8 ช่องทางความสุข

เลิกเหล้า = ลดทุกข์

เราไม่เคยเข้าใจว่าทำไมเขาจึงกินเหล้า อะไรทำให้เขาหันเข้าหาเหล้า เขามีปัญหาอะไร เขาต้องการแก้ปัญหาอะไร ถ้าเราได้นั่งฟัง ได้ฟังเขาจริงๆ เราจะได้ยินความทุกข์ของเขา และถ้าเราหาวิธีแก้ทุกข์ เขาจึงจะหันมาเลิกเหล้า

.

.

คุณพิมพ์มณี เมฆพายัพ (นุต) ผู้ประสานงานสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า


ตอนที่นุตบอกชื่อสำนักงาน ผู้เขียนต้องขอให้เธอทวนชื่อและขอบเขตการทำงานของเธอถึงสองครั้ง — ไม่ง่ายเลยที่คนทั่วไปจะเข้าใจการทำงานของหน่วยงานนี้ นุตอธิบายว่าทุกจังหวัดของไทยมี ‘ประชาคมงดเหล้าจังหวัด’ ซึ่งทำงาน กับองค์กรต่างๆในระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนและรณรงค์ ลด ละ เลิก เหล้าและปัจจัยเสี่ยง เธอทำงานอยู่ในสำนักงานกลางทำหน้าที่ประสานงานกับ ประชาคมงดเหล้าระดับภาคและจังหวัดทั่วประเทศ — “แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว” ผู้เขียนแซวเธอกลับไป


นุตทำงานในองค์กรนี้กว่า 18 ปีแล้ว เข้ามาทำเพราะความตั้งใจดีล้วนๆ ตามความเข้าใจของนุต (ในตอนนั้น) หน้าที่ของเธอคือการผลักดันให้ผู้คนลด ละ เลิก การกินเหล้า ซึ่งก็นับว่ามากแล้ว แต่ในการขับเคลื่อนงานจริง ยังมีปีกอีกสองข้างที่นุตต้องให้ความสำคัญด้วยพร้อมๆ กัน ‘เหมือนไม่ใช่งานเราแต่ก็เป็นงานของเราด้วย’ ซึ่งในตอนนั้นนุตไม่เข้าใจ


.

ปีกแรกเป็นการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ แพทย์ ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานสาธารณสุข การทำงานวิเคราะห์ สังเคราะห์ อีกปีกหนึ่งคืองานสื่อสารสาธารณะ การสร้างความเข้าใจต่อผู้คนในสังคม ภายใต้แนวคิดการตลาดเพื่อสังคม เนื้อหาของงานส่วนนี้คือการทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การเลิกเหล้าสำคัญอย่างไร เหตุใดประเทศของเราจึงต้องทำเรื่องนี้

.

นุตเล่าว่าตัวเธอในขณะนั้น “เครียดมาก ภายในตัวเราเต็มไปด้วยความเครียด กดดัน บางคำถามของผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่นักสังคมอย่างเราไม่รู้ ไม่คุ้น มันไม่ใช่ความถนัดของเรา งานอีกด้านเป็นงานสื่อสารสาธารณะยิ่งไม่คุ้นใหญ่เลย ต้องหาประเด็น หากรณีตัวอย่างมาออกสื่อ — เราถนัดในการทำงานกับพื้นที่ ไม่ใช่งานแบบนี้แต่บอกออกมาไม่ได้ — เมื่อมองกลับไป ภายในตัวของเราขณะนั้นมีความหวั่นกลัว มีความขัดแย้งภายในสูงมาก” — เธอรู้สึกว่าเธอแวดล้อมไปด้วยความขัดแย้งและวิธีหนึ่งในการปกป้องตัวเองก็คือ การตอบโต้ โต้เถียง จากความขัดแย้งภายในก็เกิดเป็นความขัดแย้งภายนอก ขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน เมื่อมองย้อนกลับไปเป็นนุตบอกว่า “เป็นเพราะเราไม่เข้าใจงานของเขา เราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการจากเรา พร้อมกันนั้น เราก็รู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจความทุกข์ยากและความเหน็ดเหนื่อยของเราเลย”

.

สิ่งนี้ค่อยๆ คลี่คลายเมื่อนุตได้พบกับกระบวนการอบรม TEP โดย ธนาคารจิตอาสา นุตบอกว่า ระยะนั้นเป็นช่วงที่เธอกำลังรับผิดชอบงานฝึกอบรม “ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่า ต้องออกมาทำงานอบรมด้วยตัวเอง เพราะไม่เห็นว่าใครที่จะรู้จักเนื้องานดีเท่ากับตัวเราเอง แต่พร้อมกันนั้นเราก็ยังไม่มั่นใจมากนัก” ในการอบรมครั้งแรกสร้างความมั่นใจให้นุตเต็มร้อย เพราะการอบรมนั้นช่วยให้เธอเห็นภาพรวมของภารกิจของเธอ วิทยากรและกระบวนการพาให้นุตเห็นภาพรวม ภารกิจและความหมายของงาน พร้อมกันนั้นก็ช่วยให้เห็นจังหวะก้าว ค่อยๆ ไป ทีละขั้น ทีละขั้น นอกจากนี้ยังกระบวนการยังพาให้นุตได้กลับมาทำความรู้จักธรรมชาติของตัวเอง ได้ทบทวนตัวเอง ทบทวนทักษะทั้งภายนอกและภายในช่วยให้เธอเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งที่จะกลับไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.


“ในการอบรมTEP ครั้งแรก เขาขออาสาสมัครนำเกมสันทนาการ มันเป็นกิจกรรมเล็กๆ ไม่กี่นาที เราอาสาทันทีรู้สึกว่ามันหมูมาก — พอจบกิจกรรมก็ช่วยกันถอดประสบการณ์ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราเห็นช่องโหว่ของตัวเองเป็นครั้งแรก เพิ่งเห็นว่าเราเป็นคนเร็ว เรารอไม่ค่อยได้ ทนความเงียบไม่ได้ พอเห็นวงโต้ตอบช้าก็รีบเฉลย”

“เป็นครั้งแรกที่เราเห็นด้วยประสบการณ์จริงๆ ว่า ช้าก็ได้ เรื่อยๆ ก็ได้ ความเงียบไม่ได้แปลว่าไม่ได้เรื่อง แต่มันอาจจะแปลว่า ทุกคนกำลังใคร่ครวญและเรารอได้ ให้เวลาอีกสักหน่อย” — สิ่งนี้พลิกการรับรู้ของเธอ และส่งผลต่อบุคลิกภาพของเธอทั้งหมดและยังคงส่งผลมาถึงวันนี้


“เราถูกบ่มไว้ด้วยชุดความเชื่อที่ว่านักจัดอบรมที่ดีต้องตลก งานที่ดีต้องมีการโต้ตอบเยอะๆ คนนำต้องทำให้วงมีการโต้ตอบอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราถูกกระตุ้นและต้องคอยกระตุ้นวงอยู่ตลอด ทนความเงียบไม่ได้ เมื่อวงเงียบเราตีความว่า เพราะเราห่วย เราไม่ได้เรื่อง เราไม่เก่ง — พอตั้งหลักใหม่ว่า ความเงียบแปลว่าทุกคนกำลังให้เวลากับการใคร่ครวญ การทอดเวลาให้เนิบช้าคือการให้เวลากับสมาชิกได้ใคร่ครวญไม่ด่วนสรุป — คนละเรื่องกันเลย มันทำให้เรากล้าเป็นตัวเองมากขึ้น กลัวน้อยลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในตัวก็น้อยลง เมื่อทบทวนต่อมาอีกจึงได้พบว่า เมื่อก่อนเราไม่ค่อยกล้าลุกขึ้นมาเป็นผู้นำก็เพราะลึกๆ แล้วเรากลัว เมื่อได้มุมมองใหม่ ได้ตั้งหลักใหม่ เราก็เป็นผู้นำแบบใหม่คือช้าได้ พลาดบ้างก็ได้ ไปด้วยกัน — มันช่วยเรามากๆ กดดันน้อยลง แต่มั่นคงมากขึ้น”


การอบรมในหลักสูตรนั้น นุตนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานหลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่แห่งการรับฟังและสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม


“หลังจากอบรม TEP ไม่นาน ก็ได้รับงานใหม่ เป็นการจัดประชุมนโยบายระดับอำเภอ ประกอบด้วยแกนนำชาวบ้านและฝ่ายปกครองภาครัฐเช่นนายอำเภอ ซึ่ง “ปกติเป็นการประชุมนั่งโต๊ะ มีประธานกล่าวเปิด มีคนแถลงการณ์ประชุม แล้วก็ปิดประชุม” แต่ในครั้งนั้น นุตขออนุญาตจัดวงประชุมและวางกระบวนการประชุมรูปแบบใหม่ เธอจัดพื้นที่วงประชุมแบบเปิด ผู้ร่วมประชุมล้อมวงนั่งคุยกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีโต๊ะกั้น ไม่มีเวที ทุกคนนั่งอยู่ในระนาบเดียวกัน คุยกัน ฟังกัน ซึ่งนับเป็นรูปแบบการประชุมที่ ‘แหวกประเพณี’ ที่สุด เมื่อจบงานนั้น นายอำเภอท่านหนึ่งเดินมาตบบ่าแล้วบอกนุตว่า “เยี่ยมมาก ผมเพิ่งเคยได้ยิน ได้เห็น ว่าชาวบ้านเขาคิด เขาต้องการอะไร ขอบคุณมาก ถ้ามีการประชุมแบบนี้อีกเมื่อไรช่วยบอกผมด้วย” — การแสดงออกนี้ของนายอำเภอเป็นกำลังใจและเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บอกเธอว่า สิ่งที่เธอคิด สิ่งที่เธอเชื่อ เธอมาถูกทางแล้ว “ปกตินายอำเภอมาร่วมประชุมเฉพาะตอนเปิดงาน พูดเสร็จแล้วก็กลับ นั่นเป็นครั้งแรกที่นายอำเภออยู่ด้วยตลอดงาน และทุกคนได้พูด พูดแล้วก็มั่นใจได้ว่าทุกคนได้ยิน — นี่คือหัวใจของการประชุม”

.

ความสำคัญของการฟัง
ทักษะอีกอย่างหนึ่งที่ยังติดตัวมาจากการอบรมคือ ทักษะการฟังและการได้ยิน “สมัยที่ทำงานใหม่ๆ พวกเราทำงานหนักมากมีแคมเปญแรงๆ ออกมาหลายชุด ด้านหนึ่งมันก็สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัว เช่นแคมเปญ จน เครียด กินเหล้า หรือแคมเปญ ให้เหล้า=แช่ง แต่พร้อมกันนั้นพวกเราก็โดนนักมานุษยวิทยาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน โดนกระแนะกระแหน โดนถากถาง ฯลฯ บางเรื่องเข้าใจ บางเรื่องก็ไม่เข้าใจ เมื่อมองย้อนกลับไปก็เข้าใจมากขึ้น ตอนนั้นพวกเราทำงานแบบพุ่งเป้า ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ ละเลยมิติของจิตใจ — เมื่อมาถึงวันนี้ นุตว่านุตเข้าใจมากขึ้น”

.

นุตยกตัวอย่างว่า ช่วงหนึ่งเธอผลักดันโครงการงานศพและงานบุญประเพณีปลอดเหล้า จากงานระดับชุมชน สู่นโยบายกระทรวงมหาดไทย ซึ่งงานเหล่านี้มีมาตรการงดเลี้ยงเหล้าในการจัดเลี้ยงและการงานบุญ ทั้งนี้เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ ลดค่าใช้จ่าย และลดอุบัติเหตุ เมื่อได้ลงพื้นที่ถอดบทเรียนเพื่อประเมินผล จากการประกาศนโยบายโดยกระทรวง ก็จะมีเสียงแซวมาจากคนเมาที่นั่งอยู่นอกวงประชุมของประชาคมหมู่บ้าน — ที่เสียงของเขาอยู่นอกวงก็เพราะเขาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมวงถอดบทเรียน



“ในตอนนั้น ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าเราทำถูกต้องแล้ว ก็เรากำลังรณรงค์เรื่องงดเหล้าจะให้คนเมาเข้ามาป่วนงานได้อย่างไร แต่ใจอีกด้านก็รู้สึกตะหงิดๆ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันคืออะไร— ช่วงนั้นเสียงกระแนะกระแหนที่ได้ยินบ่อยๆ คือ ‘พวกสังคมคนดี’ — ในวันนั้น เราเหนื่อยเมื่อได้ยินคำเหล่านี้ ‘มันไม่ช่วย’ แต่มาถึงวันนี้ก็เข้าใจคนที่ว่าเรามากขึ้นเพราะการห้ามคนกินเหล้าเข้างานบุญก็คือการกีดกัน การเหยียด ยิ่งเพิ่มช่องว่างของความแตกต่าง ตอกย้ำบาดแผล ฯลฯ— ครั้งหนึ่งในการประชุม ‘คนหัวใจเพชร’* พี่คนหนึ่งพูดว่า คนติดเหล้าจะเลิกเหล้าได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้าใจความทุกข์ของเขา เพราะฉะนั้น การชวนคือการเข้าไปฟังความทุกข์ของเขา — นั่นทำให้เราเข้าใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราชวนเขามาเข้าโครงการเลิกเหล้า งดเหล้า แต่เราไม่เคยเข้าใจว่าทำไมเขาจึงกินเหล้า อะไรทำให้เขาหันเข้าหาเหล้า เขามีปัญหาอะไร เขาต้องการแก้ปัญหาอะไร — ถ้าเราได้นั่งฟัง ได้ฟังเขาจริงๆ เราจะได้ยินความทุกข์ของเขา และถ้าเราหาวิธีแก้ทุกข์ เขาจึงจะหันมาเลิกเหล้า…มันต่างกันมากกับการชักชวนให้เขามาเข้าโครงการเลิกเหล้าเฉยๆ


จากนั้นนุตจึงริเริ่มแคมเปญ ชวน = ฟังให้ได้ยิน พร้อมกับปรับกระบวนทัศน์ (mind set) ของเพื่อนๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศถึงจุดยืนในการทำงานร่วมกับนักดื่ม ว่า คนดื่ม คือ เพื่อน และออกแบบการรณรงค์เพื่อการ ลด ละ เลิก เหล้า โดยใช้คนดื่มเป็นศูนย์กลางนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

.

ส่งท้าย
นุตบอกว่า การได้อบรมในหลักสูตร TEP ทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักงานของตัวเองมากขึ้น ทำให้เธอมีความสุขและมีความมั่นใจมากขึ้น “ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและเข้าใจผู้คนรอบตัวมากขึ้น ได้กลับไปขอโทษคนอื่นๆ ที่เราเคยขัดแย้งกับเขา กลับไปขอบคุณเขา สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งมีความสามารถที่จะเห็นความรักที่คนอื่นๆ มีให้เรามากขึ้น —เมื่อก่อนจะได้รับความรักเฉพาะการได้ยินผ่านหู ต้องบอกถึงจะรู้ (หัวเราะ) ความรู้เรื่อง 5 ภาษารัก** ทำให้รับความรักได้มากขึ้น อ่อนโยนขึ้น ‘แต่ก็ยังร้ายอยู่อีกหลายเรื่องนะคะ ไม่ได้ดีไปหมดทุกเรื่องหรอก’—”


แหม…ก็เป็นธรรมดาเนอะ การได้เห็นว่าตัวเองยังอยู่ในเส้นทาง และในเส้นทางนั้นมีความรักและกัลยาณมิตรรายล้อมก็อาจจะเป็นเพลังเพียงพอในการสานต่อภารกิจอันดีงามแล้ว

.

*คนหัวใจเพชร หมายถึง ผู้ที่เคยติดเหล้าและสามารถเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในทางวิชาการถือว่าเป็นการเลิกการติดเหล้าได้อย่างถาวร

**5 ภาษารัก โดย ดร.แกรี่ แชปแมน (Dr. Gary Chapman)
บอกรักด้วยคำพูด (Words of Affirmation)
บอกรักด้วยสัมผัส (Physical Touch)
บอกรักด้วยการกระทำ (Acts of Service)
บอกรักด้วยของขวัญ (Receiving Gifts)
บอกรักด้วยการใช้เวลาร่วมกัน (Quality Time)

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save