8 ช่องทางความสุข

นึกถึงทีไรก็มีความสุข

“นึกถึงทีไรก็มีความสุข — เวลาอยู่ที่ร้านได้เห็นคนที่หลากหลายก็เข้าใจคนมากขึ้น อดทนได้มากขึ้น….”
“ผมไม่ใช่คนที่จะเข้าไปหาใครก่อน แต่การเป็นอาสาสมัครเราต้องคอยสังเกต ผู้ป่วยยืนและมีท่าทีแบบนี้แสดงว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เขาอยากได้อะไรไหม เราต้องเข้าไปถามเขา….”

ความสุขในงานจิตอาสาที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นการทำงานร่วมกันใน โครงการฉลาดทำบุญวิถีสร้างสุข โดย มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา สถาบันประสาทวิทยา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งรับอาสาสมัครมาช่วยอำนวยความสะดวกในจุดต่างๆ ของสถาบันประสาท เช่น จุดกดใบนำทาง จุดคัดกรองผู้ป่วย ห้องเจาะเลือด ตรวจสอบสิทธิ์ ห้อง X-Ray การกรอกประวัติผู้ป่วย ฯลฯ โดยอาสาสมัครทำงานอาสานี้เดือนละ 4 ครั้ง และเลือกวันปฏิบัติการได้ เรื่องราวต่อไปนี้คือประสบการณ์ของอาสาสมัคร 2 ท่าน ซึ่งเคยร่วมโครงการทั้งสองจะเล่าประสบการณ์ทั้งความยากและความสุข

.

คนแรกคือ คุณลุงโอภาส นุติพาณิชย์ (จุ้งเพ้ง) อายุ 68 ปี คุณลุงบอกว่า จริงๆ แล้วลูกชายเป็นผู้แนะนำกิจกรรมนี้ให้คุณลุง — “เขาอยากให้ไปลองเป็นจิตอาสาดูสักครั้ง เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ก็เลยไป” ทีมงานของเราก็เลยตามไปคุยกับ คุณณัฐพงษ์ นุติพาณิชย์ (ลูกชายของคุณลุง)

คุณณัฐพงษ์เล่าว่า ปกติแล้วตนอยู่ที่ต่างประเทศ อยู่ในช่วงของการเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด จึงกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ที่บ้าน ได้อยู่บ้าน ได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ซึ่งอายุมากแล้ว ขายของอยู่ในบ้านแบบเหงาๆ มีการกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสา จึงอยากจะหากิจกรรมอื่นๆ ให้คุณพ่อได้ทำ

.

“ผมอยากให้คุณพ่อได้ลองเห็นโลกกว้างๆ บ้าง สักเล็กน้อยก็ยังดี ให้คุณพ่อได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่แตกต่าง หลากหลาย ไปจากชีวิตประจำวัน — คุณพ่อเป็นคนจีน เป็นเจ้าของกิจการ บริหารงานคู่กันกับคุณแม่มานานหลายสิบปี ไม่เคยเป็นลูกน้องใครและไม่เคยเป็นหัวหน้าใคร คุณพ่อกับคุณแม่ดูแลกิจการร่วมกันแต่คุณพ่อมักจะเคยชินกับการเป็นผู้ถูกดูแลและเป็นผู้รับบริการจากคุณแม่เสียมากกว่า  —  บางทีผมรู้สึกว่าคุณพ่ออาจจะยังไม่เคยเห็นชีวิตในแง่มุมอื่นก็เลยอยากให้คุณพ่อลองทำงานอาสา อยากให้คุณพ่อได้รู้จักการบริการคนอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ผมจึงพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงานจิตอาสา และได้เจอธนาคารจิตอาสา จึงได้ส่งอีเมลไปถาม และประสานงานไปมาอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดคุณพ่อก็ได้สมัครเข้าร่วมงานนี้  ดูคุณพ่อมีความสุขนะครับ ตอนนี้ผมอยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านคนอื่นๆ ไปร่วมทำกิจกรรมอย่างนี้บ้าง — ผมคิดว่าการที่เราได้เห็นสังคมที่แตกต่างจากความคุ้นเคย รวมถึงการได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่แตกต่างจากเราเป็น skill ที่สำคัญของชีวิต เพราะผมเชื่อว่าเมื่อเราได้เห็นความแตกต่างมากขึ้นเท่าไหร่ ใจเราจะกว้างมากขึ้นเท่านั้น และสุดท้ายสิ่งนี้จะส่งผลทำให้เรารู้สึกอยากจะเอาเปรียบคนอื่นน้อยลงไปด้วย”

.

คุณลุงโอภาสเล่าว่า เรื่องยากเรื่องแรกที่คุณลุงต้องเผชิญในการเป็นจิตอาสาคือ ‘เขิน’ — เขินหนักมากเลยล่ะ — “ก็มันเจอแต่คนรุ่นหลาน รุ่นเหลน — ไม่ใช่รุ่นลูกด้วยซ้ำ — (หัวเราะ) ไม่รู้จะคุยอะไร ไม่รู้จะคุยยังไง มันเขิน”

“เขิน แล้วคุณลุงทำยังไงล่ะคะ”

“เราต้องไปทำ 4 ครั้ง ก็เขินแค่ครั้งแรกๆ นั่นแหละ จากนั้นก็ไม่เขิน ไม่อึดอัด กลายเป็นชอบ”

คุณลุงบอกว่า การเป็นจิตอาสาอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาลนี้ ทำให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ความเจ็บป่วยไม่เลือกวัย บางคนอายุน้อยๆ (และส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าคุณลุง) ก็เข้ารับการรักษาแล้ว “เราใกล้จะ 70 แล้ว แต่ร่างกายยังดี ไม่เจ็บไม่ป่วย แถมยังมาเป็นจิตอาสาได้อีก รู้สึกว่าเรามีบุญใหญ่ และการมาทำงานเป็นจิตอาสาก็เป็นบุญใหญ่ด้วย ได้ใช้ร่างกายของเราทำบุญ เราไม่ได้หวังค่าตอบแทน ภูมิใจมากเลย”

.

คุณลุงบอกว่าปกติแล้วคุณลุงสนใจการทำบุญ นั่งกรรมฐานทุกคืน แต่การเป็นจิตอาสานี้ต่างออกไป เพราะเป็นการใช้ร่างกายที่ยังแข็งแรงทำประโยชน์ให้คนอื่นๆ และทำให้คุณลุงมีความสุขมาก

“เราช่วยเข็นรถให้เขา ช่วยอำนวยความสะดวกให้เขา ไม่ได้หวังอะไรเลย บางคนพยายามจะให้เงิน เราก็บอกว่าเราไม่รับเพราะเราเป็นจิตอาสาแล้วเขาก็ยกมือไหว้ บอกว่า ‘ขอบคุณ’ โอ้โห…ตอนนั้นเรามีความสุขมากเลย ชื่นใจมาก มีความสุขมาก” — ผู้สัมภาษณ์รับรู้จากน้ำเสียงคุณลุงได้จริงๆ ว่า คุณลุง มีความสุขมาก จริงๆ — ขออภัย ที่ถ้อยคำและตัวหนังสือเหล่านี้บ่งบอกปริมาณ ชี้วัดปริมาตรความสุขของคุณลุงออกมาไม่ได้ ความสุขของคุณลุงมากมายเกินตัวหนังสือ

.

เราถามว่า ตอนนี้คุณลุงไม่ได้ไปทำงานเป็นจิตอาสาแล้ว ความสุขยังอยู่ไหม คุณลุงบอกว่า ยังมีความสุขเต็มเปี่ยม นึกถึงทีไรก็มีความสุข — เวลาอยู่ที่ร้านได้เห็นคนที่หลากหลายก็เข้าใจคนมากขึ้น อดทนได้มากขึ้น การไปเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลทำให้เราเข้าใจคน ที่นั่นบางคนก็อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดใส่เรา แต่เราต้องข่มใจเพราะเราเป็นจิตอาสา — เขาไม่สบายก็เลยหงุดหงิด พอมาอยู่หน้าร้าน บางทีก็เจอลูกค้าหงุดหงิดเหมือนกัน เมื่อก่อนพอลูกค้าหงุดหงิดเราก็หงุดหงิด บางทีเราก็โต้ตอบ ซึ่งมันก็ไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้เราเข้าใจมากขึ้น เขาหงุดหงิดมาก็ช่างเขา เราไม่ต้องไปหงุดหงิดใส่เขาก็ได้ ก็พูดดีๆ ขายของดีๆ ก็แค่นั้นเอง ไม่ต้องไปหงุดหงิดใส่เขา เพราะเราถ้าหงุดหงิดใส่เขา เดี๋ยวเราเองนั่นแหละก็จะรู้สึกไม่ดี”

.

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณลุงภาคภูมิมากๆ คือการได้ใบประกาศนียบัตร เพราะใบประกาศฯ เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณลุง (ซึ่งเป็นผู้สูงอายุแล้ว) เป็นจิตอาสาจริงๆ “บางทีเล่าว่าไปเป็นจิตอาสา เพื่อนบ้านก็ไม่เชื่อ ต้องเอาใบประกาศให้ดู เราถามคำถามสุดท้ายว่า คุณลุงคิดว่าการไปเป็นจิตอาสาส่งผลอะไรต่อตัวคุณลุงบ้าง ลุงบอกว่า “อืมมม… หลังจากที่ไปเป็นจิตอาสาก็รู้สึกว่าที่ร้านขายของดีขึ้น คงเป็นเพราะบุญจากที่ไปทำจิตอาสามาแน่ๆ เลย”  — (ได้หัวเราะกันสนุก)

.

พิชยุชญ์ หลุยตระกูล (เปา) อายุ 19 ปี

            เปาบอกว่าเขาสมัครเป็นจิตอาสาเพราะเขาอยู่ในช่วงของการทำแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) เพื่อการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาไม่มีความรู้หรือสนใจการเป็น ‘จิตอาสา’ มาก่อน “คณะที่ผมอยากเรียนอยู่ในสังกัดโรงพยาบาลรามาธิบดี ก็เลยเลือกงานจิตอาสาที่นี่ (สถาบันประสาทวิทยา)ครับ”

.

เขาไม่ได้คิดหรือคาดหวังการเรียนรู้อะไรมากไปกว่าการทำงานเพื่อสร้างแฟ้มสะสมผลงาน แต่ปรากฎว่า การเป็นจิตอาสาในสถาบันประสาท 4 ครั้ง ให้ประสบการณ์และการเติบโตแก่เขาอย่างเกินคาด ดังนั้นเมื่อ ถึงช่วงปิดเทอมขณะเรียนมหาวิทยาลัย มีเวลา เปาก็กลับมาเป็นจิตอาสาอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า

            เปาบอกว่าปกติแล้วเขาเป็นคนเงียบๆ สร้างบทสนทนาไม่เป็นดังนั้นจึงไม่ค่อยมีบทสนทนากับคนแปลกหน้า “ผมไม่ใช่คนที่จะเข้าไปหาใครก่อน แต่การเป็นอาสาสมัครเราต้องคอยสังเกต ผู้ป่วยยืนและมีท่าทีแบบนี้แสดงว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เขาอยากได้อะไรไหม เราต้องเข้าไปถามเขา ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนที่ alert มากขึ้น เข้าหาคนได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่ผมคิดมาก่อน  อีกอย่างคือผมรู้สึกว่าผมโตขึ้น ผมเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น”

เปาบอกว่า ความสุขในการเป็นจิตอาสาเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แค่ได้อำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ ช่วยให้ผู้ป่วยหรือญาติสบายใจขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็มีความสุขแล้ว ยิ่งถ้าได้ยินคำ “ขอบคุณ” ความสุขของเปาก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก รู้สึกได้ว่าหัวใจพองโต แต่หากพูดถึงความประทับใจ เปาอยากเล่า 2 เรื่อง

           

.

“เรื่องแรกค่อนข้างช็อกนิดหน่อยนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่ดีแต่มันประทับอยู่ในใจผม — ตอนนั้นผมเป็นอาสาสมัครใหม่ ยืนปฏิบัติงานอยู่ที่หน้าห้องเจาะเลือด มีคุณแม่คนหนึ่งเข็นรถพาลูกสาวที่ป่วยมารักษา ลูกสาวมีอาการบกพร่องทางสติปัญญา…แล้วจู่ๆ คุณแม่ของเขาก็เข้ามาคุยกับผม ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเป็นผม — และผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำได้แค่นั่งฟังเฉยๆ คุณแม่เล่าว่า ลูกสาวเพิ่งเรียนจบและทำงานได้ไม่นานแล้วก็เกิดอุบัติเหตุระหว่างขับรถไปทำงาน ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ลูกสาวเดินไม่ได้และมีอาการพิการทางสมองด้วย — ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้จากคนที่ประสบกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ  ครอบครัวของผมแข็งแรงกันทุกคน เรื่องที่ได้ยินมันช็อกมาก เราเคยเห็นข่าวแบบนี้บ้างในโทรทัศน์หรือในภาพยนตร์ แต่นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง คนที่ประสบเหตุกำลังเล่าให้ผมฟังจริงๆ ผมช็อก สงสาร รู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน — พอเล่าจบ คุณแม่เขาก็ขอบคุณผม ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้ช่วยเหลือ ช่วยระบายความในใจเพื่อทำให้เขารู้สึกดีขึ้น — เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประทับอยู่ในใจ

.

อีกเรื่องที่ผมประทับใจ เกิดในวงสะท้อนประสบการณ์ (reflection) ที่เราคุยกันหลังจบกิจกรรม พี่จิตอาสาคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าเป็นรุ่นใหญ่แล้ว เป็นจิตอาสามาหลายปี อายุค่อนข้างมาก ปกติเขาแม่นงานมากๆ แต่เนื่องจากห่างออกไปพักหนึ่ง พอกลับมาทำใหม่เขาเลยลืมรายละเอียดในบางขั้นตอน เขาจำไม่ได้ ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกแย่มากๆ — วันนั้นพี่เขาต้องหักห้ามความอาย ต้องถามรายละเอียดงานจากรุ่นน้องซึ่งเด็กกว่า พี่เขาจึงยอมทิ้งฟอร์มของตนเอง ยอมเสียหน้า — การเป็นจิตอาสาทำให้เราละวางความถือตัว — ผมรู้สึกประทับใจเรื่องนี้มาก เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น

.

ผมว่า คนเราก็มีช่วงเวลาแบบนี้กันทุกคนคือ เรามีฟอร์ม มีอะไรบางอย่างที่เราถือเอาไว้ กับเวลาที่เรายอมเสียหน้า มันยากนะ — แต่การเป็นจิตอาสา เราเอาการช่วยเหลือเป็นที่ตั้ง เมื่อเรานึกถึงคนอื่นเราก็จะวางการยึดถือนั้นลงแม้ว่ามันจะยาก   แล้วพอเราได้ช่วยเขาก็มีความสุข แต่ถ้าเราไม่ยอม เราก็คงไม่ได้ช่วย — ผมรู้สึกว่าชีวิตก็มีอยู่เท่านี้จริงๆ อยู่ที่เราเลือก”

.

เอาล่ะค่ะ มาถึงตรงนี้ ผู้ที่สนใจความสุขจากการเป็นจิตอาสา ขอเชิญที่เว็บไซต์ ธนาคารจิตอาสา https://www.jitarsabank.com หรือติดต่อที่มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาได้ตามนี้เลย http://budnet.org/

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save