8 ช่องทางความสุข

ความสุขจากการมองโลกด้วยหัวใจของ “ต่อพงศ์ เสลานนท์”

“พ่อแม่ที่มีลูกย่อมหวังจะได้พึ่งพิงยามแก่เฒ่า แต่ความหวังนี้ได้พังทลายลงหลังจากผมกลายเป็นคนตาบอด  ผมรู้สึกกดดันเพราะไม่อยากเป็นภาระให้ครอบครัว และไม่อยากให้ทุกคนหมดหวัง  มันเป็นจุดสะเทือนใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ผมมีจุดหมายว่าผมต้องกลับมาเป็นที่พึ่งของพ่อแม่และคนรอบข้างให้ได้”

ต่อพงศ์ เสลานนท์ หรือ “เติ๊ด” บุตรชายคนสุดท้องของครอบครัวเสลานนท์บอกเล่าเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตครั้งสำคัญจากเด็กหนุ่มตาดีสู่เด็กหนุ่มตาบอดในวัยเพียง 16 ปีจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนมกราคมปี 2535  ในวันนั้นเขารู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในก้นบึ้งหุบเหวลึกที่มองไม่เห็นแสงสว่างจากขอบฟ้าส่องลงมาแม้เพียงนิดเดียว

“หลังออกจากโรงพยาบาลกลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีอยู่คืนหนึ่ง ผมนอนอยู่ในห้องแล้วพ่อกับแม่เข้ามาในห้องและคิดว่าผมหลับอยู่  ผมได้ยินพ่อพูดกับแม่ว่า ‘เสียดายเนอะ ลูกคนนี้’ คำพูดนี้มันเหมือนสะท้อนออกมาจากก้นบึ้งในใจของท่านว่า ท่านมีความคาดหวังกับผมมาก ผมรู้เลยว่า ความพิการในภายหลังมันทำให้คนรู้สึกสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์เพราะเราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อให้เขาดูแลเรา มันเป็นสภาวะที่แย่มากๆ ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนกำลังตกเหวลึก”

ช่วงหกเดือนแรก เติ๊ดต้องเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลอยู่หลายแห่งเพื่อหาทางรักษาดวงตาให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง จนกระทั่งย่างเข้าเดือนเจ็ด แพทย์ยืนยันว่า เขาไม่มีโอกาสกลับมามองเห็นอีก เขาจึงเริ่มยอมรับความจริงและพร้อมจะก้าวเดินต่อไปในความมืดด้วยหัวใจที่เข็มแข็ง

“ผมเป็นคนเดินออกมาจากห้องพบแพทย์แล้วบอกแม่ด้วยตนเองว่า ‘เติ๊ดเป็นคนตาบอดแล้วนะ’ แค่นี้สั้นๆ ผมไม่เป็นผู้ป่วยแล้ว เพราะถ้ายังรู้สึกว่าเป็นผู้ป่วยก็จะต้องหาทางรักษาไปเรื่อยๆ ดิ้นรนไปสู่จุดที่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ซึ่งในโลกความเป็นจริงมันอาจใช้เวลา เงิน หรือทรัพยากรในชีวิตเยอะมาก ถ้าคุณยอมรับได้เร็วเมื่อไหร่ คุณก็จะไปต่อได้เร็วเท่านั้น ผมไม่ได้รอให้คนในครอบครัวมาบอกว่า ต้องทำใจ แต่ผมบอกให้พวกเขายอมรับความจริงและปรับตัวตาม”

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา  เติ๊ดจึงเริ่มต้นชีวิตใหม่จากการมองโลกด้วยดวงตาสู่การมองโลกด้วยหัวใจโดยมีมืออันอบอุ่นของสมาชิกทุกคนในครอบครัวค่อยๆ ช่วยดึงเขาขึ้นมาจากหุบเหวลึกอันมืดมิดทีละน้อย จนในที่สุดเขาสามารถปีนกลับขึ้นมายืนหยัดบนผืนดินด้านบนด้วยสองเท้าของตนเองอีกครั้งหนึ่ง และยังเปิดรับพลังจากแสงตะวันอันเจิดจ้าให้ส่องเข้ามาในหัวใจจนเมล็ดพันธุ์ความเข้มแข็งเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่กลายเป็นที่พึ่งพิงของคนตาบอดอีกมากมายในเวลาต่อมา

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ หรือเติ๊ด นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน (ดำรงตำแหน่งสองสมัยติดต่อกันตั้งแต่เมษายน 2555 ถึง เมษายน 2563)

 ความฝันอันเจิดจรัสในโลกมืด

“การตาบอดตอนโตก็เหมือนกับเราเกิดใหม่ แต่มันต่างจากตอนที่เราเกิดจากท้องแม่ซึ่งเราเกิดมาจากความทรงจำว่างเปล่า  การตาบอดตอนโตเป็นการเกิดใหม่ที่ยังมีความทรงจำเดิมหลงเหลืออยู่  ทำให้เราต้องปรับตัว เรียนรู้ และทำความเข้าใจตนเองให้ได้ก่อน”   

เติ๊ดบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินในความมืดว่าในวันนั้นเขาเองก็แทบมองไม่เห็นทางเดินข้างหน้าเช่นกัน เพราะจากเดิมเคยตั้งใจอยากเรียนเตรียมทหาร หรือเศรษฐศาสตร์ แต่พอกลายเป็นคนตาบอด เขาต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่ จากเรียนโรงเรียนทั่วไปย้ายมาเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดแทน

เขาต้องเริ่มต้นอ่านหนังสือโดยใช้นิ้วสัมผัสอักษรเบรลล์และฝึกใช้ไม้เท้าขาวเพื่อก้าวเดินออกจากบ้านด้วยตนเอง ที่นี่ทำให้เขาพบว่า เขาไม่ได้ก้าวเดินอย่างโดดเดี่ยว หากยังมีเพื่อนตาบอดที่พร้อมจะก้าวเดินไปในความมืดด้วยกัน และเขาเริ่มเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติอีกครั้งหนึ่ง

เติ๊ดเลือกศึกษาต่อปริญญาตรี คณะคุรุศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตเพื่อเข้าใจตนเองและเข้าใจคนที่มีความต้องการเป็นพิเศษมากขึ้น หลังจากเขาได้ทำหน้าที่เป็นครู กศน. ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขาจึงเริ่มมองเห็นคุณค่าของตนเองในฐานะ “ผู้ให้” อีกครั้งหนึ่ง  โดยเฉพาะเมื่อได้ยินคำว่า “ครูเติ๊ด”

เวลามีนักเรียนบอกว่า ‘ผมเขียนอักษรเบรลล์ได้ก็เพราะครูเติ๊ด’ ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ของเรากับเขามันเชื่อมโยงถึงกันด้วยความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน มันทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น และทำให้ผมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น

ในชีวิตความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง…ไม่ว่าคนนั้นจะมีอวัยวะครบกี่ประการ…สิ่งที่ทุกคนโหยหาไม่แตกต่างกันคือ การมองเห็นคุณค่าในตนเอง และเมื่อใครได้มองเห็นคุณค่าในตนเองแล้ว เขาย่อมอยาก “แบ่งปัน” ความสุขให้กับผู้อื่นตามมา ชายหนุ่มคนนี้ก็ไม่แตกต่างกัน เขาเริ่มหันมาทำงานเป็น “ผู้ให้” และกลายเป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่นำพาคนตาบอดเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น

ปลายปี 2541 หลังจากสูญเสียการมองเห็นได้เพียงหกปี อดีตเด็กหนุ่มที่เคยจมอยู่ใต้ก้นบึ้งของเหวลึกคนนี้สามารถก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทยจากการทุ่มเททำงานเพื่อคนตาบอดอย่างจริงจัง และในอีก 13 ปีต่อมา เขาได้ก้าวขึ้นเป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 36 ปีและได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงแหน่งติดต่อกันถึงสองสมัยมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2555 และจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองในเดือนเมษายนปี 2563

ช่วงที่ผมตาบอดปีแรกๆ ผมต้องผ่านการฝึกฝนและเผชิญกับสภาวะต่างๆ รวมทั้งความคิดของผู้คนเต็มไปหมด  พอผ่านตรงนั้นมาได้เหมือนผ่านด่าน 18 อรหันต์เลยทีเดียว หลังจากผมผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว ผมก็เริ่มอยากทำงานช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นเพราะโดยพื้นฐานจิตใจแล้ว ผมเป็นคนชอบช่วยคนอื่นตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะได้รับคำขอบคุณหรือไม่ก็ตาม ผมก็รู้สึกมีความสุข การตาบอดทำให้ผมก้าวมาอยู่ในอีกดินแดนหนึ่งที่มีคนตาบอดอยู่อย่างยากลำบากเยอะมาก ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือพวกเขาให้มีความสุขมากขึ้น

ศิลปิน S2S (From Street to Star) โครงการยกระดับนักร้องตาบอดสู่ศิลปินที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น

การทำงานร่วมกับคนอื่นทั้งคนตาดีและคนตาบอดทำให้เติ๊ดเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นตามมา รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะเข้าใจและให้อภัยตนเองเวลาทำอะไรผิดพลาดด้วยเช่นกัน

“ผมพยายามเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น ยิ่งเราเจอคนเยอะ เราต้องเข้าใจปัญหา ความต้องการ ยอมรับในสิ่งที่เขามี เขาเป็นมากยิ่งขึ้น การจะเข้าใจคนอื่นได้ เราก็ต้องเข้าใจตัวเองด้วย ในทัศนะของผม การทำงานแบบนี้ก็เหมือนกับมีกระจกอยู่รอบตัวเอาไว้ทบทวนตัวเอง เราต้องรู้จักการให้อภัยตัวเอง ขอโทษตัวเอง รวมทั้งเราต้องขอโทษคนอื่นให้เป็น  ยิ่งเราโตขึ้น เรายิ่งต้องทำให้โอกาสที่เราจะทำผิดต่อผู้อื่นลดลง ต้องเช็คตัวเองเสมอว่า วาจา ท่าที การกระทำของเรา มันเหมาะสมไหม เมื่อเราเข้าใจตัวเองมากๆ เราก็จะลดอัตตาตัวเองได้มากด้วยเช่นกัน”

 

หลักไมล์แห่งความสุข

นับตั้งแต่เติ๊ดยอมรับความจริงว่าเขาเป็นคนตาบอด โลกที่เคยมืดมิดก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ฉาดฉายความสุขเข้ามาในจิตใจเขามากขึ้นเรื่อยๆ จนเขาได้ชื่อว่าเป็นคนตาบอดที่มีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ทุกครั้งที่มีคนถามว่า เขาคิดว่าตนเองเป็นคนพิการหรือไม่ เขามักจะตอบทุกคนด้วยรอยยิ้มพร้อมเสียงหัวเราะตามสไตล์ของเขาว่า

ผมมีอวัยวะครบสามสิบเอ็ดประการ เพราะผมไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่า  ผมอยู่แบบนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว คือเราเข้าใจชีวิตตัวเราเอง เข้าใจความเป็นไป เข้าใจสิ่งที่ผ่านมา เราเห็นอนาคตข้างหน้า เราก็มีความสุขในสภาวะที่เราเป็น แค่นี้ก็พอ ทุกวันนี้ผมมีความสุขจากการได้ช่วยคนอื่น และผมมักจะสอนน้องๆ ว่าห้ามลืมตน อย่าไปหลงกับตำแหน่ง ความมีและความไม่มี เพราะสุดท้ายเราจะรับไม่ได้ถ้าเราเสียมันไป

ท่ามกลางความสุขที่เกิดจากการช่วยเหลือคนอื่น เมื่อเจอคนที่มีความทุกข์และเขาไม่สามารถช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ เขาจึงรู้สึกเศร้าใจทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อได้พบเจอกับคนที่พิการในภายหลังและไม่สามารถยอมรับความจริงได้จนคิดอยากฆ่าตัวตาย  หลายครั้งที่เขาต้องคอยช่วยเหนี่ยวรั้ง “มัจจุราชทางความคิด” ของผู้สิ้นหวังเหล่านี้เอาไว้จนสุดแรงจนบางครั้งต้องล้มลงเพราะไม่สามารถต้านทานแรงของ “มัจจุราช” ได้

“การกู้ชีวิตคนที่อยู่ในสภาพพิการ  เบื้องต้นเราต้องให้กำลังใจ ต้องให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว แล้วค่อยให้ความหวัง สร้างชีวิตใหม่ให้เขา ผมเคยใช้คำพูดเบรคการฆ่าตัวตายของบางคนได้หลายรอบแล้ว แต่บางคนก็ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้ เพราะในชีวิตจริงของมนุษย์มันโหดร้ายมาก”

โครงการสร้างอาชีพเกษตรกรให้กับครอบครัวคนตาบอด

จากประสบการณ์ทำงานกับคนตาบอดมายาวนานกว่ายี่สิบปีทำให้เขาเรียนรู้ว่า ความเชื่อของครอบครัวคนตาบอดในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็น “กรงขังความคิด” ที่ทำให้คนตาบอดไม่สามารถออกมาเผชิญโลกอย่างมีอิสระและได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ไปไกลกว่าเดิม

การมองลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวด้วยทัศนคติสงสาร เห็นใจ กลัวโดนหลอก กลัวประสบอุบัติเหตุ จนดูแลเหมือนไข่ในหิน มันไม่ใช่ชีวิตจริงของมนุษย์ เพราะจริงๆ คนตาบอดก็เป็นเหมือนคนทั่วไป เกิดอุบัติเหตได้ ล้มเหลวได้ พลาดพลั้งได้  ผมคิดว่าคนพิการหรือไม่พิการเขาก็ต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง การปกป้องคนตาบอดไม่ให้ทำอะไรเลย มันเป็นเหมือนมือที่มองไม่เห็นที่ทำให้เขาไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำให้เขาภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตหลังจากสูญเสียการมองเห็น เติ๊ดกล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขว่า

“สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดทุกวันนี้คือการได้ดูแลพ่อแม่ เพราะมันเป็นความสุขขั้นพื้นฐาน มันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นลูกผู้ชายที่เป็นที่พึ่งให้พ่อแม่และคนอื่นได้ ตอนผมตาบอดใหม่ๆ ผมทำให้เขาสูญเสียความคาดหวังจากตัวเราไป  แต่วันนี้ผมได้มันกลับคืนมาแล้ว  วันที่ผมรู้สึกว่า พ่อและแม่ภูมิใจในตัวผมคือ วันที่เขาขอให้เราช่วยเหลือคนอื่นหรือเขาเริ่มใช้งานให้เราไปทำนั่นโน่นนี่ให้ แสดงว่าเขาเริ่มพึ่งเราได้ เรากลับสู่ความเป็นปกติแล้ว”

………………………………….

          หากค่ำคืนนี้พ่อและแม่เปิดประตูเข้าไปในห้องนอนของลูกชายคนเล็กอีกครั้ง เราเชื่อว่า เติ๊ดคงจะได้ยินคำพูดใหม่จากท่านทั้งสองว่า “ภูมิใจเนอะที่มีลูกชายคนนี้” และเขาคงจะนอนอมยิ้มหลับฝันดีตลอดทั้งคืนอย่างแน่นอน

ภาพถ่ายร่วมกับครอบครัวอันอบอุ่นที่ช่วยกันจับมือลูกชายคนสุดท้องขึ้นจากก้นบึ้งของหุบเหวลึกอันดำมืดสู่การยืนหยัดด้วยสองขาของตนเองอีกครั้งและก้าวขึ้นเป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุดในวันนี้

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊คของคุณต่อพงศ์ เสลานนท์มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

การทำงาน

ต่อพงศ์ เสลานนท์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save