ความสุขวงใน

“จริยศิลป์” ศิลปะและสุนทรียะเพื่อการภาวนา

ชายชราวัย ๖๘ ปี เข้ามาจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการเรียนศิลปะ เหล่านักเรียน เดินไปรอบๆ ด้วยความตื่นเต้น เมื่อจัดวางเสร็จเรียบร้อยก็อธิบายสั้นๆ ถึง การลอกลาย ตามอย่างลายครู ที่นอกจากอาศัยความนิ่งของมือแล้ว ยังต้องอาศัยความนิ่งของใจด้วย โดยไม่ได้บรรยายอะไรมากก็ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายลงมือ ระหว่างนี้สิ่งที่อาจารย์ชวนคุยชวนทำไม่ใช่เรื่องของการวาดภาพ แต่เป็นการให้ทุกคนย้อนมองตนเอง พูดคุย และตั้งข้อสังเกตบางอย่างระหว่างที่ลูกศิษย์กำลังวาดภาพอย่างขะมักเขม้น

“ผ่อง เซ่งกิ่ง” คือชื่อของชายชราผู้นี้ เขาเป็นครูศิลปะมากว่า ๔๘ ปี เริ่มตั้งแต่วัยหนุ่มที่เป็นนักเรียน ช่างศิลป์ เป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนมัธยม ครั้นเมื่อเรียนจบก็บรรจุเป็นอาจารย์ภาควิชาศิลปะไทยที่ มหาวิทยาลัย ศิลปากร แต่ด้วยความเบื่อหน่ายกับระบบ ประมาณ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว จึงหันมาทำงานในโรงเรียนทางเลือก โดยเป็นหัวหน้าชุมชนบ้านช่างของโรงเรียนรุ่งอรุณ และอาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์

ในฐานะ ที่เป็นครูศิลปะมาตลอดชีวิต อาจารย์ผ่องพบว่า “ศิลปะ” สามารถเป็นเครื่องมือชักจูงจิตใจให้เกิดสติและ สมาธิได้ ซึ่งถือเป็นความรู้ชุดสำคัญที่สมารถค้นพบได้ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นนอกจากจะได้ฝึกทักษะภายนอกคือศิลปะ ยังได้เรียนรู้ทักษะภายในที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ก่อให้เกิดความละเมียดละไมและความเข้าใจตนเอง โดยเรียกกระบวนการ การเรียนรู้เช่นนี้ว่า“จริยศิลป์” ซึ่งอาจารย์ผ่องกล่าวว่า เป็นความรู้ที่มนุษย์พึงได้เรียนรู้และเพื่อการรู้จักตนเอง

ชายผมสีดอกเลายิ้ม เล่าเรื่องราวชีวิตของเขา ศิลปะ และประสบการณ์การเป็นครู

 

ครูของครู

อาจารย์ผ่องเป็นคนสงขลา เติบโตในเมืองที่กอปรด้วยความงามทั้งทางศิลปะและธรรมชาติ ในวัยเด็ก เด็กชายผ่องมักไปดูงานศิลปะที่บ้านของพี่คนหนึ่งเป็นประจำ บางวันพี่คนนี้ก็ขี่จักรยานไปเขาตังกวน และเขาน้อยเพื่อวาดภาพ ภาพภูเขาทางสองหาใช่เพียงสวยงาม แต่เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายกับ จิตใจของคนสงขลา พี่คนนี้จึงเป็นผู้มีอิทธิพลทางศิลปะคนแรกของอาจารย์ผ่อง หลังจากพ่อกับแม่แยกทางกัน เขาก็ย้ายไปอยู่ยะลากับแม่ เติบโตมากับโรงเรียน กระดานชนวน และหนังกลางแปลง ถ้าหนังเรื่องไหนสนุก เขาก็มักจะวาดรูปเป็นเรื่องราวแจกเพื่อนร่วมห้อง พอโตขึ้นมาหน่อยก็มักจะไป ๒ สถานที่คือวัดยะลาธรรมารามเพื่อยืนดูครูเอี่ยมซึ่งเป็นช่างวาดรูปอิสระ วาดลายรดน้ำ วาดบานประตูบานหน้าต่างโบสถ์ ผู้ทที่แนะนำให้เข้ามาเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ

เมื่อเข้ากรุงเทพก็สอบเข้าโรงเรียนเพาะช่าง แต่สอบไม่ติด ระหว่างนั้นเด็กหนุ่มก็ได้มีโอกาสไปดูนิทรรศการของนักเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ จึงได้รู้ว่าที่นี้มีสอนลายไทย ด้วยความสนใจตั้งแต่วัยเยาว์จึงเปลี่ยนสถาบันการศึกษา ทำให้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เรียนทั้งศาสตร์และศิลป์ของงานศิลปะทั้งฟากตะวันตกและจิตรกรรมไทย ได้เรียนกับทั้งครูช่างและครูศิลปิน นอกจากครูที่เป็นบุคคล อาจารย์ผ่องยังได้ครูผ่าครูพักลักจำ ซึ่งสอนในสิ่งที่วิชาที่เขากำลังเรียนไม่อาจสอนได้

ด้วยความที่ผมเป็นลูกคนจน ต้องหาเงินเรียนเอง ทำให้เราหาทุน หางานทำ ไปทำงานกับช่างหน่วยอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของกรมศิลปากร นี่ก็เป็นครูเรา ไปทำ ไปอนุรักษ์ที่ไหน ไปตกแต่งอะไรนี่ก็ครูอีก เพราะได้เรียนรู้จากสดๆ จากของจริงเลย ทำให้ทุกวันนี้เราเป็นคนเดียวที่ยังใช้เม็ดมะขามกับดินสอพอง[1]อยู่ เพราะรู้ว่าชั้นรองพื้นสุดท้ายคือสีฝุ่น คือพื้นเม็ดมะขามดินสอพอง ซึ่งวิชานี้เดิมได้มาจากอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช

[1] เทคนิคดั้งเดิมในการซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง การรองพื้นผนังก่อนลงสีฝุ่นด้วยเม็ดมะขามดินสอพอง เพราะจะทำให้สีติดทนอยู่ได้นาน

 

ชีวิตการเป็นครูผู้ถ่ายทอด

อาจารย์ผ่องเริ่มชีวิตการเป็นครูตั้งแต่วัยเรียน โดยไปฝึกสอนที่โรงเรียนมัธยมสตรีแสงศึกษา และค้นพบว่าตนเองมีธรรมชาติของครูมากกว่าศิลปิน เมื่อเรียนจบปริญญาตรีจึงไปสอบบรรจุไปเป็นอาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความตั้งใจแรกที่มาเรียนคือเพื่อกลับไปเป็นช่างวาดรูปหน้าโรงหนัง ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าอาร์ตติสหรือครูเป็นอย่างไร แต่พอได้เรียนช่างศิลป์ เรียนลายไทย ได้เรียนกับครูที่เป็นศิลปินระดับประเทศ จึงได้เรียนหลายๆ อย่าง เลยทำให้มีทัศนะที่เปลี่ยนไป และมีสันดานที่เป็นครู คือชอบสอน ชอบแบ่งปันสิ่งที่ดีงามให้กับคนอื่น เวลาวาดรูปก็จะวาดรูปให้สวย ทำให้มันดี เพราะว่าความงามกับความดีมันเป็นอันเดียวกัน บางครั้งเราก็จะพูดคำที่ช่วยให้นักเรียนหลุดจากสิ่งที่เขาติดขัดอยู่ เป็นคำที่ผุดขึ้นมาเอง

ระหว่างที่เป็นอาจารย์ผ่องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็พบว่า การศึกษาไทยนั้นเต็มไปด้วย การแบ่งชนชั้น แบ่งพรรคแบ่งพวก การใช้อำนาจและกดข่มกันอย่างน่าเกลียด ด้านการเรียนการสอน ในห้องเรียนก็ไม่ช่วยให้ศิษย์เติบโตงอกงามตามธรรมชาติที่เป็น ระบบเช่นนี้คล้ายปิ่นโตที่ถูกผูกไว้ การที่จะไปแกะปิ่นโตเปลี่ยนชั้นก็เป็นเรื่องยาก และหลังจากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากว่า ๓๐ ปี อาจารย์ผ่องลาออกและใช้ชีวิตเป็นครูการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์ และได้พัฒนา “จริยศิลป์” ขึ้นกับกลุ่มคณาจารย์เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว

 

จริยศิลป์

คำว่า “จริยศิลป์” มาจากคำว่า “จริยะ” หรือ “จรรยา” ซึ่งหมายถึงนิสัยที่ดีงามติดตัว จริยศิลป์จึงคือการยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ไปในทางที่มีจริยธรรม บ่มเพาะให้มีนิสัยที่ดีเหมาะแก่การดำรงตน เช่น ความงาม สงบ สดใส ละเอียด เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น โดยใช้ “ศิลปะ” เป็นเครื่องมือในการสร้างนิสัยดังกล่าว

ความรู้ชุดนี้เกิดจากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ผ่องเองที่มีฐานการทำงานศิลปะมายาวนาน เมื่อได้มาทำงานที่รุ่งอรุณและมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ท่านต่างๆ ก็เริ่มเห็นเค้าลางว่าการทำงานศิลปะนั้นก่อให้เกิดสมาธิภาวนา ผูกจิตใจให้อยู่กับกายในปัจจุบันขณะ เมื่อ “กายใจสัมพันธ์” กันก็เห็นการเคลื่อนไหวของกาย พร้อมกับสังเกตเห็นความหมายในใจ ทำให้เกิดความรู้อีกชุดหนึ่งขึ้นระหว่างทำงานศิลปะ

เราต้องพาเค้าเรียนรู้เรื่องข้างในด้วย มนุษย์เรามีข้างนอกและข้างใน มีธรรมชาติภายในและธรรมชาติภายนอก เมื่อก่อนเราเรียน เราไม่สนใจข้างใน มองแต่ข้างนอก สนใจแต่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้สนใจธรรมชาติภายใน ไม่ค่อยย้อนมองดูตนเอง แต่จริงๆ แล้วทั้งผลงานและมิติภายในมันมาพร้อมๆ กัน ถามว่ามันเคยมีอยู่ไหม มันเคยมีอยู่ แต่เราไม่เคยสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สะท้อนย้อนมองดูตนเองเราก็จะไม่เห็นสิ่งนี้ แม้สิ่งนี้ปรากฏอยู่ เราก็ไม่เห็น หรือเห็นแล้ว แต่ไม่ชัด มันก็หายไป พัฒนาต่อไปไม่ได้ เมื่อเห็นจึงพัฒนาได้

ดังนั้นการเรียนรู้จริยศิลป์จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการ “การย้อนมองดูตน” ซึ่งอาจารย์ผ่องบอกว่าทำด้วยตัวเองได้โดยการนั่งนึกย้อนหรือบันทึกว่า ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำงานศิลปะ ตนเองเป็นอย่างไร เกิดการเรียนรู้อะไร แต่หากทำด้วยกันหลายคนก็จะตั้งวงพูดคุย โดยมีคนหนึ่งมีหน้าที่บันทึก คนที่เหลือช่วยกันสะท้อน สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งกระบวนการย้อนมองดูตนเองและเป็นการจัดการความรู้ (KM- Knowledge Management) ไปในตัว

ข้างนอกคือปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น ผลงาน ดรออิ้ง สโตรค แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้รู้ด้วยว่าตัวสมาธินี่ผลิตได้อย่างไร ความนิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างไร มันเกิดอะไรขึ้น สมาธิจึงมาอยู่ตรงนี้ พอมันเป็นจริยศิลป์ เราจะกลับมาสังเกตตัวเอง กลับมาเห็นว่าเมื่อกี้เกร็ง เมื่อกี้เพ่งไป หรือรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ต้องวางดินสอลงก่อน ไปทำอย่างอื่น ให้จิตสงบก่อนแล้วกลับมาทำใหม่ หรือบางครั้งแค่เห็นก็ทำต่อได้เลยนะ เห็นแว่บๆ เราก็ทัก อ้าว มันมาแล้ว มันมาแทรกเราแล้ว พอจับมันได้ มันก็หายไป เราก็ต่องานได้เลย อันนี้ก็คือการฝึกสติสัมปชัญญะ ฝึกรู้เท่าทัน

การเรียนรู้เช่นนี้ แม้จะใช้ชุดคำของศาสนาพุทธ แต่ก็มิได้จำกัดด้วยกรอบของศาสนา เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นการทำงานของจิตใจและร่างกายซึ่งเป็นเรื่องสากล และศาสนาอื่นๆ ต่างก็มีมิติการภาวนาเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน

สำหรับอาจารย์ผ่อง “จริยศิลป์” ทำให้ตัวเขาได้ฝึกรู้เท่าทันตนเอง เมื่อฝึกมากขึ้นก็ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างเบาสบาย ไม่เครียดเกร็งจนทำให้ร่างกายเจ็บปวด วางอุเบกขาในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น ด้านศิษย์ที่ได้เรียนต่างก็สะท้อนตรงกันว่า การทำศิลปะเช่นนี้ทำให้เริ่มแลเห็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตได้มาก่อน

 

ครูคือผู้หนักแน่น คือผู้ที่ทำให้ศิษย์งอกงามตามศักยภาพของตน

เมื่อถามว่าบทบาทของครูในยุคสมัยนี้คืออะไร อาจารย์ผ่องตอบในทันทีว่า ความหมายของ “ครู” หรือ “คุรุ” หมายถึงผู้หนักแน่น มนุษย์เราจะหนักแน่นได้ต้องผ่านการฝึกฝน ต้องมีตบะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝึกจิตใจตนเอง

คนเป็นครูฝึกเพื่อกลับมาตรงนี้ (ชี้ที่อกตัวเอง) เพราะถ้าเราเห็นตัวเราเอง เราก็จะเห็นคนอื่นด้วย จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน

อาจารย์ผ่องตั้งข้อสังเกตว่าทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความสับสนวุ่นวาย หลายครั้งเวลาที่เกิดปัญหาสังคม ผู้ใหญ่มักโทษเด็ก เช่น ทำไมไปกินเหล้าเมายา ทำไมไปติดยาเสพติด ทำไมไม่ทำงาน ทำไมไปมีแก็ง ทำไมไปซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แต่ถ้ามองให้ดีๆ เราก็จะเห็นว่าฐานของสังคมไม่ได้ช่วยเสริมสร้างให้สิ่งดีงามเกิดขึ้น แต่กลับสร้างปัญหามากมาย เราในฐานะคนเป็นครูไม่อาจแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือกลับมาเป็นฐานที่หนักแน่นในตนเอง ดังความหมายดั้งเดิมของคำว่า “คุรุ”

นอกจากฝึกตนให้เป็นผู้หนักแน่น ในทัศนะของอาจารย์ผ่องครูยังมีหน้าที่ช่วยให้ศิษย์ได้เติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช้อำนาจของครูมากดทับเด็ก แต่ช่วยโอบอุ้มศิษย์ให้ได้เติบโตตามศักยภาพและรากฐานในชีวิตของเขา

ผมมองพัฒนาการของสติปัญญาของคนตามประเพณีวัฒนธรรมที่เขาเติบโตขึ้นมา เด็กอีสานก็มีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง มีวัฒนธรรมประเพณีแบบหนึ่ง เด็กปักษ์ใต้ก็จะเป็นแบบอีกแบบหนึ่ง เหนือก็เป็นแบบหนึ่ง เด็กชาวเขาก็จะเป็นอีกแบบ แต่ละคนก็จะมีสปิริต มีอะไรของเค้า เราต้องโอบอุ้มเอาสิ่งนั้นมาพัฒนา ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาจากธรรมชาติที่เขาเป็น โดยที่ไม่เอาอำนาจความเป็นครู ไม่เอาวิชาเข้าไปกดดันเค้า ไม่ไปยัดให้เขาต้องทำตามที่เราต้องการ พอเขาทำไม่ได้ เรียนไม่รู้เรื่อง ก็บอกว่าโง่ แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้โง่ เขาก็มีชุดของเขาอยู่ เพียงแต่มันไม่ตรงกับเราเท่านั้นเอง เราจะทำอย่างไรถึงจะเห็นสิ่งนั้นแล้วทำให้มันงอกงามขึ้นมา

 

“กระบวนการ” ได้มาซึ่งความรู้สำคัญกว่า “ความรู้”

วิธีการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนงอกงามและเติบโตจากการเรียนรู้ อาจารย์ผ่องบอกว่าครูต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ได้มาซึ่งความรู้มากกว่าวิชาความรู้

เพราะกว่ามนุษย์จะเจริญได้ เขาต้องหาก่อน ทำก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ ทฤษฎีมันเกิดขึ้นเลย แต่พอเราไปได้เรียนทฤษฎี ก็กลายเป็นว่าเราไม่เคยปฏิบัติ เราไปเข้าใจอย่างที่จำมา ความเข้าใจของเราก็จะอ่อนด้อยบางอย่าง สิ่งที่ผมทำในชั้นเรียนจะปล่อยให้เขาทำ เผชิญไปเลย แล้วจึงค่อยกลับมาหาตัววิชา กลับมาหาทฤษฎี กลับมาดูซิว่าจากการเผชิญด้วยตัวของคุณเอง คุณพบเจออะไรบ้าง เราจะทำอย่างไรให้ทฤษฎีเหล่านี้มาอยู่บนความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของเรา

ครูจึงไม่ใช่แต่ทำหน้าที่บอกสอน แต่ใช้ศิลปะหรือวิธีการอื่นๆ เป็นเครื่องมือให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ลืมที่จะใช้ “การย้อนมองดูตน” และ “การจัดการความรู้” เพื่อให้ความรู้เหล่านั้นปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อาจารย์ผ่องจบบทสนทนาอันยาวนานด้วยรอยยิ้ม หันซ้ายหันขวา แล้วเอ่ยปากเรียกเหล่าลูกศิษย์ให้หยุดวาดภาพ เก็บข้าวเก็บของ เก็บกระดาษวาดรูปให้เข้าที่ แล้วมานั่งล้อมวงกันพูดคุยว่าเมื่อครู่นี้เราได้เรียน “รู้” อะไรกันบ้าง 

 


ขอขอบคุณที่มา บทความ ผ่อง เซ่งกิ่ง : วิถีแห่งครู “จริยศิลป์”
จาก วารสารวิถีพุทธ เล่ม 13

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save