ความสุขวงใน

ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว ท่วงทำนองแห่งการตื่นตัวภายใน

ยูริธมี (Eurythmy) หรือศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว เป็นศิลปะแขนงหนึ่งใน ‘ศิลปะด้านใน’ ทั้ง 7 ซึ่งเปิดเผยกฎเกณฑ์และโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี โดยดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ผู้คิดค้นหลักมนุษยปรัชญา (สัจธรรมแห่งการเป็นมนุษย์) ยูริธมีช่วยจัดระเบียบและสร้างสัมพันธ์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณระดับต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ทั้งในด้านความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติค้นพบความดี ความงาม ความจริงในตน

ดนตรี การร้องเพลง และจังหวะ

เด็กๆ จะเริ่มสร้างตัวตน (Ego) ในช่วงวัย 7-14 ปี โดยเด็กวัยนี้สัมพันธ์กับวัยแห่งความรู้สึก ดนตรีจึงเป็นการเปิดเผยถึงความรู้สึก เด็กจะประทับใจกับเพลงได้ง่ายมาก หากใส่เพลงที่ดีในห้วงเวลานี้ การพัฒนาจึงเป็นไปด้วยดี ในการร้องเพลงนั้น เป็นมากกว่าการร้องเพื่อความไพเราะของบทเพลง หากมองให้ลึกลงไปต้องผสมเสียงจากตัวเขาเองและเสียงคนอื่นให้ไปด้วยกันได้ ดังนั้น หมายความว่าเด็กต้อง ‘ฟัง’ และ ‘ปรับ’ ให้เข้ากับผู้อื่นด้วย ดังนั้น ดนตรี การร้องเพลง ต่างมีชีพจรของจังหวะซึ่งนั่นเป็นความสัมพันธ์กับความมั่นคงด้านใน การสร้างเสริมสิ่งเหล่านี้ เป็นการจัดระเบียบในร่างกายและจิตใจตนเองอย่างมีท่วงทำนอง


โครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี

ยูริธมีถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เสียงพูดและดนตรีที่มองเห็นได้’ เพราะการฝึกยูริธมีเปิดเผยโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี ช่วยจัดระเบียบและความกลมกลืนทั้งกายและจิตระดับต่างๆ กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวภายใน ทั้งในด้านจิตใจ ด้านความคิด ด้านการรับรู้ และด้านความรู้สึก ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุล ทั้งความคิด จิตสำนึก ความรู้สึกที่มาจากใจ และความต้องการที่จะทำให้เกิดผลแห่งความสำเร็จ

 

ปลุกใจให้เป็นผู้ตื่น กระทำการเคลื่อนไหว

การฝึกยูริธมีแต่ละแบบฝึกหัดนั้น เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดความรู้สึกกับกาย มีสติกับการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

  1. เริ่มด้วยการรู้สึกถึงจุดศูนย์รวมพลัง ซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก โดยอาศัยภาพจินตนาการภาพเมล็ดที่มีขุมพลังซ่อนอยู่ หยั่งราก แตกกิ่ง เติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลิบาน เติบโตเต็มกำลัง
  2. การยืนอย่างรู้สึกสมดุล โดยหาความไม่สมดุล โยกเยก เอนหน้าหลัง เพื่อมารู้สึกว่าการยืนที่น้ำหนักดิ่งลงมาที่กลางเท้านั้นทำให้พบแกนกลางของตนเอง เป็นการยืนที่ ‘ตั้งตรง’ ระหว่างเบื้องบนและเบื้องล่าง
  3. การยืนระหว่างเบื้องบนและเบื้องล่าง เพื่อรับรู้ความสว่าง แสง ความเบา และความอุ่น และรับรู้น้ำหนักแขนสองข้างที่ชูอยู่ด้านบน และขาที่กางอยู่ด้านล่าง โดยเริ่มจากแขนขวาชูขึ้นหาแสงและคิดถึงความจริงว่ามีแสงส่องมาจากด้านบน ส่วนขานั้นรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงที่มาจากเบื้องล่าง แรงโน้มถ่วงขึ้นมาจากแผ่นดิน สองพลังจะผสานกันที่ช่วงท้องของผู้รู้สึก
  4. การยืนนำความพร้อมมาสู่การเดิน การเดินอย่างที่ใจเป็นผู้กำหนด นับแต่การยกเท้า เป็นพลังใจ แรงบันดาลใจ การย่างเท้า อิสรภาพที่เรามีและมีช่วงเวลา ต่อมาการวางเท้า เป็นการตัดสินใจทำ การกำหนดทางชีวิต
  5. การทำงานกับจังหวะด้วยการเดินกับบทกวี หรือทำงานกลุ่มกับการเล่นจังหวะ เพื่อให้การเล่นกับจังหวะ และการทำงานกลุ่ม สามารถคิดสร้างสรรค์ต่อ พัฒนาไปได้โดยตัวผู้เรียนเอง
  6. การเข้าไปสัมผัสกับเสียงและความเป็นดนตรีของคำต่างๆ และวรรคบทกวีด้วยการออกเสียงทำให้ได้พบความเป็นดนตรีอย่างชัดเจนผ่านเสียงวรรณยุกต์ และค้นพบว่าเสียงวรรณยุกต์หลายๆ คำ เป็นเสียงที่สอดคล้องกับความรู้สึกของใจที่มีสูงและต่ำ ออกเสียงและค้นหา ฟังประสบการณ์ที่ใจต้องกระทำภายในเพื่อการออกเสียง

 

สตูดิโอศิลปะด้านใน (๗ Arts Inner Place)

สตูดิโอ ‘ศิลปะด้านใน’ ภายใต้สถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา ซึ่งมีรากฐานจากหลักมนุษยปรัชญา ของดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “ศิลปะมีศักยภาพพัฒนาภายในทั้งมิติของกาย วิญญาณ และจิตวิญญาณ” โดยสไตเนอร์ได้กล่าวถึงศิลปะด้านในทั้ง 7 แขนงไว้ที่เมืองมิวนิคในปี ค.ศ. 1908  อันได้แก่ สถาปัตยกรรม การปั้น การระบายสี ดนตรี ภาษา ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว และศิลปะแห่งชีวิต ที่ส่งผลในระดับจิตวิญญาณที่แตกต่างออกไป สตูดิโอศิลปะด้านในจึงเปิดพื้นที่สำหรับศิลปะไปจนถึงศิลปะบำบัดให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน “เมื่อการทำงานศิลปะด้านในเริ่มต้นขึ้น สมดุลแห่งจิตวิญญาณจะคืนกลับสู่ตัวเราอีกครั้ง

 

มนุษยปรัชญา (Anthroposophy)

ปรัชญาวิธีการมองมนุษย์และโลกที่เรียกว่า ‘มนุษยปรัชญา’ (Anthroposophy) เป็นการค้นหาในระดับที่ลึกซึ้งว่า ‘มนุษย์คืออะไร’ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกระหว่างมนุษย์ กับโลกและเอกภพ แนวทางการศึกษาของสไตเนอร์ก่อเกิดมาจากการมองความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติมนุษย์และสังคม

 


ศึกษาศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save