8 ช่องทางความสุข

ความสุขของชายหนุ่มเพื่อนรักสุนัขบาดเจ็บ

บนถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร  ชายหนุ่มวัยกลางคนพร้อมเพื่อนร่วมทีมตัดสินใจเดินทางไกลจากดินแดนตอนเหนือสู่ปลายด้ามขวานเพื่อช่วยเหลือสุนัขบาดเจ็บเพราะถูกคนทำร้ายและมีคนแจ้งข่าวไว้ในโลกโซเชียลมาแล้วหลายวัน แต่ยังไม่มีใครสามารถเข้าช่วยเหลือมันได้ หลังจากเดินทางข้ามวันข้ามคืนไปถึงจุดหมาย ชายหนุ่มเฝ้าติดตามสุนัขเป้าหมายจนเจอและพานำกลับมารักษาตัวที่เชียงใหม่ได้ตามที่ตั้งใจ แม้ว่าบางคนอาจตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการช่วยสุนัขตัวนี้ แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อบัณฑิต หมื่นเรือคำ หรือ ดิ๊พ ประธานมูลนิธิ ดิ อาร์ค แล้ว เขามีคำตอบสุดท้ายให้ตนเองอย่างชัดเจนว่า คุณค่าของความช่วยเหลือระหว่างคนและสุนัขเพื่อให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานมีค่าเท่ากับ “หนึ่งชีวิต” เท่าเทียมกัน

ถ้าคิดเป็นตัวเงินมันไม่คุ้มหรอก สุนัขบางตัวหมดเงินค่ารักษาเป็นแสน คนที่ไม่ชอบสุนัขก็จะโจมตีว่า เอาเงินไปรักษาคนป่วยดีกว่าไหม แต่สำหรับเราไม่ว่าจะคนหรือสุนัขบาดเจ็บ ความเจ็บปวดไม่ต่างกัน  ถ้าเรามีแผลนิดเดียว โดนน้ำยังแสบ แล้วสุนัขที่เป็นมะเร็งอวัยวะเพศ เวลาฉี่จะทรมานแค่ไหน หรือบางตัวเป็นแผลลึกเพราะถูกเชือกบาดคอหรือเอวมาเป็นปีต้องทนจุ่มน้ำทะเลที่แสบมากเพื่อไม่ให้แมลงวันมาตอม ขนาดเราแค่มองดูยังน้ำตาไหลเลย การได้ช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บเหล่านี้ก็คือการได้ช่วยปลดเปลื้องชีวิตหนึ่งให้หายจากทุกข์ทรมาน แค่นี้มันก็ทำให้ใจเรามีความสุขแล้ว

ดิ๊พเล่าย้อนกลับไปในวัยเด็กให้ฟังว่า เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวนาภาคอีสานซึ่งมีฟาร์มหมูขนาดเล็กเป็นรายได้ของครอบครัว เขาจึงคุ้นเคยกับการเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็กและตัดสินใจเดินทางมาเรียนสัตวบาลที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตั้งใจทำงานในกิจการปศุสัตว์ แต่โชคชะตาดูเหมือนจะไม่ได้กำหนดมาให้เขาเป็น “คนเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค” แต่กำหนดให้เขาเป็น “คนเยียวยาสัตว์” มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะทำงานในโรงงานปศุสัตว์มีรายได้มั่นคง แต่หัวใจของเขากลับรู้สึกโหยหา “อะไรบางอย่าง” ที่ขาดหายไป จนกระทั่งเมื่อถูกเพื่อนชักชวนให้เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสุนัขจรจัด เขาจึงค้นพบคำตอบที่รอคอย

“ตอนนั้นผมทำงานอยู่โรงงานปศุสัตว์ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ บังเอิญรุ่นพี่ที่ทำงานดูแลสุนัขจรจัดกับลุงแกรนท์ ชาวอเมริกันมาชวนผมไปร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยเพราะขาดคนพอดี หลังจากลองไปทำงานนี้ก็พบว่ามีความสุขมากกว่าทำงานในโรงงาน เลยตัดสินใจลาออก แล้วมาทำงานผู้จัดการเกสต์เฮ้าตอนกลางคืน ส่วนกลางวันก็ช่วยดูแลหมา เมื่อก่อนเงินค่าใช้จ่ายในการดูแลหมา ลุงแกรนท์เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด แต่หลังจากลุงแกรนท์เสียชีวิตไปเมื่อห้าปีแล้ว เราก็เริ่มต้นจดทะเบียนมูลนิธิ ดิ อาร์ค เพื่อรับเงินบริจาคมาช่วยเหลือสัตว์ที่ยังคงต้องดูแลต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสุนัข”

นับจากวันแรกที่ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการเยียวยาสุนัขจรจัดจนถึงวันนี้ เวลาที่ล่วงผ่านมานานนับสิบห้าปีทำให้เขามีประสบการณ์มากขึ้นในการช่วยเหลือสุนัขบาดเจ็บที่ขึ้นชื่อว่าดุและเข้าถึงยาก ด้วยเหตุนี้ หากมีสุนัขบาดเจ็บที่อยู่ห่างไกลจากเชียงใหม่ยังไม่มีใครสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เขาจึงต้องเดินทางไปถึงพื้นที่เหล่านั้นด้วยตนเอง

“ขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือ เราจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เชียงใหม่ก่อน ส่วนกรณีนอกพื้นที่ เราจะเลือกเฉพาะเคสยากๆ ที่คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะเรางบน้อย  ถ้ามีคนโพสต์ขอความช่วยเหลือแล้ว รออยู่สี่ห้าวันยังไม่มีคนในพื้นที่เดินทางไปช่วย เราก็จะสอบถามรายละเอียดไปก่อนว่าทำไมยังไม่มีคนช่วย หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเดินทางไปช่วยเหลือ บางตัวเราต้องไปดักรอนานถึงสิบวันกว่าจะจับตัวได้ เพราะส่วนมากหมาบาดเจ็บจะดุและซ่อนตัวเพราะกลัวคนมาทำร้าย

“หมาบางตัวเราก็ไปช่วยไม่ทัน หรือไปช่วยมาแล้ว เสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับมายังมูลนิธิก็มี  อย่างที่อำเภอปักธงชัย (โคราช) หมามีหนอนกลางหลังสาหัสมาก เราขับรถกลับเชียงใหม่ตอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง แล้วเขาตายระหว่างทาง หมาแต่ละตัวจะรอดหรือไม่ บางทีก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของหมาด้วย บางตัวเราไปรอให้ความช่วยเหลือ แต่เขาหลบซ่อนตัวเอง ไม่มาให้ช่วย หรือบางตัว เราโพสต์รูปเพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือในเฟสบุ๊คมีคนมาช่วยเต็มไปหมด แต่บางตัวก็ไม่มีคนมาช่วย แล้วแต่โชคชะตาของหมาตัวนั้นด้วย”

หนึ่งในเหตุผลของสุนัขจรจัดได้รับบาดเจ็บ บางครั้งก็อาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ “อดีตคนเคยรักกัน” ซึ่งคนในสังคมไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้และตระหนักในเรื่องนี้มากนัก

บางคนชอบเลี้ยงสุนัขตอนเด็กเพราะมันน่ารัก พอโตขึ้นแล้วไม่น่ารักเหมือนเดิมก็เอามาปล่อย หรือเด็กบางคนเวลาเจอลูกสุนัขจรจัด แล้วอยากแสดงความเป็นเจ้าของมักจะเอาเชือกผูกรองเท้าของตนเองมามัดคอไว้ พอลูกสุนัขตัวโตขึ้น แต่เชือกหรือปลอกคอยังมีขนาดเท่าเดิมก็จะเริ่มบาดคอแน่นขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเชือกรองเท้าถ้าเปียกน้ำจะยิ่งหดและเหนียว บางตัวที่เคยพบหลอดลมขาดก็มี

นอกจากบาดแผลที่ “คนรักเก่าวัยเยาว์” ฝากไว้ ยังมีอีกเหตุผลที่ทำให้สุนัขที่เคยมีเจ้าของได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ฟังแล้วสะเทือนใจไม่แพ้กัน

ถ้าหมาเคยมีเจ้าของมาก่อนถูกนำมาปล่อยทิ้งข้างทาง โอกาสที่มันจะถูกรถชนตายหรือบาดเจ็บสาหัสเพราะข้ามถนนไม่เป็นมีเยอะมาก เราเคยเจอหมาที่เจ้าของเอามาปล่อยทิ้งไว้เป็นคู่ โดยเอามามัดใต้ต้นไม้ข้างถนน เพราะเจ้าของเดิมคงกลัวว่ามันจะข้ามถนนแล้วถูกรถชน และสาเหตุที่เอามาทิ้งก็อาจเป็นเพราะมันกัดเจ้าของ หรือกัดข้าวของในบ้าน จุดที่คนนิยมนำมาหมาทิ้งกันมากคือทางแยกเข้าเขื่อนแม่กวง เพราะตรงนั้นมีรถวิ่งผ่านเยอะ คนที่เอามาทิ้งมักคิดว่า ตรงจุดนี้คงมีคนมาช่วยเหลือ บางคนเอาแม่หมากับลูกหมาใส่กล่องกระดาษมาวางไว้ริมทางเข้าเขื่อน เรามักจะพบลูกหมาปีนออกมาจากกล่องแล้วพลัดตกตามทางน้ำไหลอยู่บ่อยๆ หรือบางคนเอาลูกหมาใส่กระสอบมาโยนทิ้งข้างทาง บางตัวก็รอด บางตัวก็บาดเจ็บ บางตัวก็ตาย เคยเปิดไปเจอลูกหมาคอหักอยู่ในกระสอบก็มี

“ปัญหาคือหมาที่ได้รับบาดเจ็บจากคนที่เอามาทิ้งแบบนี้ เราต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลเยอะมาก แต่ถ้าเป็นหมาที่ยังไม่เคยมีเจ้าของ เขาจะมีสัญชาติญาณเอาตัวรอดสูง และเวลาบาดเจ็บเข้าไปช่วยเหลือยากกว่า เพราะเขาไม่เข้าหาคน แล้วหลบซ่อนเก่ง”

ขั้นตอนการช่วยเหลือหลังจากพบตัวสุนัขบาดเจ็บแล้ว ภาพของสุนัขตัวนั้นจะถูกโพสต์ทางแฟนเพจ The ARK Chiangmai เพื่อประกาศรับความช่วยเหลือทางด้านค่าใช้จ่าย และหากรักษาหายแล้วก็จะประกาศรับครอบครัวอุปการะต่อไป

“เคสแพงสุดใช้เงินค่ารักษาหลักแสนบาท เพราะถูกรถชน กรามหัก กระดูกหัก หมาพวกนี้ถ้ารักษาหายแล้วเราก็จะต้องเลี้ยงเองต่อไป เพราะไม่ค่อยมีคนอยากรับไปอุปการะ หมาก็จะอยู่ในบ้านเราเหมือนลูก เราต้องหมุนเงินมาใช้ช่วยเคสที่จำเป็นมากที่สุดก่อน บางตัวโรคเก่ารักษาหายไปแล้ว แต่อาจติดเชื้อโรคจากหมาใหม่ที่เพิ่งเข้ามา เราก็ต้องหาเงินมารักษาหมาตัวเก่าแต่โรคใหม่ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจึงไม่ได้มีเฉพาะหมาตัวใหม่ แต่หมาตัวเก่าก็ยังต้องรักษาด้วย เพราะเขายังมีโอกาสป่วยได้อีก

“ทุกวันนี้มีหมาที่เราต้องดูแลสองร้อยกว่าตัว เงินบริจาคบางทีก็ไม่พอ ถ้าหมาตัวเล็กหรือลูกผสมจะมีคนอุปการะเร็ว ถ้าหมาโตแล้วจะหาคนอุปการะยาก ปัญหาสำคัญของการหาบ้านให้หมาคือ คนอุปการะไม่เคยรู้จักพฤติกรรมของหมามาก่อน บางคนอยู่ต่างพื้นที่ เห็นภาพถ่ายที่เราโพสต์ทางแฟนเพจ แล้วให้เราส่งหมาไปทางขนส่ง  พอรับไปเลี้ยงก็เกิดปัญหาบ้านแตก เพราะหมาบางตัวไม่เคยเห็นรองเท้า หรือบุรุษไปรษณีย์มาก่อน ถ้าเจอก็จะกัด หมาบางตัวส่งไปแล้วต้องถูกส่งคืนกลับมา เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งหลายครั้ง เราจึงอยากให้มาทำความคุ้นเคยกับหมาก่อนรับอุปการะ”

แม้ว่าตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา การช่วยชีวิตสุนัขบาดเจ็บจะทำให้ร่างกายของเขามีบาดแผลจากถูกสุนัขกัดหลายแห่ง แต่เขากลับไม่ได้มองว่า ความเจ็บปวดของตนเองเป็นอุปสรรคต่อการทำงานแต่อย่างใด  หากมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ใกล้ชิดสุนัข และยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือสุนัขจรจัดต่อไปด้วยความเต็มใจ

“ความรักหมาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราก็มีความเข้าใจเยอะขึ้นด้วย ถ้าเรามีความหลากหลายในความช่วยเหลือ เราก็จะรู้ว่าเคสแบบนี้เราจะทำยังไง บางทีต้องแกะตามรอยเท้าและตีวงล้อมเป็นกิโลๆ บางตัวรอนานถึงสิบวันกว่าจะจับตัวได้ เพราะสุนัขที่บาดเจ็บจะซ่อนตัวจากชีวิตประจำวันเดิม ตอนกลางวันมันจะหลบแมลงวันที่มาตอมบาดแผล และมักจะออกมาหาอาหารเฉพาะตอนกลางคืน อย่างสุนัขตัวที่ชื่อวาเลนไทน์ใช้เวลาเจ็ดวัน เราเฝ้าสังเกตพฤติกรรมพบว่า พอเจ็ดโมงเช้าจะมากินอาหารแล้วก็หลบไป พอหนึ่งทุ่มก็วนกลับมาอีกที ถ้าเราวิ่งไล่ มันก็จะวิ่งหนีไป ต้องใช้ยาสลบ เป็นหมาที่โดนคนโยนทิ้งจากรถจนขาหักแล้วขาบวม ทุกวันนี้รักษาหายแล้วก็ยังอยู่กับเราที่มูลนิธิ

“เคสที่สะเทือนใจมากๆ ก็มีเยอะ อย่างเคสสุนัขที่เกาะกูดโดนกับดักเชือกรัดคอจากฟาร์มหมูอยู่สองสามปีจนหน้าบวม เพราะต่อมน้ำลายถูกเชือกบีบรัดขึ้นเรื่อยๆ พอไปถึงตอนแรกตามหาไม่เจอ ชาวบ้านบอกว่าตอนกลางวันมันจะแช่น้ำทะเลเพื่อป้องกันแมลงวันตอมแผล เราเลยไปตามหาที่ทะเลก็พบจริงๆ” 

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อใจมากที่สุดบนเส้นทางการช่วยเหลือสุนัขจรจัดบาดเจ็บ เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า การช่วยเหลือ “สุนัข” ไม่ใช่ปัญหา แต่การสร้างความเข้าใจกับ “มนุษย์” ด้วยกันต่างหากที่เป็นปัญหา

คนที่ไม่ชอบหมา เขาก็จะถามว่าคุ้มไหม เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีไหม มีกระแสแบบนี้เรื่อยๆ แต่ในมุมมองของผม ไม่ว่าคนหรือหมาจะเจ็บปวดมากน้อยแค่ไหนมันก็คือหนึ่งชีวิต เราเป็นแค่คนกลางในการส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างคนบริจาคไปสู่สุนัข คนบริจาคเป็นคนที่ได้รับอานิสงส์เยอะสุด เพราะเขาเป็นคนให้ชีวิต มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสุขกับการช่วยเหลือใครมากกว่า เราไม่สามารถยิ่งใหญ่จากการให้ความช่วยเหลือทุกคนได้ แต่เราก็มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ในใจเรา เวลาได้ช่วยปลดเปลื้องความเจ็บปวดให้สุนัขเหล่านี้จะรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก เมื่อก่อนถ้าไปช่วยไม่ทันจะรู้สึกอินมากจนน้ำตาไหล แต่ตอนนี้พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด บางตัวก็ช่วยทัน บางตัวก็ช่วยไม่ทัน แต่ก็ยังรู้สึกดีใจที่เราได้ทำอะไรให้เขาบ้าง

“ยิ่งเราเดินมาไกลก็ยิ่งเจอคนที่คิดแตกต่างเยอะขึ้น เวลาเหนื่อยท้อ เราก็ถอยห่างออกมาบ้าง แต่เราทิ้งไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเจอคนพูดให้เราบั่นทอน ต้องไม่อยู่คนเดียว พยายามคุยกับเพื่อนหลายๆ คน ถ้าลบได้ก็ลบ บางทีมันต้องก้าวข้ามไปไม่ให้มันกวนใจเรา ผมคิดว่าทุกคนมีเป้าหมายและหน้าที่ของตนเอง มูลนิธิที่ช่วยเหลือคนป่วยก็ทำหน้าที่ช่วยคน แล้วเขาก็ไม่ได้อะไรตอบแทนจากคนป่วยคนนั้นเหมือนกัน เราเป็นมูลนิธิช่วยหมาป่วยก็ช่วยหมา ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทนเหมือนกัน เราอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้เพราะยังมีคนพร้อมจะบริจาคเพื่อช่วยเหลือหมาจรจัดเหล่านี้อยู่  เราแค่อยู่ตรงกลางระหว่างความสุขของคนบริจาคและหมาเท่านั้นเอง”

(ผู้สนใจติดตามร่วมสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิ ดิ อาร์ค สามารถคลิกเข้าไปที่แฟนเพจ The ARK Chiangmai  ขอขอบคุณภาพจากแฟนเพจมูลนิธิมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)

 

การสัมผัสธรรมชาติ

ช่วยเหลือสุนัขจรจัด

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save