะเห็นภาพรวมมากขึ้น พอเข้าใจเรื่องจิตใจก็จะกลับมาเข้าใจเรื่องอารมณ์เพิ่มด้วย ถ้าจะมีเรื่องที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม ก็คือเรื่องการฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ (spiritual resilience) ครับ ผมว่าบางทีผมก็ยังงงๆ

.


ทักษะที่ใช้บ่อย
ผมพบว่าผมมีการใช้ทักษะบางเรื่องอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของผม เช่น การขอบคุณ — ในชีวิตประจำวันของผม ผมกล่าวคำว่า ‘ขอบคุณ’ บ่อยมาก โดยเฉพาะกับคนที่เขารู้สึกด้อยกว่าผม แบบฝึกหัด 10 เรื่องดี (10 good things) การระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งที่ผมทำอยู่แล้ว ทักษะที่ได้เรียนรู้ในคอร์สหลายเรื่องเป็นทักษะที่เสริมกันกับสิ่งที่ผมทำในชีวิตประจำวัน


ผมชอบการฝึก B.E.N. (Breath it, Name it, Embrace it) ผมใช้ทักษะนี้บ่อยๆ การบริหารความกังวล ที่เรียกว่า ต้นไม้แห่งความกังวล (Worry Tree) ช่วยให้ผมทำงานดีขึ้น บางทีมีงานหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่า ‘ผมต้องทำ’ เยอะแยะไปหมด การเรียนเรื่องนี้ ช่วยให้กลับมาถามตัวเองว่า เรื่องนี้ผมต้องทำไหม ถ้าต้องทำ ผมต้องทำตอนนี้เลยหรือเปล่า — ผมสนใจ เต้าเต๋อจิง (81 บท) อยู่แล้วโดยส่วนตัว เต๋าซึ่งสอนเรื่องการปล่อยวาง ซึ่งทักษะในหลักสูตรนี้ กับ เต้าเต๋อจิง หลายอย่างไปกันได้


อีกสิ่งที่ผมเห็นด้วยและชอบที่ทีมสอนทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทักษะเหล่านี้ต้องนำมันเข้ามาในชีวิตประจำวัน ฝึกบ่อยๆ ทำให้สม่ำเสมอ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะลืม แล้วก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าทำอยู่เป็นประจำก็จะงอกงาม ผมพยายามทำแบบนั้น


ตั้งมั่นท่ามกลางมรสุม
คุณหมอเล่าว่า ชีวิตการงานช่วงนี้ ‘ยุ่งและหนัก’ พอสมควร มีเสียงเรียกร้อง เสียงโน่นนี่จากภายนอก ที่สร้างความรบกวนได้ง่ายมาก แต่…


ผมว่าผมนิ่งได้มากขึ้นนะครับ ด้านหนึ่งมันอาจจะได้ยินเสียงแบบนี้มาเยอะจนชาไปแล้ว (หัวเราะ) — สิ่งที่ผมเห็นตัวเองและรู้สึกดี คือ ผมไม่กระวนกระวายไปกับเสียงเหล่านั้น ผม่ไม่รู้สึกแย่ไปตามคำคน ไม่หวั่นไหวไปตามเสียงภายนอก และผมว่า ผมมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น


ในช่วงที่พวกเราอบรม ผมต้องโดดประชุมโรงพยาบาลหลายครั้งนะครับ แต่ผมเห็นว่าการเรียนในหลักสูตรนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ผมจะใช้ในการทำงานต่อๆ ไป ดังนั้นการโดดประชุมจึงไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกผิดหรือมีเสียงวิจารณ์ภายในมากมายนัก ผมรู้ว่าผมเลือกทำสิ่งนี้เพราะอะไร และเมื่อผมเลือกแล้วว่าผมจะเข้าอบรม ผมก็พยายามนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นเพื่อคนอื่นด้วย บางทีก็เอาไปเล่า เอาไปแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงาน กับน้องในที่ทำงานซึ่งเขากำลังเผชิญเรื่องยาก — ซึ่งมันก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ด้วยว่า บางทีสิ่งที่เราแบ่งปันออกไป เขาก็ get อีกอย่างหนึ่ง เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้เข้าใจแบบเราอยากจะบอก เขาเข้าใจในแบบของเขา ซึ่งมันก็โอเค


ช่วง session discussion เวลาที่อยู่กลุ่มย่อย เราจะเห็นเลยว่า เรื่องเดียวกัน เรียนมาด้วยกัน แต่พวกเราแต่ละคนอาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน บางประเด็นก็เข้าใจแตกต่างกันไปเลย — เช่น แบบฝึกหัดเรื่องเข็มทิศ หรือ คุณค่าอันแจ่มชัด (Value Clarity and Action) เพื่อนบางคนมีกรอบ-ขอบเขตที่กำหนดชัดเจนมาก เขาตีกรอบคุณค่าไว้เท่านี้ ถ้าเกินจากนี้เขาไม่สนใจ ซึ่งต่างจากผมมาก


เข็มทิศแห่งคุณค่า

คุณค่าหรือเข็มทิศที่ผมใช้นำทางคือ การให้บริการ (service) และไม่ใช่เพียงการให้บริการในวิชาชีพ คุณค่าที่ผมให้ในเรื่องนี้กว้างมาก อะไรที่ผมทำให้ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องงาน ไม่ได้อยู่ในเวลางาน ผมพยายามทำให้ และแน่นอนว่าผมรู้กำลังของตัวเอง รู้บริบทด้วยว่าผมทำได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นแบบที่อาจารย์เบ็นบอกคือ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้อง ‘ทำทั้งหมด’ หรือ ‘ต้องสมบูรณ์ ครบถ้วน’ แต่มันเป็นทิศที่เราจะไป เช่น ครั้งหนึ่งระหว่างที่ผมไปเที่ยว มีคุณป้าคนหนึ่งเขาอยากจะขึ้นไปบนภูเขาแต่ขึ้นบันไดไม่ไหว ผมก็เข็นรถพาเขาขึ้นไปเลย มันไม่ได้เกินวิสัยที่ผมจะทำได้ ตอนหลังเมื่อคุณป้ารู้ว่าผมเป็นหมอก็ตกใจมาก คงรู้สึกว่ามาใช้งานผมซึ่งไม่ควร — แต่ผมโอเคมาก ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมเป็นหมอแล้วจะทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ อะไรที่ผมทำให้ได้ ผมไม่เกี่ยงว่าคนนั้นเป็นใคร ผมทำเลย


ช่วงที่อบรมผมมีคำถามทำนองว่า “แล้วถ้าเข็มทิศของผมกับเข็มทิศของคนอื่นมันเป็นทิศตรงกันข้ามกัน แล้วผมจะดูแลบริหารจัดการอย่างไร” ก่อนหน้านี้ (ก่อนหน้าการสัมภาษณ์ครั้งนี้) คำถามนี้ค่อนข้างเป็นปัญหากวนใจ แต่ตอนนี้ผมมีคำตอบแล้ว คือ ปล่อย —

.

เต้าเต๋อจิง พูดถึงคู่ตรงข้าม เช่น ดีกับเลว ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าเราไม่รู้จักว่าสิ่งนี้เลว ก็จะไม่รู้ว่าดีคืออะไร การเรียนเรื่องเข็มทิศ หรือคุณค่าที่เราใช้นำชีวิต ผมเห็นว่าเข็มทิศของบางคนที่ต่างจากผมมาก ผมก็ยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องที่ดีกว่ากัน หรือเลวกว่ากัน ผมแค่รู้ว่า มันเป็นอย่างนั้น เขาเป็นของเขาแบบนั้น เขาให้คุณค่ากับสิ่งนั้น เรื่องนั้น ซึ่งไม่เหมือนกับผม เขาก็เป็นของเขาแบบนั้น ถ้าเขาอยากให้ผมช่วย และผมเห็นว่าช่วยได้ ผมก็ช่วย แต่ถ้าผมช่วยไม่ได้ หรือเรื่องนั้นมันไม่ใช่ ผมก็ต้องปล่อย — การเข้าใจตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาก — ผมคิดว่า เพื่อนๆ ที่เรียนเรื่องนี้ด้วยกันชอบตอนที่เรียนเรื่องนี้นะครับ

.

การแบ่งขั้วที่เราเห็นในชีวิต เช่นการเมือง กีฬาสี การแบ่งขั้วในองค์กร ผมพยายามจะเห็นทั้งสองฝ่าย ไม่โปรข้างใดข้างหนึ่ง ผมพยายามทำความเข้าใจ ถ้าข้างไหนอยากให้ผมทำอะไรให้ ถ้ามันเป็นสิ่งดีที่ผมทำได้ ผมก็ยินดีทำ ทำเพราะเป็นเรื่องดีที่จะทำ ไม่ใช่การโปรข้างหนึ่งเพื่อจะทับถมหรือทำร้ายอีกข้าง — ผมจะไม่พาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น — การมีจุดยืนแบบนี้ ใครจะมองอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่ผมรู้ว่าผมกำลังทำอะไร —ซึ่งบางทีผมก็รู้สึกอยู่นิดหน่อยว่า เราทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้


สุดท้ายแล้ว คุณหมออยากบอกอะไรกับทีมผู้จัดไหมคะ
สิ่งที่ผมรู้สึกออกจะท้าทายคือการนำสิ่งที่เรียนรู้นี้ไปใช้กับคนใกล้ตัว ใช้ในครอบครัว การเอาไปถ่ายทอดครับ


ผมอยากให้มีพวกเรามีการเจอกันเป็นระยะ แต่ละคนฝึกในชีวิตแล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้ใครต้องการความช่วยเหลืออะไร หรือใครฝึกเรื่องไหนจนเก่ง ก็เอามาเล่าให้ฟังบ้าง ผมว่าแบบนี้จะทำให้กลุ่มแข็งแรงและค่อยๆ โต ถ้าอบรมแล้วหายไป ก็จะเป็นรุ่นๆ ไม่มีอะไรต่อเนื่อง


ผมอยากใช้คำขอบคุณที่ strong มากๆ สำหรับธนาคารจิตอาสาและทีมจัดงานนะครับ ผมขอบคุณสำหรับกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความสุขมากขึ้นครับ

………………………………………………………………..


Resilience Playlist โดย ทีมงานความสุขประเทศไทย https://www.youtube.com/watch?v=foj0xNwUPJs&list=PLOIDiL5wSuZ6dKjmvY0Ovdu5g_IRRXRPT

.

ติดตามทักษะเพื่อการฟื้นคืนได้ที่

.

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save