8 ช่องทางความสุข

ความสุขของการบริหารสื่อคุณภาพของ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

เมื่อเอ่ยถึงสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพของสังคมไทย ชื่อ “ไทยพีบีเอส” จะต้องติดอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ที่ผู้ชมนึกถึงอย่างแน่นอน  การก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้อำนวยการของ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล เมื่อปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องท้าทายผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งมากทีเดียว ท่ามกลางความรับผิดชอบพนักงานนับพันคนและผู้ชมหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ ผู้บริหารหญิงแววตาอ่อนโยนคนนี้นำพาองค์การสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไปในทิศทางใด และเธอก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้อย่างไร เราจะพาคุณไปค้นหาคำตอบด้วยกัน

 “หนึ่งในวิสัยทัศน์ตอนสรรหาผู้บริหารสถานี คือ เราจะใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ในการบริหารองค์กร มันอาจจะฟังดูเป็นนามธรรมสักหน่อย แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการแสดงเจตจำนงของเราว่า เรามุ่งมั่นเข้ามาเพื่อทำงานกับเขา ให้เกียรติเขา ส่งเสริมพวกเขาให้ได้ทำงานเต็มที่ เพราะเราจะพูดตลอดเลยว่า ผู้บริหารอย่างเรา มาแล้วก็ไป แต่ที่นี่คือบ้านของคุณ คุณรู้จักบ้านหลังนี้ดีกว่าเราเยอะ เราเข้ามาเพื่อที่จะมาสนับสนุนให้พวกคุณเดินต่อได้อย่างแข็งแรง เราก็พยายามส่งสัญญาณอย่างนี้อยู่ตลอดและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เราจริงใจต่อเขาและใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ในการทำงานจริงๆ”

ดร.วิลาสินีกล่าวถึงหัวใจการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสื่อคุณภาพตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้

ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้บริหารหญิงคนนี้พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า เธอคือสมาชิกในครอบครัวเดียวกับพนักงานทุกคน โดยพยายามลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานให้มากที่สุด

“เราไม่เลือกมีรถประจำตำแหน่ง ขับรถมาทำงานเองและจอดในที่จอดเดียวกับพนักงาน ถ้าเจอใครก็จะทักทายพูดคุย พยายามทำให้เห็นว่า เราเปิดอยู่เสมอ บอกทุกคนว่ามีอะไรก็มาคุยกับเราได้ อีกอย่างเราก็ไม่ได้มาจากประสบการณ์ของคนทำข่าวร้อยเปอร์เซ็นต์ จะให้เดินเข้าไปคลุกอยู่ในห้องข่าวเป็นประจำก็คงไม่ดีนักเพราะไม่อยากให้เกิดภาพผู้บริหารลงมาแทรกแซงการทำงาน”

หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน พายุลูกแรกก็ซัดโหมกระหน่ำเข้ามาเพราะเธอเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในช่วงครบรอบปีที่ 10 ของสถานีพอดี และกฎหมายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือที่รู้จักกันว่า “ไทยพีบีเอส” ระบุไว้ว่า เมื่อครบ 10 ปีต้องทบทวน พ.ร.บ. โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ

จุดสำคัญคือเราเข้ามาในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อปรับตัวกันเยอะมาก เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปรับองค์กรให้มีความคล่องตัว ใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับลดพนักงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นลง วางยุทธศาสตร์ให้รับมือความเปลี่ยนแปลงของสื่อให้รวดเร็วที่สุด นี่เป็นความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา

แน่นอนว่าการทำงานบริหารคนย่อมมีผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ แต่ด้วยความเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมองเห็น “โอกาสในปัญหา” มากกว่าเห็น “ปัญหาในโอกาส” เธอจึงเลือกใช้ความท้าทายเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานพยายามพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับโลกของสื่อยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“เราเลือกใช้สองมาตรการในการปรับองค์กรให้มีขนาดเล็กลง คือการเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด หรือ early retire  กับการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายให้กับพนักงานแต่ละคนอย่างชัดเจน เช่น ภายในปี 61 เราต้องมีแพลทฟอร์มสื่อใหม่มากขึ้น และต้องปรับวิธีการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น จากเดิมออกไปทำข่าวแต่ละครั้งต้องยกกองออกไป เปลี่ยนเป็นนักข่าวคนเดียวทำงานได้หลายหน้าที่ เราต้องพยายามทำให้พนักงานเห็นทิศทางบวกกับทิศทางลบไปพร้อมกัน  คือ ถ้าไม่ทำก็จะเจอวิกฤติ ถ้าเดินทางนี้อาจต้องท้าทายต้วเอง แต่เราก็เห็นทางบวก”

นโยบายสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานใหม่ในยุคของผู้บริหารหญิงท่านนี้ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเป็นแท่ง ต่างคนต่างทำงานภายในแผนกตนเองสู่การทำงานแบบ “Content base”  หรือเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้งเพื่อให้คนทำงานสามารถทำงานร่วมกันกับแผนกอื่นที่ทำประเด็นเดียวกันได้

 เมื่อก่อนต่างคนต่างทำงานในแท่งของตนเอง ตอนนี้เราพยายามผ่าตัดให้ทำงานแบบ content base  แต่ก็ยังทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเราคัดเลือกจากคนที่อาสาอยากเปลี่ยนแปลงและคนที่มีแววพร้อมจะเปลี่ยน ตอนนี้ยังอยู่ในกลุ่มนำร่องปี 61  โดยเราเตรียมความพร้อมทั้งด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพก่อนที่จะเปลี่ยนสายงาน ถ้าใครปรับตัวไม่ได้ และประเมินไม่ผ่านก็คงต้องได้รับการพิจารณาให้ออก โดยเราไม่ได้ให้ออกในทันทีแต่จะส่งสัญญาให้รู้ก่อนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ คือ ถ้าคุณกล้าท้าทายตัวเอง คุณจะมีโอกาสเติบโต แต่ถ้าคุณไม่ปรับตัว คุณก็ต้องพบกับวิกฤติอะไรบ้าง

ในฐานะผู้บริหารที่ต้องดูแลพนักงานนับพันคน การทำให้ทุกคนพึงพอใจคงไม่ใช่เรื่องง่าย พายุอารมณ์จากความรู้สึกของพนักงานที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันจึงเป็นเรื่องที่เธอต้องรับมือด้วยหัวใจเข้มแข็ง พายุลูกใหญ่ที่ทำให้เธอแทบล้มทั้งยืนถาโถมเข้ามาหลังจากรับตำแหน่งผู้บริหารได้เพียงห้าเดือน เมื่อคณะกรรมการนโยบายมีมติงดให้ “เงินรางวัลพิเศษ” หรือรู้จักกันทั่วไปว่าโบนัสในปีนั้นพอดี

“ในฐานะที่เราเป็น ผอ. เราต้องทำให้พนักงานยอมรับและเข้าใจ แม้ว่าเราจะชี้แจงล่วงหน้าก่อนหลายเดือน แต่ก็ยังมีคนคาดหวังว่าจะได้  สิ่งที่ทำได้ในเวลานั้น คือ พยายามพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จากความรู้สึกไม่พอใจสู่การสร้างความท้าทายตัวเองร่วมกันว่าเราใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าได้อย่างไร ถ้าเราช่วยกันลดค่าใช้จ่ายจนมีเงินเหลือ ในวันข้างหน้าเราอาจได้รับเงินรางวัลพิเศษอีกก็ได้ คนที่เข้าใจก็มาให้กำลังใจ แต่คนที่ไม่เข้าใจก็โจมตีเราเยอะมากจนเกือบถอดใจ เพราะไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ไม่เสียใจเท่าโดนตำหนิเรื่องไม่เห็นแก่พนักงาน”

ท่ามกลางสื่อมากมายในโลกปัจจุบัน การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้ผู้ชมเลือกเปิดช่องไทยพีบีเอสนับเป็นสิ่งที่ท้ายทายมากที่สุดของการนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของสถานี การมองปัญหาอย่างรอบด้านและรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนคือหัวใจสำคัญที่ผู้บริหารหญิงคนนี้เลือกนำมาใช้ในการบริหารงาน

“เราเป็นสื่อสาธารณะ ต้องบริหารเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากข้างนอกด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้พนักงานภูมิใจเมื่อออกไปข้างนอกแล้วได้รับคำชื่นชมว่าเป็นสถานีโทรทัศน์คุณภาพ  ในด้านหนึ่งประชาชนกำลังขาดความเชื่อมั่นในสื่อสาธารณะ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นโอกาสและความท้าทายให้เราดึงความเชื่อมั่นกลับมา ซึ่งเราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มพนักงานและศรัทธาในตัวเอง เราเริ่มทำงานผ่านทีมมากขึ้นเพราะเราเชื่อในคุณค่าของสร้างผู้นำแบบรวมหมู่ ทำให้ผู้คนรู้สึกภูมิใจกับการเป็นผู้นำร่วมกัน”  

แม้ว่าภาพที่คนภายนอกมองเห็นผู้บริหารหญิงท่านนี้จะดูเหมือนเป็นผู้หญิงตัวเล็กที่ไม่กล้าสู้รบปรบมือกับใคร ทว่า เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย เธอก็พร้อมยืนหยัดต่อสู้ด้วยหัวใจที่เข็มแข็งเพื่อนำพาองค์กรเดินหน้าต่อไปโดยไม่หวาดกลัวว่าตนเองจะบาดเจ็บล้มลงระหว่างทาง

เราตัดสินใจเข้ามาแล้ว เข้ามาโดยที่รู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์ในองค์กรนี้เป็นยังไง ถ้าไม่อยากเจอก็ไม่ควรเข้ามาแต่แรก เราเป็นคนตัดสินใจเข้ามาเอง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ท้อไม่ได้ เราก็ต้องพยายามลุกขึ้นเดินต่อไป เช่น มองมุมบวกของคน และต้องเป็นหลักให้คนในองค์กรนี้รู้ ซึ่งเราส่งสัญญาณบอกพนักงานตลอดว่าพวกคุณไม่ต้องห่วง ผอ.  ไม่ว่าจะยังไงเราจะไม่ทิ้งพวกคุณ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรารับก่อนเสมอ ซึ่งเราพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแบบนี้จริงๆ และเราเชื่อมั่นในพลังของมนุษย์ที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้นและเคารพคุณค่าของมนุษย์ทุกคน

ตลอดเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาของการนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร อุปสรรคขวากหนามและพายุที่โหมกระหน่ำเข้ามาอาจทำให้เธอซวนเซไปบ้าง แต่เมื่อพายุผ่านไป เธอจึงเริ่มมองเห็นดอกไม้เริ่มผลิบานในใจตนเองและผู้คนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ

“ทุกวันนี้คิดว่าตัวเองนิ่งและมั่นคงมากขึ้น เพราะเราเริ่มปรับตัวและสามารถจัดสรรเวลาชีวิตตนเองได้ดีขึ้น รับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวันอย่างมีสติมากขึ้น ไม่ร้อนรนกับปัญหาที่ผ่านเข้ามา แต่ค่อยๆ มองและแก้ไขไปทีละอย่างแบบไม่กดดันตัวเองมากนัก  เราเรียนรู้หรือมีศิลปะที่ทำงานกับคนแต่ละแบบได้มากขึ้น เราไม่ได้ตัดสินใจโดยพละการและไตร่ตรองมากขึ้น สิ่งที่ทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นทุกวัน  คือ เราสัมผัสได้ถึงพลังและกำลังใจที่คนในที่ทำงานส่งมาให้เรามากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเขายอมรับเพราะเราเก่ง แต่เขายอมรับให้เรานำเขาและคอยเป็นกำลังใจให้เรา”

ทุกๆ เช้าก่อนเริ่มต้นงานวันใหม่  ผู้บริหารหญิงตัวเล็กแต่แฝงด้วยความมุ่งมั่นนำพาสื่อคุณภาพของสังคมไทยก้าวไปข้างหน้าคนนี้มักยกมือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่9 ด้านหลังโต๊ะทำงานว่า

 “ขอให้ลูกได้ใช้ความสามารถและความเพียรพยายามนำพาองค์กรนี้ให้ทำประโยชน์สูงสุดให้แก่แผ่นดินเพราะนี่คือเป้าหมายสูงสุดที่ลูกเข้ามารับหน้าที่นี้” 

(ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค ดร.วิลาสินี พิพิธกุล)

 

 

การทำงาน

ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save