คำถามถึงความสุข

Q: “หนูแต่งงานมา 2 ปีแล้ว แฟนอยากมีลูก แต่หนูไม่มั่นใจ เพราะเป็นแม่ต้องเสียสละมาก หนูควรจะมีหรือไม่คะ”

Q: “หนูแต่งงานมา 2 ปีแล้ว แฟนอยากมีลูก แต่หนูไม่มั่นใจ เพราะการเป็นแม่ต้องเสียสละมาก หนูควรจะมีลูกหรือไม่มีดีคะ อย่างไหนมีความสุขกว่ากัน “

A: ถึง ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีลูกดีหรือไม่?

ก่อนอื่น ขอนำเอาพุทธภาษิตมาเป็นที่พึ่งทางปัญญาไว้ก่อนว่า

” ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ ” แปลว่า บุตรเป็นวัตถุของมนุษย์ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงธรรมเทศนาไว้ อย่างน่าสนใจ เพราะภายใต้พุทธภาษิตนี้มีความหมายเป็น ๒ นัยยะ นัยแรกคือ “บุตรนี้เป็นที่เพ่งเล็งของพ่อแม่”เมื่อพ่อแม่ที่ยังไม่มีบุตร ก็อยากจะมี เพ่งเล็งที่จะมี จะด้วยสัญชาติญาณแห่งการสืบสกุลหรือเพื่อให้ช่วยดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่าก็ได้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ ว่าที่พ่อแม่จะคำนึงถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงแล้วจะไม่ให้เป็นการวิตกกังวล แต่เป็นความรอบคอบไม่ประมาทจะดีกว่า เพื่อจะได้เตรียมพร้อมทั้งกายและใจ

ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้นก็คือ “บุตรเป็นวัตถุที่ตั้งอาศัยของหมู่มนุษย์”ความหมายนี้ค่อนข้างจะสำคัญกว่าความหมายแรก และลึกซึ้งกว่า ตรงที่มุมมองมุ่งไปที่ความสัมพันธ์สองทางระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อลูก และลูกมีต่อพ่อแม่

เมื่อลูกยังเล็กเขาต้องพึ่งพาอาศัยเราทั้งหมดทุกอย่าง ไม่สามารถช่วยตนเองได้ พ่อแม่จึงเป็นผู้ให้โดยปราศจากเงื่อนไขหรือหวังสิ่งตอบแทน แต่ช่วยเลี้ยงดูเพื่อให้เขาเจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  เมื่อฟังดูตรงนี้อาจมีข้อสงสัยว่า ไม่เห็นตรงกับความหมาย เพราะแทนที่ลูกจะเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ แต่พ่อแม่ต่างหากที่เป็นที่พึ่งของลูก  เราลองมาพิจารณาให้ดีในบทบาทของพ่อแม่ตรงนี้ การเลี้ยงดูลูกนั้น โดยจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ของพ่อแม่ทุกคน ย่อมถ่ายทอดการเลี้ยงดูทางจิตวิญญาณไปด้วยเสมอ มิใช่เพียงมิติทางกายภาพเท่านั้น เราจึงใช้คำว่า “เจริญ”ควบคู่กับคำว่าเติบโต ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ว่าที่พ่อแม่มือใหม่ทั้งหลายในปัจจุบัน เกิดความลังเลสงสัยว่า ตนจะทำหน้าที่นี้ได้ดีเพียงใด ถือว่าเป็นความรอบคอบและไม่ประมาทที่ว่าไว้ข้างต้น คำตอบหรือกุญแจดอกสำคัญจึงอยู่ที่จุดนี้แหละ ที่จะบันดาลให้เกิดความหมายที่ว่า บุตรจะเป็นที่ตั้งอาศัยของพ่อแม่ได้อย่างไร

ต่อเมื่อพ่อแม่ ให้ความสำคัญแก่การเลี้ยงดูด้วยอาหารทางจิตวิญญาณ ได้แก่ความรัก ความเมตตากรุณา และด้วยสติปัญญา คือมีมุทิตาและอุเบกขาให้เป็น ลูกจึงจะเติบโตขึ้นเป็นที่พึ่งอาศัยของพ่อแม่ และยิ่งเพิ่มพูนด้วยการตอบกลับมาของลูกที่ประพฤติดีมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยแล้วละก็ เท่ากับว่าเขาเป็นผู้ที่ยกพ่อแม่ขึ้นมาเสียจากนรกที่ชื่อว่าปุตะนั่นเอง เพราะไม่ทำให้พ่อแม่ต้องร้อนใจ พ่อแม่จะมีแต่ความสุขใจ ท่านพุทธทาสจึงกล่าวว่า “เราจึงมีจุดมุ่งหมายที่ว่า จะมีบุตรกันอย่างไร จึงจะเป็นที่ตั้งอาศัยของมนุษยชาติ คือดำรงความมีอยู่ของมนุษย์นั่นเอง”

การเลี้ยงดูลูกมนุษย์จึงเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับพ่อแม่เช่นนี้เอง เพราะการเลี้ยงดูทางจิตวิญญาณนั้น ผลที่จะเกิดกับลูกคือ เขาจะเป็นทั้งคนดี คนเก่ง เป็นคนฉลาดสุขุม มีความสุขอย่างพอเพียงนั้น ล้วนมาจากต้นเหตุคือพ่อแม่ทั้งนั้น คือพ่อแม่ที่มองเห็นถึงความอ่อนด้อยทางจิตวิญญาณของลูก

ในการที่เขาจะถูกชักนำด้วยกิเลส ซึ่งพ่อแม่ควรช่วยเขาฝืนกิเลสให้เป็น นี่จึงจะเรียกว่าเป็นความเอาใจใส่ที่ถูก ตรงกันข้ามกับการตามใจ เพราะพ่อแม่เผลอตามใจตนเองที่ไม่อยากลำบากช่วยลูกฝืนใจ พ่อแม่พ่ายแพ้แก่ตนเองเสียก่อนแล้ว จึงนำพาลูกไปผิดทาง และใช้ข้ออ้างที่ดูเหมือนเป็นเหตุผลที่ดูดี ก็คือ ให้ลูกมีอิสระในความคิดของเขาเอง บางครั้งก็จะเป็นเพียงการส่งเสริมให้ลูกใช้กิเลสมาต่อรองตนเองโดยไม่รู้ตัว ด้วยการแสดงโวหารต่างๆอย่างไม่ตรงไปตรงมาของเหตุและผลที่แท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น พ่อแม่เป็นจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจไปว่า นี่คือความเฉลียวฉลาดของลูกด้วยซ้ำ ฉนั้นผลที่ตามมาคือพ่อแม่ได้ลูกที่ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง เป็นผู่ที่สอนยาก ไร้วินัย ขาดความอดทน รักสบาย ใช้พ่อแม่เป็นทาสรับใช้ต่างๆนานา

แต่ทว่า ท่านเชื่อหรือไม่ว่า การที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่นั้น มาจากการที่พ่อแม่ไม่ฟังลูกต่างหาก เรามักจะเคยได้ยินเด็กๆเถียงกับพ่อแม่ด้วยอารมณ์ที่คับข้องใจว่า ทำไมพ่อแม่ไม่ฟังหนู แล้วพ่อแม่ก็ยิ่งไม่ฟังใหญ่เพราะมัวแต่โกรธที่ลูกว่าเช่นนั้น เกิดอะไรกันขึ้นละนี่? ใครไม่ฟังใครก่อน? ลองพิจารณาดูให้ดี คนแรกที่ต้องตั้งหลักทบทวนตนเองคือพ่อแม่นั่นแหละ ในฐานะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของลูก ซึ่ งลูกจะซึมซับพฤติกรรมไปโดยไม่รู้ตัว ความลับอยู่ตรงนี้เอง อยู่ตรงที่ พ่อแม่หยุดฟังตัวเองไม่เป็น ไม่รู้ตัวว่าตนกำลังกรุ่นอยู่กับเสียงที่อึงอลอยู่ภายใน จนไม่อาจจะได้ยินลูกแม้สักนิด จนเป็นอาการที่ลูกพยายามจะบอกว่า พ่อแม่ไม่ฟัง นั่นแหละ

เห็นหรือไม่ว่า คนเป็นพ่อแม่นั้นมีภารกิจทางใจที่สำคัญ คือการที่จะต้องปรับปรุงตนเองในทุกวินาทีที่อยู่ต่อหน้าลูก ดังนั้นในเมื่อลูกเป็นเงื่อนไข คือเป็นวัตถุ ที่พ่อแม่เพ่งเล็งอยู่ อย่างไม่มีทางเลี่ยง จึงเป็น Flight บังคับ ย้อนกลับหรือยกเลิกไม่ได้ จำเป็นอยู่เองที่ท่านจะต้องเลือกเดินไปบนทางที่จะเป็นพรหมของลูก มองอีกมุมหนึ่งคือลูกเหมือนเป็นแบบฝึกหัด เป็นหนูทดลอง ที่ไม่ว่าพ่อแม่จะทำผิดถูกอย่างใดก็ยกเลิกไม่ได้เช่นกัน ลูกจึงเป็นเดิมพันของพ่อแม่ที่จะใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงตนอยู่เสมอ บุตรจึงเป็นผู้ยกพ่อแม่ขึ้นจากนรกด้วยนัยนี้อีกเช่นกัน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกขยาดกับการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดี ไม่แน่ใจว่าตนเองจะทำได้หรือไม่ ก็ขอตอบเพื่อย้ำความมั่นใจตรงนี้ว่า การมีลูกแล้วดีกับทั้งพ่อแม่และลูกนั้นมีได้แน่นอน และเป็นที่มาแห่งความสุขและความอบอุ่นใจเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ากระแสแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันจะลุ่มๆดอนๆบ้าง แต่นั่นแหละเมื่อผ่านประสบการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ต่อเนื่อง ความชำนาญของสติปัญญา ก็เพิ่มขึ้นทุกครั้งไปเช่นกัน เหมือนเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะคนเรานั้นมีความสามารถในการเรียนรู้อยู่แล้ว และตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งซึ่งพ่อแม่ทุกคนมีอยู่แล้วตามสัญชาตญาณ คือความรัก เอ็นดู และความปราถนาดีต่อลูก เพียงแต่คอยจัดสมดุลย์ระหว่างความรักกับการฝึกฝืนใจต่อกิเลส(ของตนเอง)ให้เป็น

หากใครคิดว่าพร้อมอยู่แล้วก็ไม่น่าจะลังเล. ถึงกระนั้นก็ตามคำตอบนี้เป็นเพียงความคิดเห็นจากมุมมองหนึ่ง ของคนที่มีลูก ๒ บางรายที่มีลูก ๔-๕ คนก็ยังดูสบายๆ ในขณะที่อีกบางคนมีลูกเพียงคนเดียวแต่กลับวุ่นวายและเพ่งเล็งในวัตถุนี้เสียจนไม่เป็นสุข สุดท้ายนี้จึงขอให้วางใจกับเรื่องนี้ไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด และกลับมาอยู่กับปัจจุบันของคู่ชีวิตให้ดีที่สุด เท่านี้ก็ได้ครอบครัวเป็นสุขที่แท้แล้วค่ะ

ประภาภัทร นิยม

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save