8 ช่องทางความสุข

ครูเรียม

%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9-1

ฉันฝากเด็กชาวเขาด้วยนะ ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ

ประโยคเดียวที่เปลี่ยนชีวิตครูคนหนึ่งและเด็กบนดอยอีกหลายร้อยชีวิต

โรงเรียนบ้านขอบด้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปี พ..2527′

ก่อนจะมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามในปัจจุบัน ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ 30 กว่าปีที่แล้ว ยังคงเป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ล้วนเป็นชาวมูเซอดำ ปลูกฝ่ิน เป็นพื้นที่สีชมพูถึงสีแดง เต็มไปด้วยอันตรายและยาเสพติด มีแต่ทหารคอยเดินลาดตระเวน

สภาพดอยอ่างขางแบบนั้นเองที่ ครูเรียม สิงห์ทร ได้เจอในวันแรกที่ไปรายงานตัวเป็นครูที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งหากย้อนกลับไปครั้งที่ครูเรียมตัดสินใจสมัครมาเป็นครูที่โรงเรียนนี้ ครูเรียมเองคิดว่าชีวิตครูดอย น่าจะได้สอนเด็กชาวเขาน่ารักๆ ในเพิงไม้เล็กๆ ท่ามกลางดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ แต่ชีวิตการเป็นครูดอยที่ได้เจอจริงๆ มันกลับไม่สวยงามอย่างที่ครูเรียมเคยฝันไว้

วันแรกที่มาถึง ครูเรียมในวัย 24 ปี ต้องลากกระเป๋า เดินเท้าไปบนทางชันของภูเขา ระยะทางกว่า 5 กม.จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ท่ามกลางหมอกหนาวเย็น พอไปถึงสภาพโรงเรียนที่เห็นเป็นเพียงอาคารเรียนชั่วคราว ขนาด 2 ห้องเรียน ฝาไม้ไผ่มุงหลังคาสังกะสี ระบบน้ำเป็นประปาเกษตร ไฟไม่มี ห้องน้ำต้องใช้ร่วมกับทหาร

1295260370

นักเรียนของโรงเรียนบ้านขอบด้งในตอนนั้นทั้งหมดมี 30 คน เป็นเด็กชาวมูเซอดำทั้งหมด พูดภาษาไทยไม่ได้ สื่อสารกันไม่เข้าใจ พ่อแม่ของเด็กๆ เองก็ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ไม่สนใจที่จะส่งลูกมาโรงเรียน ครูเรียมไปนั่งรอเด็กนักเรียนอยู่ในห้อง2 สัปดาห์ มีเด็กแวะเวียนมาบ้างไม่กี่คน แต่แค่มานั่งเล่นแล้วก็หนีกลับ

ห้องเรียนที่ว่างเปล่าไร้นักเรียน บรรยากาศเยียบเย็น ภาษาที่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ความเป็นอยู่ที่ทุรกันดาร บั่นทอนจิตใจของครูเรียมที่ทั้งชีวิตไม่เคยเจอความลำบากขนาดนี้ อะไรๆ ที่ไม่เหมือนภาพอย่างที่ฝันไว้ทำให้ครูเรียมเริ่มท้อ จึงตัดสินใจเก็บข้าวของใส่กระเป๋าเตรียมกลับกรุงเทพฯ แต่ใจที่ยังลังเลพาให้ครูเรียมกลับไปนั่งในห้องเรียนอีกครั้ง คิดว่าหากมีเด็กมาเรียนวันนี้ก็จะไม่กลับ นั่งรออยู่นานก็ไม่มีเด็ก ครูเรียมเหลียวมองรอบห้องอย่างจะหาที่พึ่งสุดท้าย ในที่สุดก็ไปสะดุดตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่แขวนอยู่เหนือกระดานดำ

วินาทีนั้นเองที่เปลี่ยนชีวิตครูเรียมและเด็กๆ ที่บ้านขอบด้ง สายพระเนตรของพระองค์ท่านที่ครูเรียมเห็นในพระบรมฉายาลักษณ์คล้ายจะส่งพลังบางอย่างให้กับครูเรียม ตอนนั้นเองที่ทำให้ครูเรียมได้สติคิดขึ้นมาได้ว่า ‘ขนาดในหลวงท่านอยู่ไกล ท่านยังเสด็จมาที่นี่ มาสร้างโครงการหลวง สร้างโรงเรียน แต่ครูเรียมยังไม่ทันทำอะไรเลย แค่นี้ก็ท้อเสียแล้วเหรอ?’

หลังจากวันนั้นครูเรียมก็ตัดสินใจไม่นั่งรอนักเรียนอีกต่อไป แต่ใช้วิธีเดินเข้าไปหานักเรียนในทุกที่ ที่ไร่ข้าว บุกไปในป่า ไปเคาะประตูบ้าน เอาขนม ดินสอสี กระดาษติดตัวไป เจอเด็กที่ไหนก็ชวนเด็กๆ เรียนด้วยหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวบ้าน สอนภาษาไทย และวิชาต่างๆ ที่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากสอนเด็กแล้ว ครูเรียมยังลงไปคุยกับพ่อแม่ ชี้ชวนให้เขาเห็นความสำคัญของการเรียน ใช้เวลาเป็นปีกว่าพ่อแม่เด็กจะเริ่มมองเห็น และเริ่มยอมให้ลูกๆ มาโรงเรียน

559000011429101

11 มีนาคม 2535 ตั้งปณิธานขอทำงานในพื้นที่นี้ตลอดชีวิต

ครูเรียมทำงานในพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่นมาตลอด จนกระทั่งถึงวันสำคัญของชีวิต คือวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเยี่ยมโรงเรียนบ้านขอบด้ง ทอดพระเนตรเด็กๆ เขียนภาษาไทย ปั้นดินน้ำมัน และทอดพระเนตรแปลงดอกคาร์เนชั่นที่ครูเรียมและเด็กๆ ช่วยกันปลูก วันนั้นพระองค์ท่านได้พระราชทานเงินจำนวน 3,000 บาทเพื่อให้ครูเรียมและเด็กๆ ใช้สร้างโรงเรือน และก่อนจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสกับครูเรียมและเด็กๆ ว่า

ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ

ดุจดั่งคำมั่นสัญญาตอบกลับจากครูเรียม นับตั้งแต่วันนั้น ครูเรียม สิงห์ทร ก็ปวารณาตัวขอเดินตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ด้วยการขอปฏิบัติหน้าที่ครูที่โรงเรียนบ้านขอบด้งอย่างสุดความสามารถจนกว่าจะเกษียณ หรือแม้หากเมื่อเกษียณแล้ว ก็จะขอตั้งปณิธานทำงานเป็นประโยชน์ในพื้นที่นี้ไปตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่

image

ปัจจุบัน ครูเรียมวัย 56 ปี ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นครูที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ซึ่งปัจจุบันขยายเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนเกือบ 300 คน มีครู 12 คน นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนี้เป็นผู้นำหมู่บ้าน เป็นเกษตรกร ประกอบอาชีพสุจริต เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และในอนาคตอันใกล้นี้ ครูเรียมยังวางแผนจะสร้างพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวชุมชนบ้านขอบด้งกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสรู้ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อบ้านขอบด้งอย่างหาที่สุดมิได้…

%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9-3

** เรื่องราวของครูเรียมเป็น1 เรื่องราวของคนตัวเล็กๆ กับพลังความดีที่ยิ่งใหญ่ พวกเราทุกคนก็สามารถเป็น 1 ในพลังความดี เพื่อสานต่อเป็นพลังแผ่นดินเพื่อตอบแทนพระองค์ท่านได้เช่นกัน ผ่านโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน ดูรายละเอียดได้ที่ www.palangpandin.com #จิตอาสาพลังแผ่นดิน #palangpandin

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save