เส้นทางความสุข : การร่วมแรงเป็นชุมชน
วันนี้ชุมชนคงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ทางกายภาพ เราอาจรวมกลุ่มเป็นชุมชนกันได้ผ่านทางสังคมออนไลน์ เป็นชุมชนในมิติใหม่ ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีคนเคยตั้งคำถามว่า ถ้ามีปลาอยู่ 1 ตัว ทำอย่างไรถึงจะกินได้นานที่สุด บางคนตอบว่าเอาไปหมัก บางคนตอบว่าเอาไปตากแห้ง หนึ่งในคำตอบที่น่าชวนให้คิดที่สุดก็คือ ‘เอาไปแบ่งให้คนอื่น’
การแบ่งปัน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เป็นความงดงามที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในการรวมกลุ่มของครอบครัว เครือญาติและชุมชนที่เข้มแข็ง ทว่าน่าเสียดายที่ภาพดังกล่าวกลับค่อยๆ ห่างหายไปจากความคุ้นเคยของคนในสังคมเข้าไปทุกที ยิ่งกระแสบริโภคนิยม กระตุ้นเร้าให้คนหันไปพึ่งพาวัตถุภายนอกมากขึ้นเท่าไร ภาพของการร่วมแรงเป็นชุมชนก็ดูจะไกลตัวเราออกไปมากขึ้นเท่านั้น
พื้นที่ดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างที่กระแสสังคมได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชุมชนจากหน้ามือเป็นหลังมือ “การผลิตแบบใหม่และเศรษฐกิจแบบใหม่ ทำให้คนเริ่มไม่สนใจการพึ่งพากัน แต่ละคนต่างไม่มีเวลา แย่งกันบริโภค” พระครูธรรมคุต (พระสรยุทธ ชยปญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผางาม และพระนักพัฒนาชุมชนเล่าถึงภาพวิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป