8 ช่องทางความสุข

พิลาทิสในสตูดิโอลับ

การฝึกทำให้รู้จักร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นและรู้จักร่างกายแบบที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ อัศจรรย์มาก

.

.

คุณปิยรัฐ มรรคยาธร หรือ ครูจิ๊บ เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการละครในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เธอตัดสินใจลาออกจากวิชาชีพนั้น เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา และเปิดสตูดิโอลับสอนพิลาทิสเป็นงานอดิเรก — แม้จะเป็นงานอดิเรก แต่ครูจิ๊บ ผ่านการสอบรับรองมาตรฐาน Certified pilates instructor จากสถาบัน Balanced Body (USA)

.

การฝึกพิลาทิสมาจากประเด็นความสวยงาม การออกกำลังกาย หรือความเจ็บป่วย ?

ไม่ใช่ทั้งหมดเลยค่ะ (หัวเราะ) — จิ๊บไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ใช่คนชอบออกกำลังกาย และก็ไม่ได้สนใจเรื่องความสวยงามด้วย

จิ๊บเป็นคนฐานกาย ชอบขยับร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ชอบเดินแทนการใช้รถ เคยเดินจากจุฬาฯ มาพระโขนง (ถ้าอากาศเป็นใจ) เดินขึ้นบันไดในสถานีรถไฟแทนการใช้บันไดเลื่อน เลือกที่จะยืนในรถไฟฟ้าแทนการนั่ง เหล่านี้เป็นเรื่องปกติมากๆ ของจิ๊บ การยืน การเดิน การขึ้นบันได คือทางเลือกไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะร่างกายรู้สึกดีกว่ามาก — การนั่งนิ่งอยู่กับที่ เช่น ขับรถนานๆ นั่งทำงานหน้าจอคอมพ์ ทำให้ร่างกายของจิ๊บล้า และปวดเมื่อยมากกว่าการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว

.

ถ้าไม่ชอบออกกำลังกาย แล้วเส้นทางครูพิลาทิสเป็นมาอย่างไร

จิ๊บได้ยินคำว่า ‘พิลาทิส’ จากการบาดเจ็บที่หลังเพราะเล่นไอคิโด — ไอคิโดเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ดูนิ่งๆ แต่ให้ผลรุนแรง เป็นการยืมแรงคู่ต่อสู้มาใช้ป้องกันตัว เมื่อฝึกในลำดับขั้นสูงมากขึ้นๆ ก็มีท่าที่ค่อนข้าง advance เช่นกระโดดตีลังกาหลบแรงคู่ต่อสู้แล้วล้มลงเบาะ ท่านี้อาศัยกล้ามเนื้อหลัง การฝึกซ้ำๆ บ่อยๆ และจิ๊บค่อนข้างผอมกล้ามเนื้อหลังไม่เพียงพอ กระดูกเลยเคลื่อนปวดจนลุกเดินแทบไม่ได้

.

ตอนแรกไปหาแพทย์แผนปัจจุบันในโรงพยาบาล คุณหมอฉีดยาแก้อักเสบที่หลัง และบอกให้เลิกเล่นไอคิโด – จิ๊บงงมาก“นี่เรากลายเป็นคนป่วย (หรือพิการ) ไปแล้วหรือ?”  ก็เลยไปหาหมอทางเลือก คือคลินิคแพทย์จัดกระดูก (Chiropractic) การรักษาในแนวทางนี้อาการดีขึ้น คุณหมออนุญาตให้กลับไปเล่นไอคิโดทันทีหลังจากจัดกระดูกเสร็จ คุณหมอบอกว่า “ถ้าหายแล้วก็ต้องกลับไปทำกิจกรรมแบบเดิมได้สิ”  พร้อมกันนั้นคุณหมอก็กำชับว่า ถ้าไม่อยากบาดเจ็บอีก ให้ไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลาง โดยเฉพาะบริเวณหลังให้มากขึ้น คุณหมอบอกว่า “คุณควรไปเล่นพิลาทิส” ตอนนั้นประมาณปี 2006 แทบไม่มีใครรู้จักพิลาทิส ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ต่อมาจิ๊บต้องไปเรียนต่อที่ต่างประเทศจึงหยุดเล่นไอคิโดไปโดยปริยาย  เลยไม่มีอาการบาดเจ็บที่หลังอีก

.

ปี 2015 จิ๊บกลับมาทำงานอยู่ที่เมืองไทยแล้ว ช่วงนั้นเริ่มคิดถึงความแก่ จิ๊บอยากเป็นคนแก่ที่หลังตรง (แบบที่เห็นในต่างประเทศ) เดินเหินได้สะดวก ทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระใคร จึงคิดว่าต้องเตรียมร่างกายตั้งแต่ตอนนี้ เป็นการลงทุนให้กับภาพในวัยชราที่ตัวเองอยากเป็น วันนั้นจึงนึกถึง พิลาทิสขึ้นมาอีกครั้ง และลองหาที่เรียน

จิ๊บไม่ใช่คนชอบออกกำลังกาย ไม่เข้าฟิตเนสเลย ไม่เคยเข้าคอร์สใดๆ เกี่ยวกับร่างกายทั้งสิ้น ไอคิโดไม่นับ เพราะถือกิจกรรมแนวผจญภัยนิดๆ ซึ่งเราชอบ แต่การเรียนพิลาทิสซึ่งเป็นคอร์สออกกำลังกายจริงจังค่อนข้างจะเป็นยาขม คิดหนักและคิดนาน แต่เพราะอยากมีร่างกายแข็งแรงตอนแก่ เลยตัดสินใจลงทะเบียนในคอร์สทดลอง 5 ครั้ง กะว่า ‘เอาวะ ถ้ามันไม่ใช่ เราก็แค่ยอมเสียค่าโง่’

.

ครั้งแรกก็ประทับใจเลยใช่ไหม

เปล่าค่ะ (หัวเราะร่วน) ครั้งแรกรวดร้าวมาก คิดหนักกว่าเดิม — จิ๊บเป็นคนระวังการใช้เงิน และคอร์สพิลาทิสก็ค่อนข้างแพง จิ๊บตัดสินใจเรียนเพราะเสียงของหมอจัดกระดูก และจิ๊บต้องการร่างกายที่ดีตอนแก่ — แต่แค่เรียนครั้งแรกก็ร้าว ไม่น่าเชื่อว่าจะเจ็บปวดขนาดนั้น จิ๊บไม่อยากเรียนแล้วบอกตัวเองว่า “ทิ้งเลยเถอะ ทิ้งเงินไป 4 ครั้ง” แต่อีกใจต่อรองว่า “ถ้าไปเรียนอีกสักครั้งก็ทิ้งเงินแค่ 3 ครั้งนะ” — ถ้าทิ้งเงิน 3 ครั้ง จิ๊บจะรู้สึกผิดน้อยลง —ทั้งขู่ทั้งปลอบตัวเองแบบนี้จนเรียนครบ 5 ครั้ง — เป็นความงกแท้ๆ เลย

.

ในขั้นต้นจิ๊บได้รู้ว่าร่างกายมีมากกว่าแขน ขา หน้าท้อง หลัง ก้น สะโพก พิลาทิสเป็นการทำงานจากแกนกลางก็จริง แต่การฝึกในแต่ละครั้งเราจะพบว่าร่างกายมีกล้ามเนื้อมัดนั้น ตรงมุมนั้นมุมนี้ ข้อต่อตรงนั้นตรงนี้มากมายที่คอยช่วยประสานการทำงานแต่ละส่วน มันรู้สึกได้จริงๆ การฝึกนี้เรียกว่า ฝึกการทำงานแบบแยกส่วน (Isolation) และเมื่อฝึกจนชำนาญขึ้น แบบฝึกหัดพิลาทิสจะพัฒนาเป็น ฝึกแต่ละหน่วยย่อยของร่างกายให้ทำงานร่วมกัน (Coordination) มันท้าทาย และสนุกมากค่ะ ได้รู้จักร่างกายตัวเองจริงๆ ได้รู้ว่าแบบไหนคือจุดสมดุลของร่างกาย แบบไหนคือจุดที่ร่างกายไม่สมดุล

ที่เราเรียกการออกกำลังกายแบบนี้กันว่าพิลาทิส มาจากนามสกุลของผู้คิดค้นการออกกำลังกายแบบนี้คือ คุณโจเซฟ พิลาทิส (Joseph Pilates) ซึ่งเขาเรียกการออกกำลังกายแบบนี้ว่า “Contrology” เพราะเป็นการควบคุมแกนกลางของร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล (Neutral) ในทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหว

.

ลองนึกภาพตามนะคะ โดยปกติถ้าเราเตะขาข้างหนึ่งไปข้างหน้า โดยมากเราจะบิดสะโพกตามแรงนั้นไปด้วยเพื่อให้มีแรงเหวี่ยง แต่ถ้าฝึกแบบพิลาทิสสะโพกต้องอยู่ตรงกลางไม่บิดซ้ายหรือบิดขวา ไม่ยกขึ้นหรือยกลง ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้ต้องใช้กล้ามเนื้อแกนกลางที่แข็งแรง เพื่อยึดลำตัวให้อยู่ในสมดุลตลอดการเคลื่อนไหว จึงเป็นการเคลื่อนไหวในแบบ ‘ควบคุม’ ตามที่คุณโจเซฟเรียก

.

ความสุขจากการฝึกร่างกายผ่านพิลาทิสคืออะไร

จิ๊บจำไม่ได้ว่ามีความสุขจริงๆ ตอนไหน แต่การฝึกทำให้รู้จักร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นและรู้จักร่างกายแบบที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ อัศจรรย์มาก พิลาทิสทำให้เรารู้สึกว่า ร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ร่างกายมีคุณค่ามหาศาล ถ้าเราดูแลร่างกายดีเราจะมีโอกาสไปทำสิ่งดีอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย  อีกอย่างหนึ่งก็คือ พิลาทิสทำให้เข้าใจคำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ (Thich Nat Hanh) ที่ว่า กายกับใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

.

จิ๊บเคยมีความคิดแบบว่า ‘กายเป็นเปลือก เป็นข้างนอก ต้องดูแลใจสิ ใจเป็นแก่นแท้’  ไม่สนใจร่างกาย เพราะกลัวว่าถ้าสนใจร่างกายแล้วจะกลายเป็นพวกวัตถุนิยม (หัวเราะ) แต่จากประสบการณ์ที่เห็นว่า ใจกับกายไม่ได้แยกจากกัน เมื่อกายสมดุลตอนนั้นใจก็สมดุล เมื่อใจสมดุลตอนนั้นกายก็สมดุล — สิ่งนี้ทำให้ชีวิตเบาขึ้นเยอะ

เมื่อก่อนจะเป็นคนแบบว่า ‘ร่างกายเพลียอยากพัก แต่ใจบอกว่า พักไม่ได้แกต้องลุกขึ้นมาทำงานเดี๋ยวนี้’ ‘ร่างกายอยากเคลื่อนไหวแล้วเพราะอยู่หน้าจอนานแล้ว ใจบอกว่า ไม่ได้แกต้องทำงานให้เสร็จก่อน’ กายกับใจดึงกันไปดึงกันมา แต่เดี๋ยวนี้ถ้ากายส่งสัญญาณว่าอยากพัก ก็พัก ฟังร่างกายมากขึ้น การกินอาหารก็เปลี่ยนไป จัดสมดุลได้ดีขึ้น และส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย พอรู้จักสมดุลในตัวเรา ก็รู้จักสมดุลในมิติอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

.

สตูดิโอลับ ?

(หัวเราะมาแต่ไกล) ถ้าจิ๊บเรียกเองจะเรียกว่า‘สตูดิโอแม่บ้านพิลาทิส’ เพราะแม่บ้านเป็นคนสอน และสอนกันแบบบ้านๆ (ขำ) — คำว่า ‘สตูดิโอลับ’ มาจากเพื่อนครูพิลาทิสที่มาเล่าให้ฟังว่า นักเรียนคนหนึ่งเล่าว่ามีเพื่อนไปเรียนพิลาทิสแบบส่วนตัว (private) ในบ้านของครูคนหนึ่ง ที่นั่นรับนักเรียนจำกัดเฉพาะคนที่รู้จักเท่านั้น ให้นิยามว่าเป็น ‘สตูดิโอลับ’ ซึ่งพอให้รายละเอียดมากขึ้นๆ เพื่อนครูคนนั้นก็บอกว่า “อ๋อ…บ้านพี่จิ๊บนี่เอง” (ฮา)

.

จิ๊บตัดสินใจเรียนคอร์สครูพิลาทิส จิ๊บไม่มีความตั้งใจจะเรียนเพื่อสอน เรียนเพราะอยากรู้พิลาทิสให้ลึกมากขึ้น เพื่อสอนตัวเองเวลาฝึกเองที่บ้าน—จิ๊บซื้อเครื่องไว้ฝึกเองในบ้าน ตามประสาแม่บ้านที่อยู่บ้านเป็นหลัก คอร์สการเป็นครูทำให้ได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานกายวิภาค (Anatomy) ไปจนถึงการสอบใบรับรองครูพิลาทิส

พอเรียนคอร์สการเป็นครูจบ ก็มีเพื่อน ญาติพี่น้อง คนรู้จัก หลายคนมีปัญหาสุขภาพมาขอลองเล่นพิลาทิส บางคนมีอาการออฟฟิศซินโดรมอย่างหนัก บางคนออกกำลังกายจนบาดเจ็บ บางคนก็แค่อยากรู้อยากลอง แต่ส่วนมากที่สตูดิโอแม่บ้านแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของคนที่(เคย)ขี้เกียจไปออกกำลังกายนะคะ (หัวเราะ)

ในตอนแรก การฝึกพิลาทิสให้ความสุขโดยตรง เป็นช่วงเวลาของการพูดคุยกับร่างกาย เชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจ แต่เมื่อได้เอาความชอบมาแบ่งปันกับคนอื่น พิลาทิสกลายเป็นความสุขใจที่ได้เห็นนักเรียนที่เคยบาดเจ็บ เขาไม่บาดเจ็บแล้ว นักเรียนที่ไม่แข็งแรง กลับมาแข็งแรงขึ้น นักเรียนคนที่ทำท่านี้ไม่ได้ กลับมาทำได้อย่างสบายๆ — นักเรียนหลายคนบอกว่าพิลาทิสทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เหมือนได้กำลังกายมาช่วยเสริมกำลังใจ

.

พิลาทิสทำให้เรียนรู้ว่าร่างกายของเรานั้นอัศจรรย์มาก พอร่างกายรู้จักสมดุลเขาจะสอนสมดุลให้  ร่างกายจะสอนสติให้ ขอให้เรากลับมาที่ร่างกาย ฟังร่างกาย และขอให้มีความสุขจากร่างกายที่สมดุลค่ะ

.

คนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วอยากไปหาครูจิ๊บจะผิดหวังนะคะ สตูดิโอลับจะลับต่อไป ^^

ชวนพวกเราลองกลับมาที่ร่างกาย ตอนนี้เลย ลองนั่งให้สมดุล ล้าตรงไหนอยู่หรือเปล่า ลองออกเดินสักหน่อยไหม ร่างกายต้องการความช่วยเหลือจากเราหรือเปล่า …ลองฟังแล้วขยับร่างกายบ้างนะคะ

.

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save