ความสุขวงใน

Ikigai คุณค่าของการมีชีวิตอยู่

คำบอกเล่าจากคุณพิม ณัฏฐ์ฐณิฏฐ์ ขำสุวรรณ์ ครีเอทีฟสาว อดีตนักปั้นมือทองผู้ปั้นศิลปิน ดารา นักร้องจากเวทีดังๆ อย่างเดอะ ว๊อยซ์ และผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาและนักปั้นคนในองค์กรให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่งด้วยกัน เธอเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิต เธอเคยรอดตายจากคลื่นยักษ์สึนามิในเมืองไทย บริเวณเขาหลัก จังหวัดพังงาเมื่อปี พ.ศ. 2547 จนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า

ถ้าเราใช้ชีวิตราวกับวันนี้เป็นวันสุดท้าย เราจะทำอะไร

ในตอนนั้นเธอเหลือเพียงกางเกงและเสื้อที่ลงเล่นน้ำหน้าหาด

มันเป็นวันสุดท้ายจริงๆ ตอนนั้นที่รอดมาได้ คำคำหนึ่งผุดขึ้นมาว่า ธรรมชาติคงให้เราเป็นพยานในการมีชีวิตรอด ถ้าไม่ตายแล้วจะไปทำอะไร

เธอเล่าว่าหลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตเป็นวันสุดท้ายจริงๆ แบบโลกๆ เที่ยวให้สุด ดูแลพ่อแม่ก็ให้เขาสุดๆ เงินก็ไม่เก็บ ไม่จำเป็น เพราะรู้สึกว่าตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ จนมีคลื่นชีวิตระลอกที่สองซัดเข้ามา คือปวดหลัง พอตื่นขึ้นมาแล้วลุกไม่ได้ ก็พักรักษาตัว ช่วงนั้นไปอยู่สองที่คือโรงพยาบาลกับวัด รักษากายแล้วก็รักษาใจด้วย จนคิดไปว่า

ตัวเองยังดูแลไม่ได้เลย จะไปดูแลคนอื่นได้ยังไง

และเมื่อเธอกลับมาลุกเดินได้ เธอจึงกลับมาดูแลชีวิตทางใจมากขึ้น เสาะหาครูบาอาจารย์ เพื่อค้นหาปัญญาที่แท้จริงในการมีชีวิต

ต่อมาเธอกลับมาทำงานครีเอทีฟ ผู้กำกับหนังสั้น และนักปั้นนักร้องอีกครั้ง เธอประสบความสำเร็จจนได้รางวัล แต่เธอกลับเกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป

งานที่เราทำ ตื่นมาแล้วมีความสุขไหม เวลาปั้นดารานักร้องให้ดังขึ้นมาสักคนหนึ่ง เมื่อดังแล้วเขาสามารถพูดอะไรให้ใครเชื่อก็ได้ ไปเปลี่ยนพฤติกรรมคนหมู่มากได้เลย แน่นอนว่าถ้าเขามีความเชื่อที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนมันก็ดี แต่ถ้าความเชื่อเขาผิดทาง มันก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งการเติบโตของศิลปินคนหนึ่งมันใช้เวลานาน และถ้าเราควบคุมไม่ได้จะทำยังไง เราจะอยู่กับมันได้อีกกี่ครั้งที่ตื่นมาตอนเช้า มีทางเลือกอะไรบ้างที่เราจะเอาทักษะที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

แล้วเธอก็ได้พบกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรือคำว่า ‘ikigai’ ที่เธอพบมามี 3 ตำราด้วยกัน “คำนี้มาจากภาษาญี่ปุ่น มีฝรั่งกลุ่มหนึ่งจาก National Geographic เข้าไปถอดรหัสชีวิตของชาว Okinawa ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่ผู้สูงอายุมีความสุขที่สุด ฝรั่งกลุ่มนี้เขาก็ถอดออกมาว่าองค์ประกอบมันน่าจะมี 4 ส่วนนะ

  • ส่วนแรก คือ รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก เหมือนที่ Steve Job พูดไว้ ‘Do what you love, Love what you do.’ ฝรั่งเขาค่อนข้างเชื่อในคำว่า Passion (ใจรัก) เชื่อว่าสิ่งนี้มันจะหล่อเลี้ยงชีวิตเขาได้จนจบเส้นทางที่เขาเลือก
  • ส่วนที่ 2 คือ ทำในสิ่งที่ ‘Good at’ คือสิ่งที่ใช่ สิ่งที่คุณถนัด คุณใช้ความพยายามน้อยมากในการทำสิ่งๆ นั้น มันง่ายสำหรับเรา มันอาจจะไม่ได้เป็นงานที่ง่ายก็ได้นะ แต่เราทำมันได้ดีกว่าสิ่งอื่น อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพิจารณาคือ มันเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นธรรมชาติ
  • ส่วนที่ 3 คือ สิ่งที่รักนั้นทำแล้วได้เงินด้วย เลี้ยงชีพได้ คือไม่ใช่เรารักงานศิลปะแล้วเราไส้แห้ง อย่างที่อาจารย์เฉลิมชัย วัดร่องขุนพูดว่า ‘มึงไส้แห้ง เพราะมึงมันกระจอก บนโลกนี้ไม่มีศิลปินไส้แห้ง’ มันคือเรื่องนี้แหละ คุณทำในสิ่งที่รัก สิ่งที่ใช่ แล้วมันต้องเลี้ยงชีพคุณได้นะ หรือเรียกว่า ‘make a living’ ไม่อย่างนั้นชีวิตมันไม่สมดุล
  • ส่วนสุดท้าย คือ มันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น มันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘world need’ สิ่งที่จำเป็นต่อโลกใบนี้ จริงๆ มันไม่มีตัวไหนสำคัญกว่าตัวไหนนะ ภาษาอาจารย์พุทธทาสเรียก ‘สโมธาน’ มันต้องสมดุล อย่างโลกนี้ต้องการให้ผู้ผลิตรายย่อยยังมีงานทำ Jack ma ก็มาทำ บางคนอยากให้โลกสงบสุขก็ทำงานกับท่านทาไลลามะ อย่างบนเกาะ Okinawa ผู้สูงอายุเขาก็ไม่ได้มีอาชีพเดียวนะ มีคนทำนา มีชาวประมง มีครูสอนเต้นรำแบบญี่ปุ่น ที่รักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ ค่อนข้างจัดเจนว่า Japan Need คืออะไร แล้ว Thailand Need ล่ะ คืออะไร”

นั่นเป็นแบบตำราฝรั่ง พอไปถามคนญี่ปุ่นกลับได้คำตอบว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ปลูกผักกินเอง มันขยายคำว่า ‘make a living’ เหมือนกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงสอน มันเริ่มจากตัวเองก่อน พึ่งพาตัวเอง เมื่อรวยแล้วก็แบ่งปัน สุดท้ายก็จะมั่งคั่งคือยั่งยืนเป็น ‘world need’ จริงๆ มันคือเรื่องเดียวกันโดยฝรั่งเป็นนักถอดรหัส ความที่คนญี่ปุ่นเขาอยู่กับมัน ก็จะตอบในความที่มันเป็นวิถีชีวิตของเขา อาจารย์ของพิมบอกว่า ตัว ki มันคือชี่ ในภาษาจีน มันคือลมปราณ ซึ่งรวมแล้วมันน่าจะแปลว่าเรา ธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายมีลมปราณเดียวกัน ก็สมกับเป็นคำตอบของคุณญี่ปุ่น เขาตอบแบบ zen มาก เขาไม่ได้คิดมากว่ามันประกอบจากอะไร เขาอยู่กับสิ่งนั้นมาตั้งแต่กำเนิด มันอยู่ใน DNA ของเขา

ส่วนบางตำราแปล ‘iki’ ว่ามีคุณค่า และแปล ‘gai’ ว่ามีชีวิต ซึ่งมีคนไทยเคยเอามาเขียนหนังสือ ชีวิตหลังเกษียณที่มีคุณค่า คนเขียนตีความว่าคนสูงอายุในญี่ปุ่นที่มีคุณค่า ในมุมมองของพิมไม่เห็นต้องรอชีวิตหลังเกษียณเลย

 

หลังจากค้นพบ ikigai

เธอมองว่าการปั้นศิลปินเป็นโจทย์ทางธุรกิจ ที่ต้องปลูกไม้พันธุ์นี้เพื่อให้ผลแบบนี้ จึงตั้งคำถามว่า

ทำไมเราจึงต้องรอ ทำไมเราไปเลือกเมล็ดพันธุ์เองไม่ได้ล่ะ เมื่อเราทำในบริษัทนี้แล้วเห็นผลช้า เลยเป็นที่มาของการไม่ใช่แค่ปั้นศิลปิน ปั้นนักร้อง ทำไมเราไม่ไปปั้นทีม influencer (ผู้ทรงอิทธิพล) ในองค์กร เมื่อ CEO หรือเจ้าของบริษัทอยากกำหนดคุณค่าหลักขององค์กร อยากให้องค์กรเป็นองค์กรที่มีศีลธรรม รักกัน เราก็ใช้วิธีการเดียวกับที่เราปั้นศิลปินมาทั้งชีวิต มาปั้น idol ในองค์กร ไม่ได้ปั้นคนเดียวเราทำเป็นทีม จึงเป็นที่มาของทุกวันนี้ที่ผันตัวเองไปทำงาน in-house training (จัดอบรมในองค์กร) หา change agent (ผู้นำสร้างวัฒนธรรมองค์กร) และปั้นขึ้นมาในองค์กร ซึ่งงานที่ทำส่วนใหญ่เป็น Learning Organization หรือองค์กรแห่งการเรียนรู้

งานที่มีความสุข วัดจากตอนเช้าที่ตื่นมา เออเฮ้ยเราอยากไปทำงาน อย่างที่สองที่ใช้วัดผลคือตอนเสร็จงานทุกคนเดินเข้ามาบอกว่า ขอบคุณมากพร้อมจับมือเรา น้ำตาเอ่อคลอเบ้า อะไรอย่างนี้ เลยหันไปคุยกับเพื่อนข้างๆ ว่า ตอนที่เราไปทำงานแล้วรู้สึกแบบนี้มันคือตอนไหนนะ ก่อนกลับบ้านมาเจอแบบนี้ เขาเข้ามาขอบคุณ มันมีความสุขขึ้นอีกเยอะเลย วันแล้ววันเล่ามันไม่รู้สึกเหนื่อยเลย พอทำงานสองอันคู่กัน มันรู้สึกได้เลยว่าความสุขเราไปทางไหน ชีวิตมันมีอีกทางเลือกหนึ่ง คิดไกลกว่าเดิม ถึงแม้ทำงานตรงนี้มา 15 ปี หลายอย่างจนเป็นเนื้อเป็นตัวนั่นเป็นวิชาชีพของคุณ ผลตอบแทนเยอะต่อเดือน แล้วยังไงล่ะ เหมือนคนที่ประสบความสำเร็จ รวยมากๆ แล้วยังไงต่อล่ะ

Jack ma กลับตั้งต้นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นพอวันที่เขาประสบความสำเร็จ เขาจะไม่เกิดคำถามกับตัวเองว่า แล้วยังไงล่ะ เพราะวิธีคิดเขาเริ่มมาจากตรงนั้นไง คือต้องการให้ผู้ค้า ผู้ผลิตรายย่อยมีทางออก เพราะในวันที่โลกมันเปลี่ยนแปลง มีมินิมาร์ทใหญ่ๆ ห้างใหญ่ๆ เข้ามาแทน แล้วผู้ค้ารายย่อยเขาจะอยู่ยังไง คือคิดย้อนศรไง คิดมาอีกทางหนึ่ง ลองไปถอดรหัสดูนะมหาบุรุษของโลกมีครบทั้งสี่ส่วน ในหลวงรัชการที่ 9 นี่ยิ่งกว่าครบ

เราหาสิ่งที่เรารัก เราทำมัน แล้ว ikigai มันจะสมบูรณ์ มันอาจใช้ได้ดีในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเขาทำอะไร เขามีวินัย ลงมือทำแล้วมันก็จะไม่กลายเป็น มโน Passion (คิดไปเองว่ามีใจรัก) แต่ถ้าเป็นฝั่งเรา เราไม่เข้าใจเรื่อง Passion ดีพอ จริงๆ แล้วมันเกิดจากการทำไปสักพักใหญ่แล้ว มันถึงเพิ่งรู้ว่าเราชอบมันจริงๆ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ เราก็ชอบอย่างไม่มีสาเหตุ แล้วเชื่อเถอะว่าวันหนึ่งเราก็จะไม่ชอบมันอย่างไม่มีสาเหตุ

ในเส้นทางของมืออาชีพ Passion มันมาตอนที่ทำไปแล้ว 10,000 ชม. แต่ทีนี้ ikigai ถ้าตั้งต้นจากสิ่งที่เรารัก แล้วมันไปต่อไม่ได้ มันยังย่ำอยู่ที่เดิม ก็อาจจะต้องเปลี่ยน หรือหาทางเลือกเพิ่มเติม ก็เลยมองว่าสำหรับตัวเอง สิ่งแรกที่ปักหมุดคือ ‘Good at’ มันจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ง่ายกว่า Passion แล้วตัวที่สองมันน่าจะเป็น ‘make a living’ คือคุณยังชีพได้ คุณทำในสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เฮ้ย เดี๋ยวมันรักเองนะเชื่อไหม เมื่อไหร่ที่ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า เมื่อรู้ว่าทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น แล้วมันก็อยากทำซ้ำ ทำไปเรื่อยๆ Passion มันเกิดตอนนั้น มันกลายเป็นความรักแบบที่ฉันไม่ได้รักแค่ตัวเอง

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save