8 ช่องทางความสุข

‘การฟัง’ วิชาที่โรงเรียน (ส่วนใหญ่) ไม่เคยสอน (ตอนที่ 2)

headphones-424163_1280

การฟังเป็น 1 เครื่องมือในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่การสร้างความสุขภายในที่ลึกและยั่งยืนที่สุดของคนเรา เมื่อเราเรียนรู้การฟัง เราจะเริ่มฟังอย่างตั้งใจ ฟังแบบไม่ตัดสิน ฟังแบบมีสติรู้เนื้อรู้ตัวว่าเราอยู่ตรงนั้นกับเขา สิ่งที่เราฟังจะไม่ใช่เพียงเนื้อหา แต่เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกด้านในของผู้พูดที่อยู่ตรงหน้า ขณะที่เรากำลังฟัง ผู้พูดเองก็สัมผัสได้ถึงสิ่งที่เรามอบให้ มันจะเกิดสายใยบางๆ ที่โอบรัดคนสองคนให้เชื่อมโยง เข้าใจและใกล้กันมากยิ่งขึ้น

และสิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อเราเรียนรู้การฟังอย่างเข้าใจ ถึงที่สุดเราจะได้ยินแม้กระทั่งเสียงของเราเอง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นมันจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านในของเราที่นำพาสิ่งดีๆ ตามมาอีกมากมาย

“เมื่อก่อนนี้ถ้าใครพูดติดๆ ขัดๆ คนจะไม่ฟัง แต่พอคุณเรียนรู้มากขึ้น คุณเริ่มเคารพคนมากยิ่งขึ้น บางทีเสียงที่สั่นเครือทำให้คุณหยุดคิดมากขึ้น” .น้อง – ธนัญธร เปรมใจชื่น กระบวนกรนักจิตบำบัดโครงการอาสาเพื่อนช่วยฟัง ธนาคารจิตอาสา เอ่ยถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราเรียนรู้เรื่องการฟัง

ปัญหาหลายๆ เรื่องเกิดจากการที่เรารับฟังไม่เป็น ไม่ใช่แค่ฟังคนอื่น แต่ไม่เคยฟังตนเอง ไม่เคยได้ยินเลยว่าเมื่อกี้ฉันพูดอะไรออกไป หลายๆ แบบฝึกหัดจึงเน้นให้คนหยุดเพื่อกลับมาได้ยินมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง คุณจะเข้าใจตัวคุณมากยิ่งขึ้น แล้วเมื่อคุณเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น คุณถึงจะดูแลสิ่งที่คุณจะต้องทำได้ดีขึ้น ถ้าหากเราฝึกจริงๆ มันจะเป็นเครื่องมือในการยกระดับจิตของตัวเอง

อาสาเพื่อนช่วยฟัง 3

เมื่อเราตั้งคำถามต่อไปกับ อ้น, นัท, พลอย 3 คนรุ่นใหม่ผู้เข้าร่วมโครงการอาสาเพื่อนช่วยฟังและปฏิบัติการรับฟังว่า หลังจากที่พวกเขาได้เข้ามาคลุกคลีเรียนรู้เรื่องของการฟัง ตลอดจนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการรับฟังกับธนาคารจิตอาสาไปหลายครั้งแล้ว พวกเขามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ทุกอย่างดีขึ้น? แย่ลง? หรือเหมือนเดิม?

พลอยครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ ก่อนตอบว่า “เราตัดสินคนอื่นน้อยลงนะ เมื่อก่อนฟังแล้วพยายามไปช่วยเขาแก้ปัญหา โดยที่ไม่ได้ใส่ใจเลยว่าเขารู้สึกอย่างไรกันแน่ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าคนที่มาเล่าเขามีวิธีแก้ปัญหาอยู่แล้ว เขาแค่อยากได้คนอยู่ข้างๆ เราควรแค่อยู่กับเขา อยู่กับความรู้สึกเขา อย่าไปเร่ง อย่าไปว่า ทำให้ได้เข้าใจเขามากขึ้น

พลอยยังเสริมว่าได้นำทักษะการฟังไปใช้กับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว จากที่ไม่เคยเปิดใจคุยกัน ก็เริ่มคุยกันมากขึ้น เรื่องเล็กๆ ที่พลอยเคยมองข้าม เมื่อตั้งใจฟังก็รับรู้และเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้น

อาสาเพื่อนช่วยฟัง2

เช่นเดียวกับนัท เมื่อเขาเรียนรู้เรื่องการฟัง นัทเริ่มมองเห็นและสัมผัสถึงความห่วงใย ความหวังดีที่มาจากญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว

“ผมเห็นความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น ความหวังดีของคนที่อยู่ข้างหน้า ก่อนหน้านี้คุณย่าจะชอบให้เงินลูกหลาน เราก็ปฏิเสธเพราะเกรงใจมาตลอด จนมีครั้งหนึ่งเรามองไปที่เขา เราถึงรู้ว่าที่เขาให้เงินเรา เพราะเขาหวังดีกับเรา เป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่า การที่เราเองมีคำตอบอะไรสักอย่างในใจที่เราคิดก่อนหน้านี้ ทำให้เราไม่เห็นความหวังดีของคุณย่า รวมถึงความหวังดีของแม่ ตอนที่เราคุยกันเราก็เห็นมันมากขึ้น จากที่คุณแม่เข้มงวดกับเราเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็เพ่ิงจะมาเห็น ก็แปลกดีที่ก่อนนี้เราอยู่กับมันโดยที่เราไม่เคยเห็น”

ส่วนหนุ่มน้อยอารมณ์ดีอย่างอ้น ที่ชอบการรับฟังคนนั้นคนนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับได้ค้นพบบางอย่างที่แตกต่างออกไป “ผมว่าผมสามารถจัดการกับเรื่องที่รับฟังได้ดีขึ้น เมื่อก่อนรู้สึกว่าเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังจะติดอยู่กับเรานานแลย แต่เดี๋ยวนี้ฟังจบแล้วก็คือจบ ผมก็ไม่เข้าใจกระบวนการตัวเองเหมือนกันว่าจัดการยังไง เราใช้เวลาในการเคลียร์เรื่องเขาไปจากตัวเราดีขึ้น คือเข้าใจเขาได้มากขึ้น และดูแลตัวเองได้ดีขึ้นด้วย”

อ้นทำให้หลายคนคลายกังวลได้ว่า การฟังไม่ใช่การไปรับหรือช่วยแบกความทุกข์แทนคนอื่น

“อีกอย่างที่แปลกก็คือ ส่วนใหญ่เราจะนึกว่าทักษะการฟังต้องใช้ในสถานการณ์หรือช่วงเวลาที่เกิดความรู้สึกแย่ๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคนมีความสุขเขาก็อยากพูดนะ อยากให้เรารู้ว่าเขาสุข เขาดียังไง”

สิ่งที่อ้นค้นพบอาจบอกกับเราได้ว่า แท้จริงความสุขหรือความทุกข์ไม่เคยแตกต่าง มันต้องการการแบ่งปันเช่นเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เท่ากัน ดังที่เคยมีคนบอกไว้ว่า เมื่อแบ่งปันความทุกข์ ความทุกข์จะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่หากแบ่งปันความสุข ความสุขจะเพิ่มเป็นสองเท่า

อ้น

โลกเราก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 มาหลายปีแล้ว (ค.ศ.2001 – 2100) เราเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไปจนถึงชีวิตนอกโลก แต่หลายครั้งเรากลับไม่เคยที่จะสนใจกลับมาเรียนรู้เรื่องราวภายในของตัวเอง จนบางครั้งเราเองก็สัมผัสได้ว่าชีวิตด้านในของเราช่างว่างโหวง ความสุขจากวัตถุภายนอกที่เราไขว่คว้ามาไม่เคยเติมเต็มมันได้เลยสักครั้ง

วันนี้อาจถึงเวลาที่เราจะหันกลับมาเรียนรู้ตัวเราเอง ผ่านเครื่องมือง่ายๆ และใกล้ตัวที่สุดอย่าง ‘การฟัง’ เริ่มจากตัวเรา ผ่านคนตรงหน้า ขยายต่อสู่ครอบครัวและชุมชน แล้วสักวันหนึ่งความสุขจะค่อยๆ งอกงาม เข้าไปเติมเต็มในหัวใจที่ว่างเปล่าของคนทุกคน

ขอขอบคุณ

ข้อมูล : โครงการอาสาเพื่อนช่วยฟัง, โครงการปฏิบัติการรับฟัง ธนาคารจิตอาสา

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save