8 ช่องทางความสุข

สุขใจที่ได้เรียนรู้…เก่งคันจิได้แบบเด็กญี่ปุ่น

“ผ่านแล้วค่ะ ดีใจมากเลย ขอบคุณมากค่ะพี่เคน”

หนึ่งในเสียงตอบรับจากแฟนเพจที่ส่งถึงเคนทางกล่องข้อความเฟซบุ๊ค

เคน หรือสารัช วงศ์สุนทรพจน์ เป็นเจ้าของเพจ “เก่งคันจิได้แบบเด็กญี่ปุ่น by พี่เคน” ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 2.9 หมื่นคน แต่เจ้าของเพจบอกว่าหากการเผยแพร่ความรู้แบบให้เปล่าของเขา ช่วยให้ใครดีขึ้นได้แม้เพียงคนเดียวเขาก็พอใจแล้ว

เคนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการได้รับโอกาสเรียนรู้ด้านภาษาจากประสบการณ์ของตัวเขาเอง เคนเป็นเด็กเชื้อสายจีนเติบโตมาในย่านสำเหร่ วงเวียนใหญ่ พ่อของเขาเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่มีรายได้ให้เขาเรียนพิเศษตามสำนักติว แต่เขารู้ว่าการรู้ภาษาต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นจึงขวนขวายหาโอกาสพัฒนาตนเองในทางนี้มาโดยตลอด

หลังจบชั้นมัธยมปลายเขาสอบเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนเรียนอยู่ปี 1 เขาหาโอกาสไปฝึกภาษาอังกฤษผ่านประสบการณ์ตรงด้วยการสอบชิงทุนไปทำงานวิจัยระยะสั้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่านั่นเป็นการออกนอกประเทศครั้งแรกของเขา

“ไปอยู่ย่านชนบทของนิวยอร์ค ได้ไปเรียนรู้ทั้งภาษา ค่านิยม การใช้ชีวิตของคนที่นั่น”

ครั้งนั้นเป็นการเรียนรู้ชีวิตในต่างแดนช่วงเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งปี ถัดจากนั้นเมื่อเขากลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ในปี 2555 เคนสอบชิงทุนการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อปริญญาโทในแดนอาทิตย์อุทัยทันที

ที่นั่นเขาได้เข้าสู่โลกของการใช้ภาษาญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในชีวิต

“การเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ อันนั้นไม่ยาก แต่ยากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเราต้องติดต่อไปรษณีย์ ธนาคาร ทำให้ได้คำตอบว่าหากจะอยู่ที่นั่นให้ราบรื่นเราต้องได้ภาษาญี่ปุ่น”

ช่วงครึ่งปีแรกเขาได้พักอยู่หอในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนั้นต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของตัวเองทุกอย่าง มีทุนการศึกษาให้แต่เขาต้องดูแลตัวเอง เขาต้องสื่อสารภาษาญี่ปุ่นให้ได้

เคนไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษตามสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่มากมาย เขาใช้วิธีเรียนด้วยตัวเองจากสื่อ หนังสือ และแหล่งสำคัญคือไปเรียนกับอาสาสมัครสูงอายุที่เปิดคอร์สสอนให้ฟรี

เป็นคุณลุงคุณป้าที่อาสามาสอนให้ฟรี ไม่ได้สอนตามหลักไวยากรณ์ แต่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เราไปอยู่กับเขา ในภาษาวัฒนธรรมนั้น ชวนคุยเล่นกันเรื่องอาหาร ท่องเที่ยว เหมือนเขาพาเราเข้าสู่โลกที่ไม่ยึดติดว่าต้องติวกันแบบในโรงเรียนสอนภาษา แรกๆ เราก็พูดญี่ปุ่นคำ อังกฤษคำ เขาก็พยายามจะช่วยเข้าใจเรา ใช้ใจต่อใจเข้าใจกัน

ส่วนหลักไวยากรณ์เคนใช้วิธีอิงตามเจ้าถิ่น ดูว่าเด็กๆ เขาเรียนภาษากันอย่างไร และหาตำราแบบที่เด็กใช้เรียนมาอ่านเองด้วย

ทำให้เขาค่อยๆ เห็นถึงความซับซ้อนในภาษาญี่ปุ่น

“เขาใช้ตัวอักษร 3 แบบ ถ้าไม่เข้าใจจะอ่านไม่รู้เรื่องเลย” เขาเกริ่นก่อนแจกแจงรายละเอียดให้ฟังว่า

“เดิมแรกสุดใช้อักษรคันจิที่ได้รับอิทธิพลจากตัวอักษรจีน แต่เขียนยากคนญี่ปุ่นจึงเริ่มประยุกต์เป็นตัวอักษรของตน ให้เหลือเส้นน้อยๆ และอ่อนช้อย อันนี้เป็นตัวเขียนของผู้หญิงในวัง กับที่ประดิษฐ์โดยผู้ชายตัวจะดูแข็งๆ กว่า ปัจจุบันใช้ปนกันทั้ง 3 แบบ คนเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ต้องเรียนทั้ง 3 แบบ ไม่อย่างนั้นจะเข้าไม่ถึง”

เมื่อเข้าใจเริ่มสื่อสารได้ เขายิ่งได้เห็นความซับซ้อนซ่อนนัย-ในแง่ความหมาย

เราต้องได้ภาษาเขาจึงจะเข้าใจความคิดเขา คนญี่ปุ่นมีชุดความคิดหนึ่งซึ่งผ่านมาทางภาษา อย่างจะชวนเราว่าไปกินข้าวกันไหม แต่รูปประโยคจะเป็นว่า ไม่ไปใช่ไหม แต่นั่นคือการชวนนะ ใช้รูปประโยคปฏิเสธในการชวน ถ้าไม่เข้าใจเราจะงง หรือเวลาจะปฏิเสธเขาจะไม่พูดตรงๆ ว่า ไม่ แต่จะพูดว่าติดอะไรนิดหน่อย นั่นคือการปฏิเสธว่า ไม่ไป ไม่ทำนะจ้ะ อะไรอย่างนี้ เขาจะใช้แบบอ้อมๆ นี่เป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมภาษาของเขา

ภาษาญี่ปุ่นที่เคนค่อยๆ ได้ซึมซับเรียนรู้ ช่วยให้เคนใช้ชีวิตนักศึกษาปริญญาโทได้ราบรื่น แต่เขายอมรับว่าช่วงนั้นภาษาญี่ปุ่นของเขายังอยู่ในระดับ “พอใช้ได้” เท่านั้น เขาเพิ่งมาเข้าใจภาษาญี่ปุ่นถึงระดับ “ใช้งานได้” จริงๆ เมื่อเริ่มต้นเข้าทำงานประจำ

“หลังเรียนจบสมัครเข้าทำงานที่นั่น ต้องอยู่กับคนญี่ปุ่น ทำงานกับเขาทั้งวัน ไม่มีภาษาอังกฤษอีกแล้ว เราต้องคุยกับทุกคนเป็นภาษาญี่ปุ่น”

เขาเริ่มเข้าทำงานในบริษัทขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 และถูกส่งตัวมาประจำสาขาที่เมืองไทยในปี 2559

นอกจากวิชาความรู้ ประสบการณ์ทำงาน การได้ใช้ชีวิตอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยรวม 4 ปี ทำให้เขาได้ภาษาญี่ปุ่นในระดับที่สามารถสอนคนอื่นต่อได้ และการเป็นครูก็เป็นหนึ่งในความฝันแต่ครั้งวัยเยาว์ของเขา

ส่วนตัวลึกๆ ผมอยากเป็นครูตั้งแต่อยู่ ป.1 แต่ไปเรียนวิทย์ตามค่านิยมของสังคม ตอนหลังมารู้สึกว่าการเห็นคนที่เราช่วยไปได้ดีก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เป็นครูในระบบ แต่การที่เราช่วยสอนผ่านเพจแบบนี้ก็เป็นเหมือนบทบาทครูที่ไม่ต้องมีตำแหน่งว่าครูว่าศิษย์ เราเรียกกันเป็นพี่เป็นน้อง แต่บทบาทจริงก็ไม่ต่างจากครูกับนักเรียน ซึ่งตรงนี้มันก็ช่วยเติมเต็มให้เราตามความฝันว่าเราเคยอยากเป็นครู

มหาบัณฑิตหนุ่มจากญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการเปิดเพจ “เก่งคันจิได้แบบเด็กญี่ปุ่น by พี่เคน” โดยใช้วิธีบรรยายหน้ากล้องบันทึกเป็นวิดีโอ หรือเขียนเป็นประโยค แนะวิธีการจำอักษรคันจิเป็นคำๆ แล้วโพสต์ลงหน้าเพจวันละโพสต์ ตอน 4 โมงเย็น สัปดาห์ละ 6 วัน

“สื่อด้วยประโยคสั้นๆ ให้อ่านทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และเซฟไว้อ่านซ้ำได้”

หัวใจหลักที่เขานำมาสื่อในเพจคือสร้างวิธีการจดจำอักษร ให้เห็นแล้วจำได้ อ่านได้ และเข้าใจความหมาย

“ประโยคในภาษาญี่ปุ่นใช้ผสมกันทั้ง 3 แบบอักษร ภาษาทางการก็ผสมกันแบบนี้ ตัวอักษรของญี่ปุ่น  2 แบบนั้นไม่ยาก แต่ที่เป็นเหมือนยาขมของทุกคนคือตัวคันจิ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คันจิยากเย็นไปทุกอย่าง ตัวอักษรจะมีหลายเส้น จำยาก เห็นแล้วจำไม่ได้ว่าตัวอะไร ถ้าไม่เข้าใจก็จะอ่านอะไรไม่ได้เลย เราช่วยสร้างวิธีการจำ”

เขาอธิบายให้เห็นภาพด้วยการเปิดโพสต์ล่าสุดให้ดูผ่านสมาร์ทโฟน แล้วอธิบายไปทีละคำ

ตัวอักษรคำว่า ผู้ชาย ส่วนบนเป็นนาข้าว ข้างล่างคือ พละกำลัง ก็สร้างวิธีช่วยจำว่าผู้ชายต้องใช้กำลังในการทำนา

ทะเล ประกอบด้วยตัว น้ำ กับ ทุกๆ คือเขียนตัว น้ำ กับ ทุกๆ ไว้ด้วยกัน ก็เอาเรื่องไปผูกให้จำง่ายขึ้นว่า ฉันอยากไปทะเลเล่นน้ำทุกวัน

สวรรค์ ข้างบนเป็นเลข 2 ในภาษาจีน ข้างล่างคือ คน ก็ผูกเรื่องว่า มีเพียงเราสองคนเหมือนอยู่บนสวรรค์

ปลา รูปร่างเหมือนตัวปลาแนวตั้ง มีหลายเส้น สร้างเรื่องว่าเป็นปลากระโดดมีน้ำกระเซ็น

คำว่า หมา กับ อ้วน ถ้าใส่จุดผิด ความหมายเปลี่ยน หมา จุดอยู่ข้างบน ก็บอกว่า หมาตัวใหญ่ แต้มหูขวาอยู่ข้างบนสีดำ อ้วน จุดอยู่ข้างล่าง ก็บอกว่าคนตัวอ้วนทำของตก เก็บไม่ได้

เขาให้ความรู้ในภาพกว้างว่า ในภาษาญี่ปุ่นมีอักษรคันจิอยู่ราว 2 พันคำ พอเข้าใจสักพันคำก็เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์รู้เรื่อง เที่ยวญี่ปุ่นเองได้

นับตั้งแต่เริ่มทำเพจเมื่อ 17 เมษายน 2558 เขาทยอยโพสต์ไปแล้ว 200 กว่าคำ ช่วงหลังเฟซบุ๊คควบคุมจำนวนการเห็นหน้าฟีดของแฟนเพจลงแต่เขาไม่กังวล ด้วยความเชื่อว่าเพจแนวให้ความรู้ที่มีการโพสต์สม่ำเสมออนั้น คนจะคลิกเข้ามาติดตามเองโดยไม่ต้องเห็นที่หน้าฟีด

และในจำนวนคนที่ได้เข้ามาเรียนรู้ หากช่วยใครได้อย่างน้อยสักคน เขาก็พอใจแล้ว

ตอนทำงานแล้ว เราทำงานทั้งวัน ไปปรึกษาใครไม่ได้ อะไรที่เป็นจุดยากลำบากต้องอ่านเอง และเราผ่านมันมาแล้ว พอเข้าใจทำให้คิดขึ้นมาว่าคนอื่นเขาก็คงจะมีปัญหาจุดนี้เหมือนกัน ก็เลยเปิดเพจแชร์สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เอาประสบการณ์ใกล้ตัว ซึ่งคิดว่าคนอื่นน่าจะประสบคล้ายๆ กัน เอาจุดที่ยากที่สุดในการเรียนภาษาญี่ปุ่นคือตัวคันจิ มาแบ่งให้คนที่เขาไม่รู้ ซึ่งถ้าได้รับการชี้นำนิดเดียว เขาจะผ่านไปได้อย่างง่าย

นอกจากได้ให้ “ผู้อื่น”  ยังได้ให้ “ตัวเอง” ด้วยเช่นกัน

เคนบอกว่าในการเตรียมโพสต์แต่ละครั้งเป็นโอกาสให้เขาได้ค้นคว้าทบทวน ซึ่งถือเป็นการลับคมตัวเองให้เขาเติบโตไปด้วย

ใช้เวลาวันละราวครึ่งชั่วโมงในการเขียนเนื้อหา โพสต์แล้วหากมีคนอ่านขอคำปรึกษาเข้ามาทางกล่องข้อความหรือโทรคุยกัน รวมแล้วก็ใช้เวลาราวไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

“ช่วยให้เขามองเห็นว่า มันไม่ยาก ไม่ต้องไปกลัวมัน ค่อยๆ แกะทีละนิดก็จะไปได้ อย่าให้คันจิเป็นอุปสรรคในการเรียนภาษาญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เราอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อเรียนต่อ ทำงาน ติดตามศิลปิน ท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง อย่าให้ภาษาเป็นอุปสรรคว่าอักษรคันจิมันยากเหลือเกิน มันไม่ใช่ เราอยากช่วยให้เขาก้าวพ้นขีดจำกัดนี้ไปให้ได้ พอเข้าใจจะจำได้ทำข้อสอบได้ ก็สามารถเรียนต่อได้ เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ หรือใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น เดินทางท่องเที่ยวสนุกขึ้น เราช่วยได้แค่นี้ อาจไม่เต็มที่ทั้ง 2.9 หมื่นคนในแฟนเพจ แต่การช่วยคนเป็นหมื่นหรือเพียงคนเดียวดีขึ้นได้ผมก็แฮปปี้เหมือนกัน ให้คนเดียวมีความสุขกับชีวิตขึ้นได้ มันก็สมบูรณ์แล้ว ให้ใครสักคนเห็นสิ่งที่เราทำจริงๆ ก็พอแล้ว”

ช่วงก่อนปีใหม่มีแฟนเพจคนหนึ่งปรึกษามาทางกล่องข้อความว่าเธอทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น กำลังเตรียมตัวสอบประเมิน ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างจากบริษัท เธอกังวลใจมากกลัวจะตกงาน ขอให้เคนช่วยติวให้เป็นพิเศษ

“ช่วงก่อนสอบโทรไลน์คุยกัน บางทีคุยโทรศัพท์กันเป็น 2 ชั่วโมง ก็พบว่าเธอไม่เข้าใจโครงสร้างภาษาอยู่นิดหน่อยเอง เราก็ช่วยติวให้”

หลังปีใหม่มาหน่อย เคนได้รับข่าวที่น่ายินดีว่า เธอสอบผ่านแล้ว

“เธอแจ้งมาทางกล่องข้อความ บอกว่าสอบผ่านแล้ว ได้ต่อสัญญาทำงาน” เคนเล่าพลางเปิดหน้าจอโทรศัพท์อ่านข้อความที่ส่งจากประเทศญี่ปุ่นให้ฟัง

“ผ่านแล้วค่ะ ดีใจมากเลย ขอบคุณมากค่ะพี่เคน… แค่นี้จบ ไม่ได้เรียกร้องอะไร เรามีความสุขแล้วที่ช่วยให้หน้าที่การงานเธอสำเร็จได้”

เป็นการให้เปล่าแบบไม่มีการเรียกร้องค่าตอบแทน เหมือนเช่นที่เขาเคยได้รับจากอาสาสมัครสูงวัยชาวญี่ปุ่นที่สอนภาษาญี่ปุ่นแก่เขามาแต่ต้น เคนว่าเขาไม่คิดตั้งสำนักติวเตอร์ เพราะที่ทำอยู่นี้ไปได้ไกลกว่าโดยไม่ต้องยึดติดกับสถานที่ ส่วนในแง่การดำรงชีพเขามีรายได้จากงานประจำเพียงพอเลี้ยงตัว งานสอนภาษาคันจิเป็นการแบ่งปันเพื่อความสุข–แม้อาจดูว่าเป็นสิ่งเล็กๆ

แต่เขาบอกกับทุกคนเสมอว่านี่เป็นจุดสำคัญ

ถ้าคนในสังคมเอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ ออกมาแบ่งปัน จากจุดเล็กๆ ง่ายๆ ใกล้ตัว โดยไม่มองว่ามันเล็กน้อยหรือใครๆ ก็ทำกันไปแล้ว

เพียงเท่านี้โลกก็ดีขึ้นอย่างแน่นอน

เป็นความเชื่อมั่นของชายหนุ่มที่กำลังสนุกกับการเรียนรู้และแบ่งปัน คันจิในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณภาพประกอบจากเคน

การศึกษาเรียนรู้

คันจิ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save