8 ช่องทางความสุข

นิทานสร้าง…..ได้

nithan4 (1 of 1)

การรวมกลุ่มของครอบครัวที่มีความทุกข์คล้ายๆ กัน เปรียบเหมือนการสร้างเครือข่ายแห่งความห่วงใย เกิดเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่อ้างว้างหรือท้อแท้

“ทายสิคะ แม่ตุ่นกำลังจะเล่านิทานเรื่องอะไร?”

ทันทีที่แม่ตุ่นชูมือที่ซ่อนไว้ข้างหลังออกมาให้เห็นทั่วกัน เสียงจ้อกแจ้กในห้องก็เงียบลง สายตาทุกคู่จับจ้องอยู่ที่มือของแม่ตุ่น ที่ตอนนี้ปรากฎหุ่นมือตัวนิ่มสีเขียวสด ใบหน้าเป็นรูปกบยิ้มทะเล้นส่งมา

“เจ้าชายกบๆ…” หลายเสียงช่วยกันตอบ แม่ตุ่นยื่นหุ่นน้อยในมือไปหาเด็กหญิงคนหนึ่ง คุณแม่ของเด็กน้อยส่งสัญญาณบอกให้ลูกจุมพิตหุ่นน้อย เด็กน้อยจุ๊บเจ้าหุ่นอย่างเอียงอาย ตอนนั้นเองที่แม่ตุ่นพลิกหุ่นกลับอีกด้าน กลายเป็นเจ้าชายหนุ่มรูปหล่อ เรียกเสียงเสียงปรบมือจากทุกครอบครัว

“ทำไมแค่เห็นกบเราถึงรู้ว่าเป็นเรื่องเจ้าชายกบ? ทำไมเรารู้ว่าจะต้องจูบกบ?” แม่ตุ่นกล่าวชวนให้คิด “เพราะมันเป็นนิทานที่คุณพ่อคุณแม่เคยฟังตอนเด็กๆ ใช่ไหมคะ? แล้วเราฟังมานานเท่าไรแล้ว? 10 หรือ 20 ปี…หรือมากกว่านั้น….ทำไมเราจำได้…เพราะนิทานมันจับหัวใจเราใช่ไหมคะ? นี่แหละค่ะความพิเศษของสิ่งที่เรียกว่านิทาน….”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศกิจกรรมการเล่านิทานของทีม ‘นิทานสร้างได้’ ซึ่งจับมือร่วมกับสถาบันราชานุกูล ในโครงการนิทานเพื่อการบำบัด โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษกว่า 50 ครอบครัวมาร่วมกันฝึกใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กกลุ่มนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แม่ตุ่น – สุคนธา สินธพ ผู้อำนวยการโครงการนิทานสร้างได้ ได้นำหนังสือนิทานมาบริจาคที่สถาบันราชานุกูล จึงได้เห็นว่าทางสถาบันมีกิจกรรมรณรงค์ให้พ่อแม่ใช้หนังสือนิทานกับเด็กพิเศษ ประสบการณ์ในครั้งนั้นเปิดโลกใหม่ให้แม่ตุ่น จากเดิมที่มองว่านิทานเป็นสื่อที่ใช้เสริมด้านวิชาการให้เด็กปกติได้เท่านั้น แต่กับกลุ่มเด็กพิเศษ หนังสือนิทานเป็นมากกว่านั้น นิทานกลายเป็นสื่อที่ทำให้แม่กับลูกสื่อสารกันได้ ทำให้เด็กนิ่ง มีสมาธิ เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน

แม่ตุ่นจึงคิดรวมกลุ่มคุณแม่ของเด็กพิเศษที่มีประสบการณ์การใช้นิทานกับลูกแล้วได้ผลที่สถาบันแห่งนี้ มาช่วยกันต่อยอดกิจกรรมให้เป็นรูปเป็นร่าง ขยายออกไปในสังคมให้มากยิ่งขึ้น ในรูปแบบการทำงานแบบจิตอาสาใน โครงการนิทานสร้างได้

nithan7 (1 of 1)

‘นิทานสร้างได้’ ในช่วงแรกเริ่มต้นจากการจับกลุ่มเล่านิทานในมุมต่างๆ ที่สถาบันราชานุกูล หลังจากนั้นจึงเริ่มออกไปเล่านิทานตามโรงเรียนที่มีเด็กพิเศษไปเรียนร่วม โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรก ไปเล่านิทานให้เด็กพิเศษฟัง ส่วนที่สอง หลังจากเล่านิทานเสร็จก็จะมีการร่วมกลุ่มของครอบครัวเด็กพิเศษมาแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และส่วนสุดท้ายคือการสร้างความเข้าใจในกลุ่มของครอบครัวเด็กปกติ ที่อาจมีความกังวลอยู่บ้างกับการที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษเข้ามาเรียนร่วม

แม่สาว – นฏชมน นิลอ่อน เป็นหนึ่งในคุณแม่จิตอาสาของโครงการ แม่สาวมีลูกเป็นออทิสติกที่อาการค่อนข้างมาก แต่สามารถพัฒนาลูกจนดีขึ้นได้ด้วยการใช้นิทาน แม่สาวเข้าใจดีว่าแต่ละครอบครัวต้องเผชิญกับความทุกข์หนักหนาสาหัสแค่ไหน จึงอยากที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้กับพ่อแม่คนอื่นๆ ได้มีความหวัง มีกำลังใจ อดทนและก้าวผ่านอุปสรรคไปได้เหมือนกัน

“ตอนแรกที่รู้ว่าลูกเป็นออทิสติก เราร้องไห้ตลอดสามเดือน พ่อเขาก็รับไม่ได้เมามายทุกวัน ทีนี้พอร้องหนักๆ เข้ามันรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เลยตั้งสติกลับมาตั้งใจดูแลเขา จากที่อาการหนักมาก เราใช้นิทานกับเขาจนตอนนี้อ่านเขียนได้ พูดสื่อสารได้เป็นประโยค เรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ครอบครัวกลับมามีความสุขเหมือนเดิม เราก็เลยอยากช่วยครอบครัวอื่น อยากบอกว่านิทานมันได้ทุกอย่างจริงๆ เพราะเราเห็นผลแล้วจากลูกของเรา” แม่สาวกล่าว

นอกจากการแบ่งปันประสบการณ์ที่สำเร็จแล้วให้กับคนอื่นๆ คุณแม่อีกหลายคนก็ได้เติบโตและเรียนรู้การดูแลลูกจนดีขึ้นจากการทำงานในโครงการ ตัวอย่างเช่น แม่ผึ้ง – รุ้งดาว ยกศิริ

“มาเข้าโครงการวันแรกเขาให้ไปอ่านนิทานให้เด็กพิเศษกลุ่มใหญ่เกือบ 30 คนฟัง ตอนนั้นไม่มั่นใจกลัวเด็กจะไม่ฟัง แต่ปรากฎว่าเด็กๆ ตั้งใจฟังมาก แล้วยิ่งหลังจบกิจกรรม ได้มีโอกาสรวมกลุ่มพูดคุยกับผู้ปกครองเด็กคนอื่นๆ มันทำให้เห็นเลยว่าปัญหาที่เราเจอมันเล็กมาก ความคิดโตขึ้นทันทีในวันนั้น หันกลับมามองลูกเรา ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเลย เราต้องช่วยเขาให้เต็มที่ ก็เริ่มใช้นิทานมาพัฒนาเขาอย่างจริงจัง จนวันนี้เขาดีขึ้นมาก ครอบครัวที่เคยเหนื่อยล้าเคร่งเครียด ก็กลับมามีความสุขขึ้นมาก” แม่สาวเล่าประสบการณ์

nithan3 (1 of 1)

การรวมกลุ่มของครอบครัวที่มีปัญหา มีความทุกข์คล้ายๆ กันทุกครั้งหลังการเล่านิทาน จึงเปรียบเหมือนการสร้างเครือข่ายแห่งความห่วงใยที่เหนียวแน่น ณ ห้วงเวลาที่ได้พูดคุยปรับทุกข์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เกิดเป็นสุขภาวะทางปัญญา เกิดกำลังใจ ความหวัง เป็นพลังที่เกาะเกี่ยวเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่เงียบเหงา อ้างว้างหรือท้อแท้

“พ่อแม่อาจไม่ใช่หมอ ไม่ใช่นักบำบัด แต่เราเป็นคนที่สำคัญที่สุดกับลูกนะคะ บางทีเราพาลูกไปฝึกพัฒนาการที่นั่นที่นี่ แต่พ่อแม่ไม่เคยทำอะไรด้วยตัวเองเลย อยากให้ลองใช้นิทานดูค่ะ เริ่มต้นวันละ 5 นาทีก่อนก็ได้ เวลาที่เราอ่านนิทานให้เขาฟัง เสียงของเราทำให้เขาสัมผัสและรับรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น นิทานจะเชื่อมโยงความห่วงใยไปถึงกันและกัน ถือเป็นโอกาสทองที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาที่มีความสุขด้วยกัน สัมผัสกันและกันได้จริงๆ” แม่ตุ่นกล่าวสรุป

คำว่า ‘นิทานสร้างได้’ จึงคล้ายเป็นทั้งคำถามและคำตอบไปพร้อมๆ กัน หลายคนอาจตั้งคำถามว่านิทานสร้างได้คือสร้างอะไร สำหรับแม่ตุ่น เธอตอบว่าสำหรับเธอนิทานสร้างความสุข แต่แม่สาวและแม่ผึ้งบอกว่านิทานสร้างครอบครัวของเธอให้คืนกลับมาอีกครั้ง แต่ละคนก็คงมีนิยามที่แตกต่างกันออกไป นิทานสร้าง….ได้ จึงเป็นช่องว่างคำถามที่เว้นไว้ ให้แต่ละครอบครัวต้องลองหาคำตอบมาเติมเต็มด้วยประสบการณ์ของตนเอง

nithan6 (1 of 1)

ขอขอบคุณ: โครงการนิทานสร้างได้, โครงการนิทานเพื่อการบำบัด สถาบันราชานุกูล

** ปัจจุบันโครงการนิทานสร้างได้ ยังเปิดรับการมีส่วนร่วมจากทุกคน ทั้งจิตอาสาเล่านิทาน จัดกิจกรรม ดูแลเด็กๆ เปิดรับบริจาคหนังสือนิทานที่ยังมีสภาพดีเพื่อส่งต่อให้กับครอบครัวอื่นๆ รวมถึงขนม ของว่างอื่นๆ สำหรับเด็กๆ และครอบครัวในเวลาที่มีกิจกรรม ใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NithanSrangDi **

การศึกษาเรียนรู้

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save