ความสุขของคนปัจจุบัน

‘จงกินดื่มและหาความสำราญ เพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว’

ที่มาของคำกล่าวแบบสุขนิยมสุดโต่งนี้อาจไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ดูเหมือนจะเหนี่ยวนำความคิดคนในสังคมร่วมสมัยปัจจุบันมิใช่น้อย

ในการเร่งเร้าหาความพอใจและความสะดวกสบายจากการบริโภคให้มาก แต่ผลที่ได้อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการและยังขาดแคลนไม่สิ้นสุด เมื่อความสุขได้กลายเป็นความพอใจเพียงชั่วครู่ยาม เหนื่อยล้ากับการได้มา ยิ่งตามหากลับยิ่งไม่พบ หรือแม้กระทั้งต้องยอมสูญเสียคุณค่าบางอย่างไป หากนึกสงสัยในความรู้สึก เราอาจลองตั้งคำถามกับตัวเองสักหน่อยว่า มันใช่ความสุขที่เราปรารถนาจริงๆ หรือไม่

วิ่งหาความสุข ?

นักเขียนชื่อดัง เฮนรี เดวิด ทอโร บอกว่า ‘ความสุขเปรียบเหมือนผีเสื้อ ยิ่งเราไล่ตามเท่าไหร่ มันก็ยิ่งบินหนีไป’ เช่นเดียวกับที่ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ หรืออาจารย์เอเชีย ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา มองว่า คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ค่อยมีความสุข เพราะรู้สึกไม่พอในวันนี้และจะมองหาไปข้างหน้าเรื่อยๆ

“เพราะคนอยากได้อะไรบางอย่าง อยากมีอะไรบางอย่าง และอยากเป็นอะไรบางอย่าง ที่มันต่างไปจากที่เขาได้หรือมีอยู่หรือเป็นในปัจจุบัน คนไม่ค่อยมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่เคยรู้จักพอ”

ความสุขยังหาง่ายด้วยการซื้อ และมีสิ่งต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดความสุขเฉพาะหน้าได้รวดเร็ว มีกระบวนการวิ่งหาความสุข และกระบวนการนำเสนอความสุขตลอดเวลาในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในมิติของสื่อโฆษณามีบทบาทสูงมากในการนำเสนอความสุข รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม ผู้บุกเบิกแนวการศึกษาที่เน้นให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ ให้ความเห็นว่า “ความสุขจากการเสพจะไม่ยั่งยืน เพราะต้องอาศัยสิ่งต่างๆ มากมาย ต้องพึ่งพา และวิ่งหาความสุข มันไม่ถาวร มันให้ความสะใจ แต่ไม่ใช่ความมั่นคง จิตใจเราจะอ่อนแอ อะไรที่ไม่ถูกใจหน่อยเราจะแย่ เปราะบาง คนสมัยนี้จึงเปราะบาง เลือกทำแต่สิ่งที่ชอบ อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่เอา แต่จริงๆ ชีวิตคนเรามีมิติและมีเหตุมากมาย ถ้าติดอยู่แค่ตรงนี้ก็จะไม่เจอมิติต่างๆ ที่เป็นการสร้างศักยภาพภายใน ติดได้บ้างแต่อย่าติดนาน”

 

ลืมนึกถึงคนอื่น ?

สังคมมีปัญหาเพราะทุกคนนึกถึงแต่ตัวเอง หลวงพี่โต้งพระครูธรรมคุต (พระสรยุทธ ชยปญโญ) พระนักพัฒนาป่าต้นน้ำ แห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จังหวัดเชียงใหม่ ให้ทัศนะว่า “เมื่อตัวเองอยากได้ จึงลืมนึกว่าคนอื่นเขาอยากได้ไหม อยากได้ก็ต้องแย่งกัน อย่างมีขนมหนึ่งก้อนเราอยากกิน เราเอามากินเลยลืมมองว่าเพื่อนอยากกินไหม กว่าจะได้ขนมก้อนนี้มาต้องแลกมาด้วยอะไร บางทีขนมก้อนนี้ต้องมีเงินไปซื้อมา เงินมาจากไหน เราต้องขวนขวายหาเงินเพื่อซื้อความอยากให้ตัวเอง พอนึกถึงตัวเองมากเข้าๆ ก็เลยลืมนึกถึงคนอื่น เกิดความขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน และลืมไปว่ามันมีผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องถึงผู้อื่นด้วย เมื่อทะเลาะกันก็เลยเป็นวิกฤติ”

IMG_7636“โฆษณาทุกอย่าง ของกิน ของใช้ ที่เที่ยว ก็เพื่อให้คนไปซื้อของเขา ให้เราได้มีความสุขชั่วครั้งคราว มากระตุ้น มาเร้ากิเลส จากเมื่อก่อนตามใจตัวเองอาทิตย์ละครั้ง ก็มาเป็นอาทิตย์ละสองครั้ง สามครั้ง และทุกวัน ยิ่งตามใจมากก็ยิ่งเสียนิสัย จากจ่ายเงินน้อยมาเป็นซื้อของมือเติบมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายมีของขยะเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคืออะไร เงินเหลือไหม สุขภาพดีขึ้นไหม มันต้องกลับไปแก้ไข แก้ไขตัวเอง ดูตัวเอง แล้วคิดว่าควรจะทำแบบนี้ต่อไหม ถ้าไม่เกิดการเรียนรู้จากตัวเอง ก็ไม่มีอะไรแก้ไขได้ จะเป็นอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ”

 

บริโภคอย่างไม่รู้ตัว ?

แทนที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือย คุณจิตร์ ตัณฑเสถียร ที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดที่หันมาสนใจมิติด้านใน มองเรื่องของเหตุผลในการเลือกบริโภคมากกว่า “เจ้าตัวเท่านั้นที่จะต้องรู้ว่าตัวเองซื้อของอะไรสักอย่างเพื่ออะไร และใช้ไปทำไม การเดินทางไปต่างประเทศ เราสรุปไม่ได้ว่า เขาไปเที่ยว หรือจับจ่ายเพื่อความหลง บางทีเราไปวัดเราก็หลง เราไปห้างเรารู้ก็มี จึงเป็นเรื่องของการบริโภคอย่างไรมากกว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องการสิ่งหล่อเลี้ยงอะไรบางอย่าง ของที่เข้าไปในร่างกายควรสร้างความตื่นรู้ การสร้างความตื่นรู้เป็นกระบวนการบริโภค ไม่ใช่สิ่งที่เราบริโภคอย่างเดียว”

IMG_7643คำถามเกี่ยวกับการบริโภคนั้น ศ.ระพี สาคริก ผู้บ่มเพาะความรักในเพื่อนมนุษย์ผ่านธรรมชาติ แนะนำให้ถามตัวเองว่า “เราจะบริโภคเพื่ออยู่หรือเพื่อทำลาย ถ้าเรารู้ตัวเอง เราจะรู้ว่าการบริโภคมีสองแบบ บริโภคเพื่อทำลายคือการบริโภคสิ่งที่อยู่ข้างนอก ส่วนการบริโภคสิ่งที่อยู่ข้างในเปรียบเหมือนการเพาะเมล็ดต้นไม้ รากมันลงลึกทุกวัน ข้างบนก็ต้องโต”

“ความสุขคนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นความสุขทางวัตถุ เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนเพราะทุกอย่างหมุนวงเป็นวัฏจักร เป็นวิถีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงข้างในกับการเปลี่ยนแปลงข้างนอก การเปลี่ยนแปลงข้างในมันลงรากลึก ส่วนการเปลี่ยนแปลงข้างนอกมันเป็นของสมมุติทั้งนั้น ไม่ใช่ของจริงเลย”

 

หาความสุขจากข้างนอก ?

ความสุขที่มาจากความรัก ครอบครัว และการได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง และสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา แต่การจะเข้าถึงความสุขกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รศ.ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (หงศ์ลดารมภ์) มองว่า “ลึกๆ มีความรู้สึกว่าผู้คนเหงา เพราะจริงแล้วๆ พวกเราแสวงหาความสุขจากการที่จะได้อยู่กับผู้อื่นการได้รับความรัก ความอบอุ่น และมิตรภาพ แต่วิธีการไม่เหมือนกัน คนที่สามารถซื้อได้ เขาอาจจะออกไปซื้อของ หรือไปเที่ยวต่างประเทศ แต่การที่เขายังไม่สุข เพราะเขามองจากภายนอก ทั้งที่สิ่งที่เขาต้องการอยู่ภายใน วิธีการกับเป้าหมายจึงสวนทางกัน ความรักเป็นคุณสมบัติที่เกิดจากข้างใน และความรักไม่เกี่ยวกับเงิน ความรักมีวิธีการหลายอย่าง เช่น การพูดจา ห่วงใย การดูแลจิตใจ แต่เรากลับใช้สิ่งภายนอกมาแทน ซึ่งมันแทนไม่ได้ ถ้าเราออกห่างจากจิตวิญญาณภายใน แน่นอนความรักและความปรองดองก็น้อยลง อย่างเราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว ถ้าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแสวงหาวิธีหาความสุขด้วยตัวของตัวเอง นึกถึงแต่ความสุขของเรา ไม่นึกถึงผู้อื่น บางทีเราทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเราได้เป็นสุข แต่ไม่มีน้ำใจต่อกัน ก็เกิดวิกฤติในระดับครอบครัว ไม่ต้องพูดถึงในระดับสังคม”

 

ไม่เห็นความสุขที่แท้จริง ?

การที่คนเราบริโภคมากมาย แต่กลับไม่ได้อยู่กับความสุขจริงๆ รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปะกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ให้เหตุผลเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะไม่ได้รับการฝึกฝน “ความสุขระหว่างวันมีเยอะมาก แต่ความที่ไม่ได้ฝึก ทำให้ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ ขณะที่ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ เรารับรู้ได้ดี เพราะว่าร่างกายเรามีประสาทสัมผัสรับความเจ็บปวดต่างๆ ที่อยู่ตามผิวกาย แต่ประสาทสัมผัสรับความสบายที่อยู่ตามผิวกายไม่ค่อยมี เรารับรู้ทิวทัศน์สวยงาม บรรยากาศร่มรื่น และอากาศสดชื่น แต่เราอยู่กับมันน้อยมาก หมู่บ้านของบางคนมีต้นไม้เยอะแยะ แต่ไม่เคยออกไปเดินเลย เราเอาแต่เสียบหูฟังเพลง ดูมิวสิควิดีโอ อยู่กับสิ่งที่ต้องหามาจากข้างนอก ไม่เคยได้มีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่ต้องใฝ่หาที่มีอยู่รอบตัว”

ความสุขระหว่างวันมีเยอะมาก แต่ความที่ไม่ได้ฝึก ทำให้ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้

เช่นเดียวกับ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบความสุขอันลึกซึ้งด้านใน ให้ความสำคัญเรื่องความสุขที่มีความหมายต่อสังคมโดยรวมว่า “ความอยากมีชีวิตในเรื่องของความสุขมีหลายลักษณะ บางคนอาจบอกว่าอยากจะมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย บางคนอยากมีชีวิตที่มีกิจกรรมให้ทำ และมีประโยชน์เกื้อกูลต่ออะไรบางอย่าง ความสุขที่เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วไปทำลายสภาวะด้านอื่น เช่น คนที่ไปเสพยา ฤทธิ์ยาออก มันก็เป็นความสุขนะ แต่สุดท้ายสิ่งที่เป็นฤทธิ์ยามันจางหายไปรวดเร็ว และผลที่ตามมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ทั้งกับตัวเองและสังคม เราเสพรสชาติของชีวิตไม่ได้หมายความว่า ชีวิตทั่วๆ ไปเราจะทำอย่างไรก็ได้ ชีวิตที่เราเสพและมีความสุข คือชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเอง บุคคลรอบข้าง และต่อสังคมโดยส่วนรวม ยิ่งถ้าชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่เกื้อหนุนเกื้อกูลต่อโลกและจักรวาลได้ก็ยิ่งดี เราจึงมีความพิถีพิถันกับการจะให้คำนิยามของความสุขหลากหลายระดับ ความสุขระดับธรรมดา ระดับสูงส่งขึ้นไป สุดท้ายเป็นความสุขของบุคคลที่ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น”

 

ไอเดียความสุขทางเลือกใหม่

หากมีคำถามใดตอบว่าใช่ ซึ่งทำให้พบว่า การหาความสุข ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ก่อเกิดผลแห่งความสุขที่สมบูรณ์ แข็งแรง และยั่งยืน เรามีไอเดียการเข้าถึงความสุขแบบใหม่ให้เลือกลองปฏิบัติตามความถนัด ซึ่งนอกจากจะทำได้ง่าย และเกิดความสุขใจได้จริง ยังอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวตน รับรู้ถึงคุณค่าภายใน ใช้ชีวิตอย่างสมดุล และอยู่บนหนทางของการตระหนักรู้ความจริงแท้ภายในใจ ความสุขทางเลือกทั้ง 8 นี้ ได้แก่1.ความสุขจากการเรียนรู้, 2.ความสุขจากงานจิตอาสา, 3.ความสุขจากการทำงาน, 4.ความสุขจากการร่วมแรงร่วมใจเป็นชุมชน, 5.ความสุขจากการภาวนา, 6.ความสุขจากงานศิลปะ, 7.ความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ และ 8.ความสุขจากการเคลื่อนไหวกาย

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save