8 ช่องทางความสุข

แมว…ความรักที่ไร้เงื่อนไข                          

“สิ่งที่มีค่าที่สุดของที่บ้านคือแมวและสิ่งห่วงที่สุดในชีวิตก็คือแมว

 ความรัก คือสิ่งที่ทุกคนจะพบได้เองโดยไม่ต้องออกแสวงหา คือสิ่งที่จะเติบโต เคียงข้าง และสร้างความสุขในทุกๆ วัน หากสิ่งเหล่านี้คือความรัก สำหรับนุ่นตัวแทนนิยามเหล่านั้นก็คือ “แมว” เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวกลม ขนฟูนุ่ม ตาแป๋วแหวว เป็นตัวป่วนที่จะคอยส่งเสียงออดอ้อน หรือโวยวายอย่างเอาแต่ใจในทุกๆ เช้า

“แมวเหมือนเด็กที่ไม่มีวันโต เราต้องดูแลเขาเหมือนเป็นเด็กตลอด”

รอยยิ้มพรายทางดวงตา ส่งออกมาสู่ใบหน้า และบุคลิกท่าทางที่ดูมีความสุขตลอดเวลา เธอคือแม่ของเหล่าลูก ๆ กว่า 10 ตัว  รัชตา อุจจ์ศรี หรือ นุ่น ผู้จัดการฝ่ายรายการสาวที่ซ่อนวัย 40ปีได้อย่างแนบเนียน

จาก 2 ถึง 18

จุดเริ่มต้นความรักมักเกิดขึ้นที่บ้าน นุ่นเติบโตมากับบ้านที่เลี้ยงแมวมาตั้งแต่ยังจำความได้ ภาพที่นุ่นเอาหน้าซุกแมวไว้ คือความทรงจำว่ามีแมวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จวบจนครอบครัวย้ายออกมามีบ้านต่างหากนั่นแหละ ที่ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้เลี้ยงแมวอีกเลย จึงเป็นความใฝ่ฝันว่าถ้ามีบ้านเป็นของตัวเองเมื่อไหร่จะเลี้ยงแมวให้เยอะๆ ซึ่งตอนนี้ก็สมหวังแล้ว

“สองตัวแรก ได้มาประมาณ 2549 คือสิบกว่าปีที่แล้ว จำได้เลยไปที่หลานหลวง เดินๆ อยู่ก็มีลูกแมวตัวเล็กมากเลย สีเทาๆ สองตัวเข้ามากัดขาเราแบบหมั่นเขี้ยว”

รัชตา อุจจ์ศรี หรือ นุ่น  แม่ของลูกแมวจรจัดกว่า 10 ตัวในบ้าน เป็น “ทาสแมว” ตัวจริงเสียงจริง (เครดิตภาพ : รัชตา อุจจ์ศรี)

เมื่อถามได้ความว่า “ถูกทิ้ง” และได้ความยินยอมจากคนที่บ้าน ตัวเล็กๆ สองตัวจึงต้องเข้าไปอยู่ในถุงใส่ผ้านวม ขึ้นตุ๊กๆ ไปอยู่บ้านใหม่กับนุ่น ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ที่คอนโดห้องเก่าแต่มีเนื้อที่กว้างพอที่จะให้พวกมันอยู่ได้อย่างสบาย

“ถ่ายรูปให้แฟนดู มันตัวเล็กกินอะไรไม่เป็นเลยให้ข้าวคลุกปลาทูก็ไม่กิน ต้องกินนม แต่มันร่าเริงไม่กลัวคน วิ่งหาคนตลอด ไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่าอายุ 3 สัปดาห์”

การเริ่มเลี้ยงแมวเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องดูแลและเอาใจใส่ มากกว่านั้นก็คือจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือ แมวตัวต่อๆ มาจึงทั้งมาจากคนใกล้ตัวและแมวที่เธอไปช่วยเหลือไว้

“พอเลี้ยงก็รัก สรุปที่ตั้งใจว่าจะหาบ้านให้ ก็ไม่ได้ให้ใคร”

ความสุขของคนรักแมว (เครดิตภาพ : รัชตา อุจจ์ศรี)

เจ้าต้นกล้า

“มันโดนรถเก๋งถอยมาทับตอนท้องแก่ ถึงแบบนั้นมันก็ยังดุมาก เรากับแฟนไปช่วยโดนกัดเหวอะหวะ แต่ก็ยังจับมันไปหาหมอไม่ได้”

นุ่นต้องเรียกหน่วยกู้ภัยมากู้แมว สัตวแพทย์พูดคำแรกหลังจากเอกซเรย์ว่าลูกแมวตายในท้องทั้งหมด มดลูกแตก เชิงกรานหัก ต้นกล้าต้องผ่านการผ่าตัดเกือบ 2 ปี เป็น 2 ปีที่ไม่ย่อท้อ

“ต้นกล้ามีแฟนคลับด้วยนะ ได้รับการช่วยเหลือทั้งจากโรงพยาบาลสัตว์และคนในกระทู้พันทิป ช่วยเหลือทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย อาหารเสริม และการมาบริจาคเลือดจากแมวหลายตัวที่เจ้าของพามาให้เลือด”

สังคมของคนรักแมวมีอยู่จริงๆ ที่ซึ่งสัมผัสได้ถึงความรักแมวของทุกคน นอกเหนือจากความรักในแมวที่ตัวเองเลี้ยงอยู่แล้ว  ในที่สุดการผ่าตัดทั้งหมด 5 ครั้งก็สามารถหาสาเหตุพบในครั้งที่ 4  นุ่นต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลเพื่อการรักษาต้นกล้าให้หาย จนพบสาเหตุว่าต้นกล้ามีรอยรั่วที่กระเพาะปัสสาวะจึงทำให้แผลไม่หายสนิท นับว่าเป็นโชคดีทั้งของต้นกล้าและนุ่น

“ตอนนั้นเราย้ายมาอยู่บ้านหลังปัจจุบันแล้ว ต้นกล้ามาอยู่ที่บ้านแรกๆ ซ่อนอยู่ในซอกตู้นานเป็นเดือน ออกมาเฉพาะตอนกลางคืนเพื่อกินข้าว นานมากกว่าต้นกล้าจะไว้ใจเรา”

ความไว้ใจเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง เรียกว่าระบบป้องกันความปลอดภัย

ต้องใช้เวลานะสำหรับแมวจรที่จะไม่คุ้นคน ใช้เวลาปรับตัวนาน เวลาที่เรารักษาแมวจรที่หวาดกลัวและดุ เราต้องเริ่มจากให้ความจริงใจ ค่อยๆ เข้าหา ค่อยๆ สัมผัส ทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้ทำร้าย

นี่คือเสียงจากสัตวแพทย์หญิงเมธยา ชิตาภรณ์พันธุ์ หรือ หมอน็อตทำงานรักษาสัตว์ที่โรงพยาบาลสัตว์ชัยมงคล จังหวัดอยุธยา คุณหมอที่พบสาเหตุอาการของเจ้าต้นกล้าและเป็นหนึ่งในคนรักแมว หรือที่เรียกกันติดตลกว่า “ทาสแมว” ของเจ้านายทั้งสองตัว “ณเดชน์และญาญ่า” ซึ่งณเดชน์เป็นแมวตาเดียวที่หมอน็อตรับเลี้ยงไว้จากการรักษา

สัตวแพทย์หญิง เมธยา ชิตาภรณ์พันธุ์ หรือ หมอน็อต (เครดิตภาพ : สัตวแพทย์หญิง เมธยา ชิตาภรณ์พันธุ์)

สำหรับนุ่นก็เป็นทั้งแม่แมวและนักกายภาพบำบัด ต้นกล้าต้องมาทำกายภาพจับยืดหดตัว จับมันมากายภาพขาเพราะขามันเหยียดตรงเป็นนักบัลเล่ย์ หรืออีกหลายอย่างที่พอพิสูจน์ให้รู้ว่าความรักนั้นคืออะไร ตอนนี้ต้นกล้ารักและอ้อนนุ่นมากกว่าลูกๆ ตัวอื่นๆ ไปเสียแล้ว

 

รัก..แมว

ส่วนใหญ่แมวที่บ้านนุ่นมาจากการไปช่วยเหลือ

“เอาไปก่อนโดนรถทับไหม” เป็นคำเชิญชวนจากลุงยามรักแมว ผู้ซึ่งผ่านเหตุการณ์แมว ๆ กับนุ่นมาไม่รู้กี่ครั้ง ตัวที่หก ตัวที่เจ็ดก็ตามมาแบบไม่ต้องสงสัย

“บัวขาวเป็นอีกตัวที่ต้องตัดขา เราไปช่วยมากับเพื่อนคนหนึ่งที่ค่อนข้างจะกลัวแมว”

แมวอายุหกเดือนที่เกือบโดนตัดขาทั้งสองข้าง แต่นุ่นขอโอกาสที่เหมือนกับจะเป็นอนาคตทั้งชีวิตในอีก 15 ปีของบัวขาว ขาอีกข้างถ้าเธอรักษาไม่หายก็เสี่ยงที่จะโดนตัดอีกครั้ง

มันน่าสงสาร โดนตัดขาเสร็จยังไม่รู้ตัว มันอยากจะเกาก็ยังทำท่าดุ๊กๆ ทั้งที่ไม่มีขาแล้ว สุดท้ายขาอีกข้างหายดี ตอนนี้วิ่งเร็วกว่าตัวอื่นๆ ด้วยซ้ำ”

ทุกวันนี้การช่วยแมวอย่างน้อยที่สุด คือการจับแมวจรไปทำหมันทุกๆ เดือน เดือนละ 1 ตัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแมวสักตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้

“การทำหมันในแมวเป็นเรื่องที่แนะนำให้ทำนะ เพราะมันช่วยลดเรื่องโอกาสของโรคทางระบบสืบพันธุ์ตอนแมวอายุมากด้วย อย่างโรคมดลูกอักเสบ การทำหมันจะตัดรังไข่กับมดลูกออกไปแมวจึงไม่เป็นโรคตอนแก่ สาเหตุของโรคก็มาจากการที่แมวเป็นสัดอยู่ตลอด เมื่อปากมดลูกเปิดจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ การทำหมันจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดลงด้วย” หมอน็อตยังอธิบายเสริมกับเราในเรื่องนี้

แมวมีบุคลิกในแต่ละตัว แบบที่นุ่นเล่าพร้อมเสียงหัวเราะในเรื่องยียวนของบัวขาว

“บัวขาวเป็นเด็กสลัม ไม่ว่าจะอุ้มชูยังไงก็ยังติดนิสัยแบบแมวจร มันอ้อนแต่ถ้าเราจับมันก็จะงับ แผลเราเต็มตัว แต่มันฉลาดถ้าเราเอาหน้าไปจุ๊บมันจะไม่กัด เพราะมันรู้ว่าเราจะเจ็บมาก นี่เป็นคาแรกเตอร์บัวขาว”

บางตัวขี้อิจฉา หวงเจ้าของ แต่ว่าแต่ละตัวล้วนน่ารักและชอบสร้างวีรกรรมเปิ่น ๆ แมวที่บ้านทำทีวีตกมาแตก มันตกใจวิ่งตัวฟูหนีไปเลย แต่สิ่งที่นุ่นทำคือวิ่งไปหาแมวก่อนไม่ใช่ทีวีราคาแพง

ทีวีมันแตกไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่เราเลือกไปหาแมวก่อนเพราะแมวคือสิ่งมีชีวิต

 

18 ตัวกับบ้านหลังเล็ก

แมวทุกตัวก่อนเข้ามาอยู่ด้วยกันต้องตรวจเลือด ตรวจโรค ให้แน่ใจว่าจะไม่มาติดตัวอื่นๆ ในบ้าน มีปัญหาแมวทะเลาะกันบ้าง ซึ่งนุ่นเข้าใจพฤติกรรมของลูกๆ ทุกตัวดี ว่าตัวไหนต้องอยู่กับตัวไหน ตัวไหนชอบทะเลาะกันก็ต้องจับแยกตามสมควร

สิ่งที่กังวลก็คือเราจะตายก่อนแมว ไปต่างจังหวัดเกินสามวันต้องทิ้งพินัยกรรมแมวไว้แล้ว

แมวเหมียวของ “แม่นุ่น” (เครดิตภาพ : รัชตา อุจจ์ศรี)

การจะไปไหนไกลๆ สิ่งที่ห่วงที่สุดคือแมวที่บ้าน ยิ่งไปกับแฟนก็ยิ่งกังวลหากทั้งสองคนไม่อยู่บนโลกนี้ แมวที่บ้านจะไม่มีคนดูแล นอกจากน้องชายที่จะรับอาสามาดูแลแมวอยู่เสมอ เธอยังต้องเขียนพินัยกรรมแมวทั้ง 18 ตัว ไว้ให้เพื่อนสนิท

“จะเขียนให้เพื่อน 3-4 คนถึงแมวทุกตัว มีรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งชื่อ นิสัย หมอประจำตัว รูปถ่ายและเรื่องจำเป็น อย่างมันต้องอยู่คู่กับตัวไหน ฝากฝังอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งเรากำชับว่าจะเกิดขึ้นในกรณีเรากับแฟนตายทั้งคู่นะ ถ้าสุดท้ายหาบ้านไม่ได้ให้การุณยฆาต ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่มีใครทำแบบนั้น” นุ่นหัวเราะอย่างอารมณ์ดี เธอรักแมวมากกว่ารักตนเองเสียอีก

แต่กฎของครอบครัวก็คือจะไม่เลี้ยงมากไปกว่า 18 ตัว แค่เพียงเท่านี้ในบ้านก็มีแมว 11 ตัวถือว่าเต็มพื้นที่ นอกนั้นจะต้องอยู่นอกบ้าน ซึ่งความใฝ่ฝันของนุ่นต่อจากนี้ คือการได้อยู่บ้านใหม่ที่สามารถให้แมวทุกตัวอยู่ร่วมกันในบ้านได้

แมวเป็นความสุข ถ้าไม่มีแมวชีวิตเราอาจจะแย่กว่านี้ เราไม่คิดว่าการเลี้ยงแมวเป็นภาระหรือต้องใช้ความอดทน มันสอนให้เราเสียสละ สอนให้เราแบ่งปัน พอเรารู้สึกว่าเรารักลูกของเราแล้วเนี่ย ไม่ว่าแมวตัวไหนในโลกเราก็จะรักหมด แมวทุกตัวน่ารักเหมือนกันหมด

ปัจจุบันนุ่นมีแมวจรที่เก็บมาเลี้ยง 11 ตัว (เครดิตภาพ : รัชตา อุจจ์ศรี)

ถ้าจะเทียบเคียงกันแล้ว แมวอาจจะสอนในเรื่องธรรมะ หรือ ธรรมชาติของชีวิตได้มากทีเดียว

“แมวที่เรารักมากชื่อหมูอ้วน จู่ๆ ก็เป็นโรคไตวายเฉียบพลัน และตายจากกันโดยที่เราไม่ได้อยู่กับเขาจนวินาทีสุดท้าย ต่างจากต้นกล้าที่ผ่าตัดเสี่ยงตายถึง 5 ครั้งก็ยังอยู่กับเราจนทุกวันนี้ ความเสียใจที่เราคิดว่าต้องสัมผัสอีก 17 ครั้ง เป็นความจริงที่เราต้องวางอุเบกขา ต้องปล่อยวางให้ได้ ในเมื่อช่วงเวลาระหว่างทางที่เรามีแมวนั้นมีความสุข ซึ่งมันคุ้มกับการที่เราจะต้องเสียใจ ในเมื่อสุดท้ายเราก็ต้องตายจากกันอยู่ดี”

นอกเหนือไปกว่านั้นสิ่งที่นุ่นเห็นได้ชัดก็คือความสัมพันธ์ชีวิตรักของเธอและสามี ทุกๆ วัน ทุกๆ บทสนทนาที่จะสื่อสารแลกเปลี่ยนความน่ารักของแมวที่บ้าน แม้ว่าเธอจะไม่สามารถมีลูกได้

“เรามีลูกไม่ได้ทั้งที่แต่งงานแล้ว วันที่รู้เราบอกแฟนว่าขอโทษนะ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เรามีลูกด้วยกันตั้งหลายตัวแล้วนะ” นั่นคือสิ่งที่สามีเคยบอกกับนุ่นตอนแต่งงาน

 

ใส่ใจแมว สิ่งสำคัญ

การดูแลแมว เจ้าของจะต้องคอยสังเกตมากๆ เพราะแมวบอกเราไม่ได้ บางทีอาจจะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น จนกระทั่งอาการโรคนั้นรุนแรงมากถึงระดับหนึ่งเช่นเจ้าหมูอ้วน

“เบื้องต้นเลยควรตรวจเลือดซึ่งจะสำคัญมากสำหรับโรคไตที่จะไม่แสดงอาการ เช็คเรื่องโรคเอดส์และลูคิเมียซึ่งเป็นโรคติดต่อ ฉีควัคซีนพื้นฐานได้แก่ ไข้หัด หวัดแมว โรคในช่องปากเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ก็คือเรื่องของการทำหมัน” สิ่งเหล่านี้คือคำแนะนำจากสัตวแพทย์ที่คนรักแมวควรจะใส่ใจเพื่อสุขภาพของแมวที่รัก

และกับการใส่ใจปัญหาของสัตว์ในแง่มุมใหญ่ๆ กว่านั้น เช่น ปัญหาของสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง จนดูเป็นการผลักภาระให้โรงพยาบาล มูลนิธิ และเกิดปัญหาอุบัติเหตุกับสัตว์

หมอ “ทาสแมว”
ณเดชน์เป็นแมวตาเดียวที่หมอน็อตรับเลี้ยงไว้จากการรักษา (เครดิตภาพ : สัตวแพทย์หญิง เมธยา ชิตาภรณ์พันธุ์)

 

มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกนะ ถ้าเรารักเขาต้องไม่ทิ้งเขา ไม่อย่างนั้นจะเป็นเพียงสิ่งฉาบฉวย เห็นคุณค่ามันเฉพาะตอนที่น่ารัก พอป่วยไม่สบายต้องจ่ายค่ารักษาก็ไม่อยากเลี้ยง ซึ่งอาจจะต้องปลูกฝังนิสัยกันแต่เด็ก ว่าเราไม่ควรทิ้งขว้างชีวิต พร้อมที่จะรักษาเขาและเติบโตไปด้วยกัน

และนั่นอาจเป็นรูปแบบความรักที่ยั่งยืนที่สุด ที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้

(เครดิตภาพ : สัตวแพทย์หญิง เมธยา ชิตาภรณ์พันธุ์)

การสัมผัสธรรมชาติ

คนรักแมว

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save