ความสุขวงใน

ช่างภาพผู้ปิดทองหลังพระ

ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนถามองค์ดาไลลามะว่า อะไรเป็นเรื่องที่ท่านรู้สึกแปลกใจมากที่สุดเกี่ยวกับมนุษยชาติ ท่านตอบว่า

มนุษย์เรานี้ ยอมสูญเสียสุขภาพเพื่อให้ได้เงินมา แล้วต้องยอมสูญเสียเงินตรา เพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพ แล้วก็เฝ้าเป็นกังวลกับอนาคต จนไม่มีความรื่นรมย์กับปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ เขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และแล้วเขาก็ตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง

คุณเอนก วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ ช่างภาพฝีมือระดับประเทศ เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาซึ่งตรงทุกอย่างกับคำกล่าวขององค์ดาไลลามะ สมัยคุณเอนกประกอบธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารที่ถูกประเมินโดยอัตราการเติบโตผลกำไร ใช้ชีวิตฝังตัวอยู่กับงาน มุ่งทำงานเพื่อสร้างความมั่นคง เพื่อเงิน อดหลับอดนอน ไม่สบายและกินยาเยอะมาก จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ฟองสบู่แตก ส่งผลให้บริษัทปิดตัวลง และต่อจากนี้คือเรื่องราวการพบวิกฤตครั้งนั้น

เหมือนวิกฤตกลายเป็นโอกาส ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมเหล่านั้น ชอบไม่ชอบก็ต้องหยุด ใหม่ๆ เรารู้สึกสูญเสียความมั่นคง งานการธุรกิจที่ทำอยู่ พอสูญเสียมากๆ ต้องปรับตัวเองโดยไม่มีทางเลือก เหมือนคำกล่าวญี่ปุ่น คนเราจะโตต้องผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวด การเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องคือการโตเป็นผู้ใหญ่ เหมือนเราไม่มีทางเลือกก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งเปลี่ยนได้ เริ่มกลับมามองตัวเองมากขึ้น สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่หนทางความสุข ไม่ใช่หนทางที่จะเป็น

 

จุดเริ่มต้นถ่ายภาพอาสา

จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นได้สร้างโอกาสให้คุณอเนก โดยได้รับติดต่อจากกัลยาณมิตร คุณอนุรุธ ว่องวานิช ประธานยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ชักชวนให้มาช่วยถ่ายภาพในกิจกรรมการเรียนปฏิบัติธรรมของสมาคม ซึ่งคุณอเนกได้รับอะไรมากมายจากการช่วยงานสมาคมตอนนั้น

มีเวลาว่างและชอบถ่ายภาพจึงลองเข้าไปถ่าย พอเข้าไปถ่ายภาพเรื่อยๆ เข้าไปในคอร์สปฏิบัติธรรม พอฟังไปเรื่อยๆ เริ่มซึมซับแบบไม่รู้ตัว เริ่มเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงไม่ใช่เกิดจากเงิน ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการที่ตัวเราเองรู้จักให้ ให้คนอื่น แตกต่างกับสมัยก่อน คือเราจะรู้สึกว่าอยากได้ๆ แต่ความสุขที่แท้จริงคือการให้ และรู้สึกว่าการให้เกิดขึ้น

 

การถ่ายภาพอาสา เหมือนปิดทองหลังพระ

คุณเอนกถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมากและมีอุปกรณ์มากมาย เริ่มมีคำถามจากครูอาจารย์ที่นับถือ รวมถึงเพื่อนๆ ด้วยถ่ายภาพไปทำไม ถ่ายไว้มากมายเก็บไว้ดูคนเดียวแล้วได้อะไรขึ้นมา ตายไปทิ้งไปไม่มีใครเห็น จริงๆ ถ่ายแล้วเอามาแบ่งปัน การแบ่งปันที่ดีที่สุดคือเอาภาพถ่ายมาใช้เผยแผ่ศาสนา เผยแผ่เพื่อเกิดประโยชน์กับคนทั่วไป จากนั้นจึงเริ่มสมัครเป็นสมาชิกชมรมถ่ายภาพต่างๆ เช่น ชมรมช่างภาพกรุงเทพ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และมีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพรับเสด็จเป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งเป็นงานจิตอาสาเช่นเดียวกัน

เริ่มเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่ง นั่นคือรู้สึกว่าเราได้ให้ ตอนทำงานศาสนาสิ่งที่เราให้คือภาพถ่ายเพื่อใช้เผยแผ่พุทธศาสนา ที่เกิดประโยชน์กับคนทั่วไป คือเราลงทุนซื้ออุปกรณ์พวกนี้มาเป็นแสนเป็นล้าน แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคืองานที่เราทำแค่ไม่กี่ภาพหรือภาพเดียว ถ้าภาพถูกนำไปเผยแผ่สร้างศรัทธาให้คนกลับมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น เกิดกระแสอย่างนั้นขึ้น เหมือนกับให้เราได้รับผลบุญกุศลจากงานที่ทำ เหมือนกับการเอากล้องมาทำบุญ แต่เอากล้องอย่างเดียวไม่พอ ต้องเอาความพยายามความวิริยะอุตสาหะมาทำบุญด้วย

การได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เป็นงานจิตอาสาเหมือนกัน ถ้าถามว่าการนำอุปกรณ์แพงๆ มายืนตากแดด 5 ชั่วโมงเพื่อถ่ายภาพพระองค์ท่านเพียง 3 นาที ถามว่ารู้สึกอย่างไร ทำไมมีความรู้สึกอยากทำบ่อยๆ ทุกครั้งพลาดไม่ได้ต้องไปทำบ่อยๆ เป็นความรู้สึกเดียวกัน เพราะถ้างานที่ทำถูกตีพิมพ์เพื่อเป็นสื่อสร้างศรัทธาให้พระองค์ท่าน ก็มีความรู้สึกว่าได้บุญกุศล

งานทุกอย่างที่มีด้านหน้าเเละด้านหลังเหมือนเหรียญบาท

งานด้านหน้านั้นมีคนทำกันอย่างเยอะเเยะ

เเละมีคนเเย่งกันทำเพราะมีผลเห็นได้ชัด เเละก็ปูนบำเหน็จกันได้อย่างเต็มที่

เเต่งานด้านหลังที่ไม่ปรากฏต่อสายตาคน

ต้องเป็นคนที่เข้าใจงานเเละหน้าที่ของตัวเองจริงๆ ถึงจะทำได้

เเละต้องเสียสละด้วย เพราะงานด้านหลังเป็นงาน ‘ปิดทองหลังพระ’

ถ้าทำดีแล้วต้องไม่ให้เห็นปรากฏ เเละต้องยอมรับว่าไม่ได้อะไรตอบเเทนเลย

นอกจากความภาคภูมิใจในการทำงานในหน้าที่ของตน

– พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เมื่อทำแบบนี้แล้วทำให้นึกถึงพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่อง ‘นายอินทร์ปิดทองหลังพระ’ ว่าจริงหรือเปล่า ทำอย่างไร การถ่ายภาพอาสาเหมือนปิดทองหลังพระหรือเปล่า ทำเรื่อยๆ ยิ่งทำยิ่งใช่ เราไม่ได้ทำเพราะผลตอบแทน ไม่ได้ทำเพราะผลประโยชน์หรือทำเพราะอยากมีชื่อเสียงในสังคม เราทำแล้วอิ่มบุญทำแล้วมีความสุข เราไม่ต้องบอกใครด้วยว่าเราทำ เรารู้สึกดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเผยแผ่ศาสนา พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

 

รางวัลภาพถ่าย

ภาพถ่ายรางวัลชนะเลิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณคัดเลือกด้วยพระองค์เอง ภายใต้โครงการประกวดภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1

นายเอนก วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ
ผู้ชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

หัวข้อ “รู้รักสามัคคี”
ชื่อภาพ “ศรัทธา…ร่วมรับบุญจากฟ้า”

 

คุณเอนกเล่าถึงการทำงานช่างภาพจิตอาสา ว่าทำแล้วปิดทองหลังพระจริงหรือเปล่า จากตอนที่เขาคัดเลือกภาพถ่ายส่งประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ ‘โครงการประกวดภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน’ ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และไทยเบฟเวอเรจ

มีอยู่ครั้งที่ถ่ายภาพการยกองค์พระ ‘พระพุทธวิสุทธิเทพ’ พระประธานประจำศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เฉลิมพระเกียรติ ยกพระจากพื้นขึ้นมาบนตึกชั้น 8 เป็นการยกองค์พระ 2 ตัน เหวี่ยงผ่านบ้านคนไปวางบนตึก มองเห็นว่าแปลก อยากจะเก็บภาพมุมนี้ไว้ ถ่ายภาพออกมาภาพดูอลังการ ต้องการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อถึงกระแสของศรัทธา

ต่อมามีการประกวดภาพถ่ายหัวข้อเรื่อง ‘รู้รักสามัคคี’ ในโครงการประกวดภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน เพื่อนได้ชวนให้ส่งภาพประกวด ตอนแรกจะไม่ส่งประกวดเพราะไม่เห็นว่ามีภาพไหนที่จะส่ง แต่เพื่อนยังชวนส่งอยู่จึงเลือกส่งภาพนี้ไป ระหว่างส่งภาพไปประกวดเดินทางไปประเทศเนปาล ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนว่าภาพอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ตอนแรกไม่เชื่อวางสายไป โทรมาแจ้งอีกว่าท่านหยิบแล้วยังไม่เชื่อและวางสายไปอีก มาทราบว่าได้รับรางวัลจริงๆ คือเราไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนหรือมีรางวัลชื่อเสียงต่างๆ เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงรับรู้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน มีใครรู้บ้างไหมว่าเราให้ บางครั้งทำด้วยใจบริสุทธิ์โดยไม่คาดหวัง บางครั้งมีอะไรที่รับรู้ และให้กลับมามากกว่าที่เราคิดอีก

 

การฝึกฝนถ่ายภาพเพื่อช่างภาพจิตอาสา

ชอบกล้องอยู่แล้ว ชอบศึกษาอ่านวิธีการถ่ายภาพ เทคนิคต่างๆ อ่านเยอะและไปลองเยอะ ทำบ่อยๆ มีทักษะ ซ้อมบ่อยๆ ก็จะเกิดความชำนาญ พอเกิดความชำนาญมากๆ ก็จะสามารถสร้างมุมมองความแตกต่าง ประสบการณ์ซื้อไม่ได้ ต้องเกิดจากวิริยะ อุตสาหะ และความมุ่งมั่น ต้องมีทั้งความขยันความเพียรและทักษะความรู้เพิ่มเติม ต้องมีสมาธิและสติ วิริยะมันบังคับไม่ได้ ต้องเกิดจากความรักที่จะทำ พอมีความรักที่จะทำก็จะเกิดความอดทน มีความพยายาม จะง่วงอย่างไรจะดึกอย่างไรก็จะทำ

 

การถ่ายภาพเป็นความรักส่วนตัว เรารักงานอดิเรกนี้ แต่แค่รักอย่างเดียวไม่พอ เงินซื้ออย่างเดียวไม่พอ เกิดความพยายาม ฝึกฝนไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาห้าปี เจองานยากก็ได้ฝึกซ้อม ถ้าเราหวังผลตอบแทนว่าทำแล้วได้เงิน ส่วนใหญ่ไม่ได้เงินทั้งนั้น แต่สิ่งที่ได้คือทักษะ ความชำนาญพิเศษ ลองทำผิดทำถูก ทำและสะสมไปเรื่อยๆ เงิน ชื่อเสียงจะมาเอง แต่ไม่ใช่มาในวันนี้ ต้องใช้เวลา

 

คนสมัยนี้การจะทำอะไรจะดูว่าคุ้มหรือเปล่า ทำให้ไม่กล้าลอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้ทำ ทุกอย่างที่เราอยากจะเป็นอยากจะเก่งเชี่ยวชาญอะไร สิ่งสำคัญคือฝึกทักษะ ท่าทาง ตรงนี้เกิดจากการฝึกฝน ทำให้ได้หมื่นครั้งถึงจะเก่ง อยากจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีความมุ่งมั่นมีใจรักที่จะเป็น

 


ติดตามการทำงานช่างภาพอาสา

ปัจจุบันคุณเอนกเป็นช่างภาพอาสา ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.) และร่วมงานถ่ายภาพอาสาด้านศาสนา กับองค์ก่อนอื่นๆ

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save